สกู๊ปพิเศษ

10 บรรยากาศการเล่นเกมในยุคตลับเกม

รวมพลบ้านคนมีเครื่อง - แย่งจอยหนึ่ง - กดสูตร - เป่าก้นตลับ - อ่านบทสรุป

ผมเชื่อว่าสำหรับคนที่เล่นวีดีโอเกมมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มก็คงจะเคยผ่านเครื่องเกม Famicom หรือ Super Famicom กันมาบ้างใช่ไหมครับ หรือเป็นยุคเกมที่เราเรียกกันติดปากว่า “เกมตลับ” เพราะรูปแบบของแผ่นเกมในสมัยนั้นจะถูกบรรจุอยู่ในตลับสี่เหลี่ยมใช้เสียบกับตัวเครื่องแล้วเปิดเล่น และในยุคเกมตลับนี้เองก็มีบรรยากาศการเล่นเกมของยุคนั้นที่แตกต่างจากการเล่นเกมสมัยปัจจุบันด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี สภาพสังคม กระแสความนิยมในยุคนั้น และอื่นๆ อีกมาก ก่อให้เกิดเป็นบรรยากาศการเล่นเกมในยุคนั้นขึ้นซึ่งมันมีเสน่ห์ในแบบของมัน ในบทความนี้ผม Makino Jou จะมานำเสนอบรรยากาศเหล่านั้นให้เพื่อนๆ ได้หวนคิดถึงกันสัก 10 อย่างก็แล้วกัน ไปดูกันครับว่าเพื่อนๆ เคยพบเจอประสบการณ์เหล่านี้ไหม

1. แย่งจอยหนึ่ง

image 96

สุดยอดแห่งความคลาสสิคของบรรยากาศการเล่นเกมในยุคนั้น เพราะเนื่องจากองค์ประกอบหลายๆอย่างมันทำให้คนเล่นจอยหนึ่งนั้นดูเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า เป็นผู้กำหนดอะไรหลายๆอย่างในเกม เช่น ตัวละครของจอยหนึ่งมันเท่กว่า ได้เลือกตัวละครก่อน หรือได้อยู่ในตำแหน่งที่ถนัด เป็นต้น ทำให้ผู้ที่เล่นจอยสองรู้สึกยอมไม่ได้ที่จะต้องตามเกมของจอยหนึ่งเสมอไป สุดท้ายก็ทะเลาะกันเพราะแย่งจอยจนได้ ซึ่งพอหันกลับไปมองตัวเองในอดีตก็จะรู้สึกว่ามันไร้สาระจริงๆ (555)

2. จุดรวมพลคือบ้านคนมีเครื่องเกม

image 97

ในสมัยนั้นเครื่องเกมจะมีราคาสูงมากและคนที่มีเครื่องเกมก็มีจำนวนน้อยอยู่ แต่คนที่ชอบเล่นเกมกลับเพิ่มมากขึ้น และการเล่นเกมก็กลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมอย่างหนึ่งของวัยรุ่นยุคนั้นไม่แพ้การเล่นกีฬาหรือเล่นดนตรีเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นใครที่มีเครื่องเกมในครอบครองก็จะโดนเพื่อนๆนัดรวมพลไปบุกบ้านคนๆนั้นอยู่เป็นประจำ และจำนวนเพื่อนที่มาเล่นนั้นมันไม่ได้น้อยๆเหมือนการชวนกันมาเล่นเกมแบบในปัจจุบันนะครับ เรียกได้ว่าต่อคิวกันเล่นกว่าจะครบคนนี่กินเวลานานโขเลย เพราะสมัยนั้นไม่มีสมาร์ทโฟนหรือกิจกรรมอื่นมากนัก คนที่มาเล่นเกมก็คือมาเล่นเกม ทุกคนจะให้ความสนใจและตั้งตารอที่จะเล่นมากๆ เพราะงั้นไม่แปลกเลยที่จะมีการเชียร์หรือการแช่งกันดังสนั่นลั่นบ้าน

3. ปุ่ม Start สยบเซียน

image 98

ใครที่เล่นเกม Console มาจะรู้ดีว่าความหมายของปุ่ม Start คือการกดเริ่มเกม แต่ถ้ากดเมื่อเริ่มเกมไปแล้วมันคือการ Pause นั่นเอง และมันคือหนึ่งในท่าไม้ตายก้นหีบที่ใช้จัดการกับเพื่อนที่กำลังแข่งกับคุณอยู่ คุณจะสามารถขัดจังหวะเพื่อนได้ทุกครั้งที่คุณต้องการ และเพื่อนของคุณก็ไม่สามารถรู้ด้วยว่าคุณจะกดเริ่มเกมต่อเมื่อไหร่ เป็นสุดยอดความโกงและเกรียนแห่งยุคที่ไม่ค่อยจะพบเห็นกันแล้วในยุคนี้ แต่คุณอย่าลืมนะว่าถ้าคุณใช้กับเพื่อนได้ เพื่อนก็ใช้กับคุณได้เหมือนกัน (555)

4. ดันฉากมหาประลัย

image 99

สุดยอดทริคการแกล้งเพื่อนขั้นสุดยอดอีกวิธีสำหรับเกมที่ทำงานร่วมกันเป็นทีมหรือช่วยกันผ่านด่านนั่นก็คือการดันฉากเพื่อให้เพื่อนตกฉากตายหรือตามไม่ทัน เพราะว่าศักยภาพของเครื่องยุคนั้นสามารถทำได้แค่ฉาก 2 มิติ จากซ้ายไปขวาหรือจากล่างขึ้นบนแล้วโฟกัสเป็นจุดๆไป ไม่สามารถกลับไปทางเดิมได้ด้วย เพราะงั้นถ้าเกิดใครพลาดหรือตามไม่ทันอาจจะต้องพลาดไอเท็มดีๆหรืออาจจะต้องเสียชีวิตเลยก็ได้ จึงเป็นเหตุผลที่เพื่อนๆชอบนำวิธีการนี้มาแกล้งกันเล่นๆแต่บางครั้งก็จริงจัง (ทะเลาะกันมากี่ครั้งแล้วกับวิธีนี้)

5. ขี้โม้ ขี้คุย มาเต็ม

image 101

ยุคเกมตลับเป็นยุคที่คำขี้โม้ขี้คุยของเพื่อนๆนั้นมีอิทธิพลมากๆ ไม่ว่าจะในมุมมองของการไม่อยากจะยอมแพ้ที่มันเล่นผ่านไปได้ไกลกว่าเรา หรือการคิดค้นท่าไม้ตาย คอมโบใหม่ๆสำหรับเกมต่อสู้ หรือแม้แต่การค้นพบไอเท็มลับในสถานที่ต่างๆในเกม ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าคนพูดมันพูดจริง ขี้โม้ โกหกหรือเป็นตัวเราเองที่กากแล้วเล่นไม่ได้อย่างมัน เพราะในยุคนั้นไม่สามารถหาข้อมูลออนไลน์ในอินเทอร์เน็ตได้ สิ่งที่เชื่อถือได้ก็จะมีแค่บทสรุปที่เป็นหนังสือหรือคำบอกเล่าของคนที่เล่นมาก่อนเท่านั้น แต่ไอ้คำพูดเนี่ยแหละที่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยน่าเชื่อถือ

6. แม่เรียกใช้งานตลอด

image 100

ไม่รู้ว่าเพื่อนๆรู้สึกเหมือนกันบ้างหรือเปล่าว่า ไม่รู้ทำไมคุณแม่ที่เคารพรักเนี่ยชอบที่จะใช้งานตอนกำลังเล่นเกมตลอด! ไม่ว่าจะเป็นล้างจาน กวาดบ้าน ออกไปซื้อของ บลาๆๆ ก็จะต้องเป็นตอนเล่นเกมทุกครั้ง หรือเพราะว่าไม่อยากให้เล่นก็ไม่รู้ ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ไร้การต่อต้าน ถึงจะบ่นแต่ก็ไปทำแบบไม่มีข้อแม้ (555) เพราะเกมสมัยนั้น Pause หยุดเกมได้แล้วค่อยกลับมาเล่นต่อ ก็เลยทำให้คุณแม่ที่รักนั้นเข้าใจว่าเกมสามารถ Pause ได้ทุกเกมและเรียกเราได้ทุกเมื่อ ซึ่งเกมออนไลน์ในปัจจุบันนั้นค่อนข้างยาก แต่คุณแม่ที่น่ารักก็ไม่เข้าใจสักทีว่าเกมออนไลน์มัน Pause ไม่ได้! (T-T)

7. ใส่รหัส กดสูตร หนังสือบทสรุป

image 105

ในยุคเกมตลับนั้นยังไม่มี Memory Card ที่ใช้เซฟเกมไว้เล่นต่อ รูปแบบของเซฟในยุคนั้นก็คือการบอกรหัสมาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงสัญลักษณ์หรือตัวเลข หากเราใส่รหัสถูกก็จะสามารถกลับไปเล่นต่อในจุดที่เราเคยเล่นทิ้งไว้ หรือบางเกมอาจจะมีการกดสูตรเพื่อปลดล็อคสิ่งพิเศษบางอย่าง เช่น สูตรเพิ่ม 30 ชีวิตของเกมคอนทร่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการออกหนังสือรวมรหัสลับและสูตรเกมต่างๆไว้มากมายอีกด้วย

8. Adapter ร้อนต้องพักเครื่องก่อน

image 102

เป็นที่รู้กันดีว่าเครื่องเกมจะต้องมี Adapter ไว้เสียบปลั๊กนำไฟฟ้าเข้าสู่เครื่อง แต่เครื่องเกมสมัยนั้นจะมี Adapter แยกออกมาเหมือนโน้ตบุ๊คนี่แหละ ซึ่งการทำงานก็ยังไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะเมื่อมันมีความร้อนมากเกินไปมันจะทำให้เครื่องเกมดับแล้วเล่นต่อไม่ได้! ก็เลยทำให้เกมเมอร์ยุคนั้นรู้กันดีว่า ถ้าเล่นเกมมาสักพักหนึ่งแล้วเอามือไปจับ Adapter ดูว่ามันร้อนมากแล้วก็ต้องพักหยุดเล่นอย่างช่วยไม่ได้ เพราะขืนเล่นต่อไปเดี๋ยวมันก็ดับอยู่ดี หรือไม่แน่อาจจะส่งผลให้เครื่องพังเลยก็ได้

9. ตั้งชื่อให้ตัวละครในเกม

image 103

ต้องยอมรับว่าในยุคนั้นภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่นของเด็กๆ ยังไม่ได้แข็งแรงมาก การที่เล่นเกมโดยหวังแค่ความสนุก ไม่สนเนื้อเรื่องหรือแม้กระทั่งชื่อของตัวละคร เราก็จะต้องตั้งชื่อให้มันเพื่อใช้คุยกับเพื่อนให้รู้เรื่อง บางครั้งก็ตั้งตามชื่อเกม เช่น ตั้งชื่อ Link ว่า Zelda หรือบางครั้งก็ตั้งตามจุดเด่นของตัวละคร เช่น ตัวละครเกมคอนทร่าจะชื่อว่าอาร์โนลกับแรมโบ้ ตามหนังที่ดังมากในยุคนั้น ซึ่งนอกเหนือจากนี้ก็ยังมีการตั้งชื่อที่ใช้เรียกกันเฉพาะกลุ่มอีกมากมายนับไม่ถ้วน ที่ถ้าเปลี่ยนกลุ่มเพื่อนนี่ก็แทบจะคุยกันไม่รู้เรื่องเหมือนกัน

10. เป่าก้นตลับ

image 104

สิ่งที่คลาสสิคที่สุดแห่งยุคเกมตลับคือการเป่าก้นตลับในเวลาที่เกมเปิดไม่ติด ซึ่งถ้าเป็นเกมที่เข้ายุคแผ่น CD ก็จะไม่มีบรรยากาศแบบนี้แล้ว และถ้าเกิดเป่าตลับแล้วยังไม่ติดก็ต้องหาวิธีอื่นๆมาเพิ่มอีก ไม่ว่าจะเป็นการเลียก้นตลับ แกะตลับออกมาเช็ดด้วยยางลบ ใช้สำลีเช็ดที่ฐานเสียบเกม หรือถ้าไม่ได้ก็ต้องลองตั้งเครื่องแบบตะแคงดูสักตั้ง และยังมีวิธีอื่นๆอีกมากมาย (555) ถือเป็นความคลาสสิคที่หาแทบไม่ได้แล้วกับเครื่องเกม Console ยุคปัจจุบัน


เป็นยังไงบ้างครับ บรรยากาศที่ได้นำเสนอไปทั้ง 10 อย่างตรงกับสิ่งที่เพื่อนๆ เคยประสบพบเจอมาบ้างหรือเปล่า ซึ่งมันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของการเล่นเกมในยุคนั้นจริงๆ และยังมีอีกหลายๆอย่างที่ไม่ได้นำมาบอกเล่าให้เพื่อนๆได้ฟัง แต่ผมเชื่อว่าเพื่อนๆจะสามารถจดจำสิ่งเหล่านี้ได้ไม่ลืมอย่างแน่นอน เพราะมันคือประสบการณ์ที่สุดยอดที่สุดอย่างนึงในชีวิตเลยล่ะจริงไหม

MakinoJou

คนธรรมดาผู้ชื่นชอบ Japanese Culture, Games, Anime และ Vtuber
Back to top button