สกู๊ปพิเศษเกม

ไล่เรียงวิวัฒนาการเกม Slam Dunk จากอดีตถึงปัจจุบัน

จากมังงะระดับตำนานยุค 90 สู่วิดีโอเกมหลากหลายแพลตฟอร์ม

หากพูดถึงมังงะกีฬาแนวบาสเก็ตบอลดัง ๆ ในยุค 90 ก็คงจะหนีไม่พ้น Slam Dunk เป็นแน่ เชื่อว่าแฟน ๆ รุ่นใหญ่หลายคนก็น่าจะเติบโตมากับมังงะเรื่องนี้เพราะมันดังถล่มทลายมากในยุคนั้น และนอกจากจะถูกสร้างเป็นอนิเมชั่นแล้ว ยังถูกเอาไปทำเป็นเกมต่าง ๆ มากมายให้เราได้เล่นกัน โดยเฉพาะช่วง 1994-1995 นั้นถือว่าเป็นยุคทองของเกมจากซีรีส์ Slam Dunk เลยก็ว่าได้ เราไปชมกันดีกว่าครับว่าเกม Slam Dunk มีภาคไหน ลงเครื่องอะไรบ้าง

1. Slam Dunk: Shikyou Gekitotsu!! (1994) : เครื่อง SNES, Megadrive

image 3112

ภาคนี้ถือว่าเป็นเกม Slam Dunk ภาคแรก ที่ลงในเรื่อง SNES และ Megadrive ซึ่งก็ถือว่าเป็นเครื่องระดับท็อปที่แสดงภาพกราฟิกได้ดีเยี่ยมแล้วในยุคนั้น โดย Slam Dunk: Shikyou Gekitotsu!! ภาคนี้จะเป็นเกมเพลย์แบบมุมมองข้างสนาม บังคับตัวละครได้แบบ Real Time เหมือนเกมกีฬาบาสเก็ตบอลทั่วไป ที่วิ่งไปชู้ตฝั่งซ้ายฝั่งขวาทำแต้มได้เยอะที่สุดตามเวลาที่กำหนด สลับกับการมีคัตซีนตัวละครต่าง ๆ พูดบิ๊วเมื่อเราชู้ตลงห่วงได้เหมือนอย่างในมังงะครับ ส่วนเรื่องซาวด์นั้นก็เป็นยุคแรก ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 16 Bit ก็ทำได้ดีกว่ายุค 8 Bit ระดับนึง แต่ก็ยังถือว่าแข็งกระด้างอยู่พอสมควรสำหรับเรื่องของดนตรีประกอบ แต่ถ้าเทียบกับการได้เล่นเกม Slam Dunk แล้วคนยุคนั้นมองข้ามได้แน่นอน

2. Slam Dunk: Gakeppucchi no Kesshou League (1994) : เครื่อง Game Boy

image 3111

เมื่อภาคแรกลงใน SNES และ Megadrive แล้วได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ก็ทำให้ตลาดเกม Handheld ได้เข้ามาหยิบจับ Slam Dunk ไปทำลงเครื่องพกพาบ้าง โดย Slam Dunk: Gakeppucchi no Kesshou League นั้นได้ทำลงเครื่อง Game Boy ซึ่งเป็นเครื่องเล่นพกพาในยุคนั้น แต่เทคโนโลยีก็เรียกได้ว่ายังต่ำมาก ไม่มีแม้กระทั่งภาพสี แถมเสียงยังเป็น 8 bit อีกด้วย แถมยังเป็นเกมกีฬาที่ใช้ระบบเกมเพลย์แบบเกมวางกลยุทธ์ ไม่ใช่เกม Action Real Time ที่วิ่งเลี้ยงลูกบาสไปชู้ต แต่จะเป็นการประเมินว่าจะส่งไปทางไหนดี จะยิง จะเลี้ยงหรือจะส่ง ทุกครั้งที่เลือกจะมีฉากคัตซีนแสดงให้เห็นกลางหน้าจอว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ทุกอย่างจะเป็นการออกคำสั่งมากกว่าการเล่นเองครับ ซึ่งก็เพราะว่าศักยภาพของเกม Handheld ในยุคนั้นทำได้เท่านี้

3. Slam Dunk Shouri Heno Starting 5 (1994) : เครื่อง SEGA

image 3109

หลังจากดูเครื่องอื่น ๆ ออกเกม Slam Dunk ของตัวเองไปพักหนึ่ง SEGA GAME GEAR ก็เอากับเขาด้วย โดยได้ออกเกมลงเครื่องของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า Slam Dunk Shouri Heno Starting 5 ซึ่งจะเป็นแนวกลยุทธ์เหมือนกับเกมภาค Game Boy ไม่ทำเป็นเกมกีฬา Real Time เหมือนของ SNES เมื่อตัวเปรียบเทียบเป็น Game Boy ที่มีภาพขาวดำและเสียงแค่ 8 Bit นั้น ทำให้ SEGA กลายเป็นเครื่องที่มีเกม Slam Dunk แนววางแผนที่ดีที่สุดไปโดยปริยาย เพียงแค่เอาออกไปเล่นข้างนอกไม่ได้เท่านั้นเอง เรียกได้ว่าสร้างมาฆ่าภาค Game Boy เลยก็ว่าได้ เพราะระบบส่วนใหญ่จะออกแบบมาให้คล้ายกัน เจออะไรก็หยุดเทิร์นให้คิด แล้วเลือกยิง ส่งหรือเลี้ยงลูก พอออกคำสั่งก็ดูคัตซีนว่าคำสั่งที่เราเลือกนั้นมันจะออกผลลัพธ์ยังไง

4. Slam Dunk: Dream Team – Shueisha Limited (1994) : เครื่อง SNES

image 3107

หลังจาก SEGA ลงสู่ตลาดเกม Slam Dunk แน่นอนว่าเจ้าใหญ่อย่าง SNES ก็ไม่คอยท่าที่จะแก้เกมค่ายคู่แข่ง โดยสิ่งที่ SNES ทำคือออกเกมภาคใหม่อย่าง Slam Dunk: Dream Team – Shueisha Limited โดยมีแนวเกมเป็นแนวกลยุทธ์เหมือนกับภาค Game Boy และ SEGA ที่ออกมาก่อนหน้านั้น ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีแนวกีฬา Action อยู่แล้ว และนอกจากจะทำแนวกลยุทธ์มาทับไลน์กับ SEGA แล้ว ยังทำรายละเอียดต่าง ๆ ภายในเกมที่ค่อนข้างดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นซาวด์ประกอบที่ดีขึ้น สีที่สดใสขึ้น UI ดูง่ายขึ้น แถมยังผสมผสานการควบคุมตัวละครในคัตซีนให้เดินไปตามจุดที่ต้องการได้ แถมตอนชู้ตยังเพิ่มอรรถรสโดยการเพิ่ม Quick Time Event เข้ามาช่วยให้สนุกขึ้นอีกด้วย กะมาฆ่ากันชัด ๆ

5. Slam Dunk 2: Zenkoku Heno Tipoff (1995) : เครื่อง Game Boy

image 3106

พอเข้าสู่ปี 1995 ทางฝั่ง Game Boy ก็ชิงบุกปีใหม่ก่อนเลยด้วยการออกเกม Slam Dunk ภาคใหม่ของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า Slam Dunk 2: Zenkoku Heno Tipoff ซึ่งยังคงคอนเซ็ปต์ของการเป็นเกมกลยุทธ์เหมือนเดิม แต่เนื่องจากภาคก่อนหน้านี้ของ SNES ที่มีการประยุกต์ใช้ Quick Time Event เข้ามาช่วยให้เกมกลยุทธ์มีความสนุกขึ้น ทาง Game Boy เองก็ไม่รอช้าที่จะนำข้อดีนั้นมาทำตามให้กลายเป็นจุดแข็งของตัวเอง เช่น เวลาเลี้ยงลูกแล้วมีคนมาขวาง เราจะต้องบังคับเลี้ยงหลบเอง หรือเวลาจะชู้ตบาสจะมีเกจคล้าย ๆ กับการตีปังย่าโผล่มาให้กด มันก็สามารถช่วยเพิ่มความสนุกได้ แถมยังมีการอัปเกรดกราฟิกให้ดูสวยขึ้นจากภาคก่อนอีกด้วย ถือว่าปรับตัวได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว

6. Slam Dunk 2: IH Yosen Kanzenban!! (1995) : เครื่อง SNES

image 3105

และแล้วเจ้าพ่อที่ครองเกม Slam Dunk ตัวท็อปอย่าง SNES ก็ไม่รอช้าหลังจากที่ Game Boy เปิดตัวนำไปก่อนในปี 1995 เพราะเขาได้นำเอาเกมภาคเก่าจากข้อ 4 มาพัฒนาต่อเป็น Slam Dunk 2: IH Yosen Kanzenban!! ลงเครื่องของตัวเอง โดยระบบเกมเพลย์จะเหมือนเดิมแทบทุกอย่าง แต่เพิ่มเติมคือประสบการณ์ที่ได้รับเริ่มใกล้เคียงกับการดูอนิเมะมากขึ้น เช่น สีสันที่สวยงามขึ้น ซาวด์ประกอบที่ดีขึ้น สามารถรัน FPS ได้สูงขึ้น แถมยังมีการเพิ่มเสียงพากย์ของตัวละครเข้าไปในเกมอีกด้วย เรียกได้ว่าเหมือนเรากำลังดูอนิเมะเรื่อง Slam Dunk อยู่เลย แต่เราสามารถควบคุมเกมได้ดั่งใจ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากในยุคนั้นครับ

7. Slam Dunk SD Heat Up!! (1995) : เครื่อง SNES

image 3104

เท่านั้นยังไม่พอ SNES บุกตลาด Slam Dunk มายิ่งขึ้นด้วยการดักทางเจ้าอื่นหมด เมื่อตัวเองมีเกม Slam Dunk แนวกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในยุคนั้นแล้ว ก็ทำเกมแนวกีฬา Action เข้ามาดักคนอื่นซ้ำ ด้วยการออกภาค Slam Dunk SD Heat Up!! ที่มีตัวละครแบบ SD แต่จะมีระบบเกมเพลย์แบบภาคแรกสุดที่เคยออกมา คือเป็นมุมมองข้างสนาม บังคับตัวละครวิ่ง ส่งลูก ชู้ตแบบ Real Time แต่ที่ตัวเกมยังขายได้แม้เกมเพลย์จะซ้ำภาคเดิมก็คือ Slam Dunk เป็นมังงะ Meme ที่เวลาตัวละครทำหน้าตลกจะย่อขนาดตัวละครลงเป็น SD Size นั่นเอง ทำให้การทำตัวละครมาเป็น SD จึงทำให้มีความ Casual มากยิ่งขึ้น เด็กก็ชอบ ผู้ใหญ่ก็เล่นได้ แถมระบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว ทำให้ SNES กินขาดทั้งแนววางแผนและแนวกีฬาครับ

8. Slam Dunk: I Love Basketball (1995) : เครื่อง SEGA Saturn

image 3103

หลังจากที่เงียบหายไปนานแล้วนั่งมอง 3 ค่ายใหญ่ตะลุมบอนแข่งขันกันอยู่เป็นปี ในที่สุด SEGA Saturn ที่เป็นเจ้าแรก ๆ ที่มีเกม Slam Dunk วางจำหน่าย ก็ได้กลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งพร้อมกับอะไรที่มันว้าวสายตาผู้เล่นอย่างมาก โดยภาคนี้ใช้ชื่อว่า Slam Dunk: I Love Basketball ซึ่งเป็นการแสดงขุมกำลังของเครื่อง SEGA Saturn ได้เป็นอย่างดี โดยเกมภาคนี้ยังคงเป็นเกมกีฬาแนว Action เหมือนเกมก่อนหน้า แต่ที่ฮือฮากว่านั้นคือการเปลี่ยนมุมมองจากมุมมองผู้ชมข้างสนาม ให้เป็นมุมมองแบบ Third-Person ในสนาม ซึ่งจะให้ความรู้สึกว่าเป็นมุมมองของนักกีฬาเอง ทำให้บรรยากาศของการเล่นเกม Slam Dunk ของผู้เล่นนั้นถูกเปลี่ยนประสบการณ์ไปอย่างสิ้นเชิง เหมือนกับว่าผู้เล่นคือนักบาสในนั้นจริง ๆ พร้อมกับเสียงพากย์ บรรยากาศ เสียงเชียร์ การปิดซาวด์ประกอบ ทุกประสบการณ์ที่ได้รับเหมือนเราเป็นนักบาสจริง ๆ ครับ

9. Slam Dunk: Super Slams (1995) : เครื่อง Arcade

image 3102

ในช่วงยุค 90 นั้นต้องเรียกได้ว่าเกม Arcade หรือเกมตู้หยอดเหรียญ ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทำรายได้ดีให้กับวงการณ์เกมเป็นอย่างมาก ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเป็นของตัวเอง แค่เดินห้างแล้วเจอตู้ก็ชวนเพื่อนเล่นด้วยกันได้ทันที และ Slam Dunk: Super Slams ก็ถูกทำเป็นเกมตู้ให้ผู้เล่นได้สัมผัสกัน โดยเกมเพลย์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเกมกีฬาแนว Action ที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย แข่งกันเล่นบาสทำแต้มให้ได้มากที่สุด แต่จุดที่สนุกของภาคนี้คือตัวละครแต่ละตัวจะเพิ่มทักษะความสามารถในการเล่นบาสให้มากขึ้น เช่น จากเดินเลี้ยงลูกธรรมดาอาจจะมีท่าหมุนตัว หรือตอนวิ่งมาชู้ตอาจจะออกท่าดังค์ให้บรรยากาศมันดูมันส์ขึ้น รุนแรงขึ้น และสะใจมากขึ้นนั่นเอง

10. SLAMDUNK MOBILE (2020) : มือถือ iOS / Android

image 3101

และตัวสุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไปไม่ได้เลย ก็คือ SLAMDUNK MOBILE ที่เป็นเกมมือถือให้เราเล่นกันนั่นเอง โดยเกมภาคนี้จะมีความเป็นสตรีทบาสอยู่พอสมควร คือแบ่งทีมเล่นแบบ 3vs3 คล้าย ๆ กับเกม Freestyle โดยจะเป็นเกม Multiplayer หาห้องแล้วมาแข่งกัน เกมเพลย์จะแบ่งออกเป็นฝ่ายรุกและฝ่ายรับ เมื่อเราบุกจะมี Action เป็นการพุ่ง ส่งหรือชู้ตบาส แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายตั้งรับก็จะเป็นบล็อก สตีลหรือประกบ มีการแบ่งคลาสตามตำแหน่งการเล่นกีฬาบาสเก็ตบอล เช่น Center, Power Forward, Small Forward, Shooting Guard และ Point Guard และสามารถเลือกตัวละครในเรื่องมาเล่นได้หลากหลายด้วย

ดาวน์โหลด

image 3100
image 3099

เป็นยังไงบ้างครับกับ รวมเกมวิวัฒนาการของเกม Slam Dunk จากอดีตถึงปัจจุบัน ในช่วงตึง ๆ ของเขาจะอยู่ในปี 1994-1995 เป็นช่วงที่มังงะบูมที่สุดแล้ว แต่พอเวลาผ่านไปก็จะมีอนิเมะกีฬาบาสเก็ตบอลโผล่ออกมาเต็มไปหมด และพลังมันก็จะเริ่มหวือหวาขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มห่างไกลความเป็นมนุษย์มากขึ้น (555) เพราะงั้นเลยมีคนที่ชอบ Slam Dunk มากกว่าเพราะมันคลาสสิคกว่านั่นเองครับ

ที่มา
youtu.beytimg.comytimg.com2youtu.be2youtu.be3youtu.be4youtu.be5youtu.be6youtu.be7youtu.be8

MakinoJou

คนธรรมดาผู้ชื่นชอบ Japanese Culture, Games, Anime และ Vtuber
Back to top button