สกู๊ปพิเศษ

15 อันดับการ์ดยอดแย่ตลอดกาลในซีรีส์เกม Yu-Gi-Oh!

การ์ดที่ไม่ค่อยมีคนใช้กัน เพราะเงื่อนไขในการใช้แปลกๆ และใช้ยาก

สำหรับเหล่าดูเอลลิสต์ที่เคยได้เล่นเกม Yu-Gi-Oh! มาหลาย ๆ ภาคแล้วนั้น คงจะเคยได้ใช้งานการ์ดและผ่านตามาเป็นพัน ๆ ใบกันเลยใช่มั้ยครับ? เราต้องใช้เวลาในการจัดสรรการ์ดแต่ละใบเพื่อให้เด็คที่ใช้งานมีความสมบูรณ์ในการเล่นมากที่สุด เป็นหนทางแห่งชัยชนะที่ดูเอลลิสต์ใฝ่หา ดังนั้นการ์ดที่มีความสามารถดีๆ จึงเป็นการ์ดยอดนิยมที่ผู้เล่นมักจะหามาใช้งานในเกมกันบ่อยๆ แล้วทีนี้ลองกลับด้านมาดูกันอีกด้านหนึ่ง คือ การ์ดที่ไม่ค่อยนิยมใช้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการ์ดยอดแย่ที่ความสามารถนั้นใช้ยากหรือไม่ดีต่อการดูเอลจริงๆ คราวนี้ผมจะมานำเสนอการ์ดเหล่านี้ให้ได้ชมกันครับ

image 189

15. Red-Eyes Black Metal Dragon (レッドアイズ・ブラックメタルドラゴン), Metalzoa (メタル・デビルゾア) และ Wall Shadow (ウォール・シャドウ)

image 1697

ขอเริ่มต้นที่การ์ดใบนี้ก่อนครับ “เรดอายส์แบล็คเมทัลดราก้อน” หนึ่งในร่างของการ์ดมังกรสุดเท่และความนิยมสูงไม่แพ้ “บลูอายส์ไวท์ดราก้อน” เป็นมอนสเตอร์ที่เคยปรากฏตัวในการ์ตูนยูกิโอ! ตอน โจวโนะอุจิ ปะทะ แบนดิต คีธ ถ้าเห็นภาพการ์ดแล้วก็รู้สึกว่ามันเท่จริงๆ จนรู้สึกอยากเอาเข้ามาในเด็คเล่นจริงๆ แต่ทว่าการใช้งานไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด เพราะว่าการ์ดใบนี้ต้องใช้ “เรดอายส์แบล็คดราก้อน” ที่สวมใส่การ์ดกับดักชุดเกราะสะท้อนเวทมนตร์ Metalmorph (メタル化・魔法反射装甲) ในการบูชายัญเพื่อเรียกออกมา ฟังดูก็เหมือนไม่ยาก แต่ถ้าหากโชคร้ายการ์ดใบนี้อยู่ในมือเราก่อนขณะที่เงื่อนไขจะครบก็จะไม่สามารถใช้ได้ครับ เพราะการ์ดใบนี้สามารถเรียกออกมาได้แต่จากในเด็คเท่านั้น ยิ่งในภาค Duel Links ที่เริ่มต้นการ์ดได้ตั้งแต่ 20 ใบ โอกาสยิ่งโผล่มาบนมือได้ง่ายๆด้วย แถมพลังโจมตีขึ้นมาเพียงแค่ 400 เท่านั้น สู้เอาเรดอายแบล็คดราก้อนที่สวมใส่ชุดเกราะสะท้อนเวทมนต์สู้ต่อดีกว่านะ

สำหรับ “เมทัลเดวิลโซอา” นั้น ความสามารถเหมือนกับเรดอายส์แบล็คเมทัลดราก้อน ครับ เพียงแต่มอนสเตอร์ที่ต้องใช้การ์ดกับดักชุดเกราะสะท้อนเวทมนตร์สวมใส่จะต้องเป็น “เดวิลโซอา” (デビルゾア) ซึ่งใช้วิธีการอันเชิญแบบเดียวกันเป๊ะๆ นั่นหมายความว่าหาก เมทัลเดวิลโซอาขึ้นมือมาเมื่อไหร่ แล้วไม่มีมอนสเตอร์ตัวนี้เหลืออยู่ในเด็ค ก็หมดสิทธิ์อันเชิญออกมาเมื่อนั้นครับ

ส่วนการ์ด “วอลชาโดว์” นั้น ความสามารถและวิธีการเรียกใช้งานคล้ายๆกับการ์ดสองใบข้างต้นครับ โดยต้องใช้การ์ดเวทมนตร์ Magical Labyrinth (迷宮変化) สวมใส่ให้มอนสเตอร์ “กำแพงเขาวงกต” และบูชายัญเพื่อเรียกออกมา ถึงแม้ว่าจะมีพลังโจมตีเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,600 และพลังป้องกัน 3,000 เท่าเดิม แต่ถ้าการ์ดใบนี้มาอยู่บนมือก็จะไม่สามารถอันเชิญออกมาได้เหมือนกัน แถมการ์ดเวทมนตร์ Magical Labyrinth นั้นยังเป็นการ์ดเฉพาะทางที่ใช้งานได้กับ “กำแพงเขาวงกต” ตัวเดียวเท่านั้น เงื่อนไขในการเรียกใช้งานของการ์ด “วอลชาโดว์” จึงดูยุ่งยากกว่าการใช้งานมอนสเตอร์สองตัวแรกซะอีก

image 190

14. การ์ดชุดของ Perfectly Ultimate Great Moth (究極完全態・グレート・モス)

image 1694

การ์ดชุดซีรีส์มอนสเตอร์แมลงเกรทมอธ

– Larvae Moth (ラーバモス)
– Great Moth (グレート・モス)
– Perfectly Ultimate Great Moth (究極完全態・グレート・モス)

ทั้ง 3 ใบนี้ ไม่สามารถเรียกลงมาได้ตามปกติในการเล่นดูเอลมอนสเตอร์ เพราะว่าความสามารถของการ์ดเหล่านี้ คือ ผู้เล่นนั้นต้องใช้ Petit Moth (プチモス) สวมใส่การ์ดมอนสเตอร์ Cocoon of Evolution (進化の繭) เพื่อวิวัฒนาการและอันเชิญมอนสเตอร์เหล่านี้ออกมาแบบพิเศษ ฟังดูน่าสนุกก็จริง แต่มันก็ไม่ง่ายดายเลยครับ เนื่องจากถ้าเราใช้ Petit Moth สวมใส่ Cocoon of Evolution แล้ว ค่าพลังของ Petit Moth จะกลายเป็น ATK 0 / DEF 2,000 แล้วไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นป้องกันได้ในเทิร์นนั้น หากไม่มีการกับดักป้องกัน หรือใช้เวทมนตร์ให้สลับไปเป็นป้องกัน ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องว่างให้คู่ต่อสู้โจมตีตรงๆเลย หรือจะให้ Petit Moth มาลงสนามแล้วค่อยตั้งป้องกันก่อนสวมใส่ Cocoon of Evolution ทีหลัง คู่ต่อสู้ก็คงไม่ปล่อยมอนสเตอร์พลังน้อยๆ ไว้บนสนามของฝ่ายเราได้ง่ายๆหรอก อีกทั้งยังต้องใช้เวลา (เทิร์น) ในการพัฒนาร่างอีก จึงค่อนข้างเสียเวลาในการที่จะเรียกออกมาใช้งาน กว่าจะถึงเกรทมอธร่างสุดยอดก็ต้องใช้เวลาถึง 6 เทิร์น อาจโดนคู่ต่อสู้พลิกเกมก่อนจะถึงเวลานั้นก็ได้ การ์ดแมลงเซ็ตนี้คนจึงไม่ค่อยนิยมใช้กันเพราะความยากในการเรียกใช้งานครับ นอกซะจากว่าจะเล่น Yu-Gi-Oh! ภาค Shin Duel Monsters บน PS1 เท่านั้นแหละ ที่สามารถเรียกเกรทมอธร่างสุดยอดลงมาได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้วิธียุ่งยากแบบนี้เลยล่ะนะ

image 188

13. Dark Artist (ダーク・アーティスト)

image 1695

มอนสเตอร์ปิศาจพลังโจมตีไม่สูงแต่พลังป้องกันสูงพอตัวในระดับหนึ่ง (สำหรับสมัยแรกๆ ที่เพิ่งออกวางจำหน่ายนะ) การ์ดที่มีเอฟเฟคต์เป็นข้อเสียอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะเวลามอนสเตอร์ตัวนี้ถูกโจมตีด้วยมอนสเตอร์ธาตุแสง พลังป้องกันของมอนสเตอร์ตัวนี้จะลดลงเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียว (DEF 700) สรุปแล้วก็เป็นเอฟเฟคที่สูญเปล่าและทำประโยชน์อะไรในการต่อสู้ไม่ได้เลยล่ะครับ

image 187

12. Darkness Approaches (闇の訪れ)

image 1693

มาถึงคราวของการ์ดเวทมตร์กันบ้างครับ การ์ด Darkness Approaches หรือ “การมาถึงของความมืด” เป็นการ์ดเวทมนตร์ที่ต้องทิ้งการ์ดบนมือของเรา 2 ใบ จึงจะสามารถทำงานได้ ผลคือสามารถเลือกมอนสเตอร์ที่หงายหน้า 1 ใบ บนสนามให้กลับไปคว่ำป้องกันได้ ซึ่งเป็นความสามารถที่ไม่คุ้มค่ากับการที่ต้องทิ้งการ์ดถึงสองใบสักเท่าไหร่เลย อาจใช้ได้เฉพาะในยามคับขัน เช่น ทำให้มอนสเตอร์ที่มีพลังโจมตีสูงกว่าเราเปลี่ยนไปตั้งรับแล้วค่อยโจมตี หรือทำให้มอนสเตอร์ที่มีความสามารถเมื่อพลิกการ์ดของเรากลับไปคว่ำหน้าอีกครั้งเพื่อรอใช้งาน

image 188

11. Lucky Punch (ラッキーパンチ)

image 1703

การ์ดกับดัก Lucky Punch การ์ดที่ไม่ค่อยจะสมกับความเป็นกับดักสักเท่าไหร่เลย ความสามารถของการ์ดใบนี้ คือ เมื่อคู่ต่อสู้ทำการโจมตีใส่เรา เราจะสามารถใช้งานได้เทิร์นละ 1 ครั้ง โดยจะทำการเสี่ยงดวงโยนหัวก้อยทั้งหมด 3 เหรียญ ถ้าได้หัวทั้งหมด 3 เหรียญ เราจะได้จั่วการ์ด 3 ใบ แต่ถ้าหากได้ก้อย 3 เหรียญ เราจะเสียไลฟ์พอยท์ทั้งหมด 6,000 พอยท์!! นี่แหละครับคือความยอดแย่ของการ์ดใบนี้ ดันเป็นกับดักใส่เราซะเอง ส่วนถ้าโยนเหรียญได้ไม่ตรงกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น สรุปแล้วจะเกิดผลดีหรือเสียขึ้นอยู่กับดวงล้วนๆ ยิ่งถ้าเล่นการ์ดใบนี้ในภาค Duel Links ที่เริ่มต้นด้วยไลฟ์พอยท์เพียง 4,000 แล้วดวงซวยขึ้นมาก็จบเกมกันในทันทีเลยครับ

image 189

10. Needle Ball (ニードル・ボール)

image 1696

การ์ดมอนสเตอร์ที่มีความสามารถเมื่อหงายการ์ดขึ้นมาตัวนี้มีความสามารถ คือ เราสามารถเลือกจ่ายไลฟ์พอยท์จำนวน 2,000 พอยท์ของเรา เพื่อทำความเสียหายให้แก่ฝ่ายตรงข้ามได้ 1,000 พอยท์! เรียกได้ว่าความคุ้มค่าในการใช้น้อยมากๆ ถ้าหากอยากใช้คงต้องเป็นสถานการณ์ที่จะใช้จบเกม หรือมีไลฟ์พอยท์เหลือเฟือเป็นว่าเล่นเลยล่ะครับ ดังนั้นแล้วการ์ดใบนี้จึงไม่คุ้มค่าแก่การเล่นและจัดเป็นการ์ดยอดแย่ที่ผู้เล่นไม่ค่อยนิยมใช้งานกันครับ (ยังดีที่ความสามารถไม่บังคับใช้)

image 191

9. The Immortal of Thunder (雷仙人)

image 1700

การ์ดที่ถ้าหงายขึ้นมาคุณจะได้รับไลฟ์พอยท์ 3,000 พอยท์ทันที!! ว้าว! ดีจังเลย แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นอย่างเดียวจริง คงไม่ได้จัดมาอยู่ในอันดับการ์ดยอดแย่แน่นอนครับ เพราะถ้าการ์ดใบนี้ลงสุสานเมื่อไหร่เราจะต้องสูญเสียไลฟ์พอยท์ถึง 5,000 พอยท์!! เรียกได้ว่าถ้าโดนโจมตีตายลงสุสานในทันทีก็จะเสียไลฟ์พอยท์ฟรีๆไป 2,000 พอยท์เลยครับ การจะใช้การ์ดใบนี้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงต้องมีคอมโบที่ไม่พาการ์ดใบนี้ไปลงสุสานครับ เช่น ให้กลับขึ้นมือ หรือกลับเข้าเด็ค แน่นอนว่าต้องหาการ์ดใช้คู่คอมโบซึ่งมันไม่ได้ง่ายๆ เลย เพราะคู่ต่อสู้ของคุณคงไม่ปล่อยให้มอนสเตอร์พลังโจมตีน้อยกว่า 1,300 โจมตีเข้ามาสุ่มสี่สุ่มห้าหรอก ดังนั้นโอกาสที่การ์ดใบนี้จะไปลงสุสานจึงมีเปอร์เซนต์สูงเป็นทุนเดิมเลยครับ

image 194

8. The Inexperienced Spy (未熟な密偵)

image 1705

การ์ดใบนี้ขออธิบายสั้นๆ เลยครับ ใช้สำหรับเลือกการ์ดบนมือฝ่ายตรงข้าม 1 ใบเพื่อดูว่าเป็นการ์ดอะไร ถึงแม้จะรู้การ์ดบนมือ 1 ใบแล้ว ก็ไม่สามารถรับมือได้จากการเล่นทั้งหมดแน่นอน ดังนั้นแล้วหาการ์ดใบอื่นมาใช้งานแทนการ์ดใบนี้ดีกว่าครับ

image 190

7. Pot of Generosity (謙虚な壺)

image 1692

การ์ดที่จะนำการ์ด 2 ใบ บนมือของเรากลับเข้าเด็คแล้วสับใหม่ ถ้าพูดถึงประโยชน์แล้วคงเป็นตอนจวนตัวที่การ์ดในเด็คใกล้หมด เพื่อใช้เป็นการต่อเวลาในการจั่วการ์ดแหละครับ ดังนั้นแล้วจึงมีประโยชน์ไม่มากในการเอามาเล่นเลย

image 192

6. The Humble Sentry (謙虚な番兵)

image 1693

แสดงการ์ดบนมือของเราให้ฝ่ายตรงข้ามดู จากนั้นเลือกการ์ด 1 ใบส่งกลับเข้าเด็คแล้วสับใหม่.. ผมเองก็สงสัยเหมือนว่าการ์ดใบนี้มีไว้เล่นเพื่ออะไรเนี่ย? (ฮา)

image 193

5. Card Shuffle (ショット・ガン・シャッフル)

image 1702

การ์ดใบนี้เป็นเวทมนตร์ต่อเนื่องที่อาจเรียกได้ว่าหาประโยชน์ในการใช้งานแทบไม่เจอเลยครับ โดยที่ความสามารถของการ์ด คือ จ่ายไลฟ์พอยท์ของเรา 300 เพื่อสับเด็คของเราหรือคู่ต่อสู้ใหม่หนึ่งครั้ง ถึงจะสับการ์ดในเด็คไปก็ไม่อาจแก้สถานการ์ณในการดูเอลได้เสมอไป เพราะเราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าการ์ดใบไหนจะขึ้นมือมาในช่วงเวลานั้นอยู่ดี

image 196

4. Boar Soldier (ボアソルジャー)

image 1698

การ์ด Boar Soldier หรือ “ทหารหมูป่า” เป็นมอนสเตอร์ที่ความสามารถติดลบมากๆใบหนึ่งเลยครับ เนื่องจากหากเราเรียกมอนสเตอร์ตัวนี้ออกมาแบบธรรมดา (ตั้งโจมตี) การ์ดใบนี้จะถูกทำลายทันทีด้วยความสามารถของมันเอง ดังนั้นแล้วจึงต้องหมอบการ์ดไว้ก่อน จากนั้นค่อยตั้งโจมตีในเทิร์นถัดไปจึงจะไม่ถูกทำลาย แต่ทว่า!! หากมีมอนสเตอร์อยู่ในสนามของฝ่ายตรงข้ามแม้เพียงหนึ่งตัว การ์ดใบนี้พลังโจมตีจะลดลงถึง 1,000 เลยครับ เป็นความสามารถที่ติดลบซ้อนกันสองขั้นเลย เห็นแบบนี้แล้วเสียดายพลังโจมตีตั้งต้น 2,000 จริงๆ ถ้าคิดจะใช้การ์ดใบนี้ให้เต็มประสิทธิภาพก็ต้องทำให้บนสนามของอีกฝ่ายโล่งโจ้งไม่มีมอนสเตอร์ หรือใช้การ์ดที่ยกเลิกความสามารถของการ์ดใบนี้เท่านั้นครับ ยุ่งยากสุดๆไปเลยใช่มั้ย?

image 195

3. Cold Feet (大寒気)

image 1699

การ์ดเวทมนตร์ที่จะผนึกความสามารถของการ์ดเวทมนตร์หรือการ์ดกับดักบนสนามของฝ่ายเรา 1 เทิร์น ทำให้ไม่สามารถหมอบการ์ดเวทมนตร์หรือกับดักเพิ่มได้อีก เปิดใช้งานการ์ดอื่นๆที่วางไว้บนสนามแล้วก็ไม่ได้ สรุปแล้วว่าเป็นการ์ดที่แทบจะเหมือนไม่สามารถทำประโยชน์อะไรในเกมให้ได้เลย ถึงแม้การ์ดใบนี้จะสามารถทำคอมโบกับการ์ดบางใบได้อยู่ แต่นั่นก็มีน้อยมากๆ เช่น กรณีใช้เพื่อหยุดความสามารถที่เป็นผลเสียที่เกิดจากเวทมนตร์หรือกับดักบนสนามของฝ่ายเรา เรียกได้ว่าเป็นการ์ดที่ผู้เล่นแทบจะ 99.99% ไม่คิดจะนำเอามาใส่ในเด็คเล่นอย่างแน่นอน

image 197

2. Appointer of the Red Lotus (紅蓮の指名者)

image 1704

เป็นการ์ดที่ความสามารถในการใช้งานไม่คุ้มค่าสุดๆ ใบหนึ่งเลยครับ เพราะเงื่อนไข คือ ต้องจ่ายไลฟ์พอยท์ 2,000 แล้วแสดงการ์ดในมือของเราให้ฝ่ายตรงข้ามดู และจะได้ดูการ์ดบนมือฝ่ายตรงข้าม จากนั้นเลือกการ์ด 1 ใบของฝ่ายตรงข้ามแล้วนำออกจากเกมไปจนจบเอนด์เฟสหน้าของคู่ต่อสู้ ถ้าหากโชคดีมีพวกการ์ดที่ใช้ความสามารถจากบนมือเราก็นำออกจากเกมไปได้ ซึ่งมีประโยชน์แก่การเล่นอยู่ แต่ความโชคดีมันก็คงไม่คุ้มกับไลฟ์พอยท์ที่เสียไปอยู่ดี แถมการ์ดที่ใช้งานส่วนใหญ่ของคู่ต่อสู้ก็คงลงไว้บนสนามหมดแล้ว การ์ดใบนี้จึงไม่ดีต่อการใช้งานอย่างมากครับ

image 199

1. Swordman from a Distant Land (異国の剣士) และ Zone Eater (ゾーン・イーター)

image 1701

อันดับหนึ่งของการ์ดยอดแย่ที่ผมจะยกให้ คือ การ์ดสองใบนี้ครับ “นักดาบจากแดนไกล” กับ “โซนอีทเตอร์” เนื่องจากการ์ด 2 ใบนี้มีความสามารถเหมือนกัน ผมจึงยกมาทั้งคู่ครับ ซึ่งการ์ดสองใบนี้มีความสามารถพิเศษ คือ เมื่อทำการโจมตีมอนสเตอร์ฝ่ายตรงข้ามแล้ว หลังคำนวณความเสียหายเสร็จหากมอนสเตอร์เป้าหมายไม่ถูกทำลาย จะถูกทำลายในอีก 5 เทิร์นข้างหน้า! โอ้วโหว! เรียกได้ว่าความสามารถช้ามากๆ แถมไม่คุ้มเนื่องจากพลังโจมตีของมอนสเตอร์น้อยมาก อีกทั้งต้องใช้มอนสเตอร์ของเราเป็นฝ่ายโจมตีเท่านั้นจึงจะทำให้เกิดผลของความสามารถนี้ได้ นอกจากจะเอาทั้งตัวมอนสเตอร์และไลฟ์พอยท์ไปแลกแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ในการต่อคอมโบอื่นๆอีกเลย

image 198

เป็นยังไงกันบ้างครับกับเหล่าการ์ดยอดแย่ตลอดกาลของเกมซีรีส์ยูกิโอ ตรงใจคุณผู้อ่านกันบ้างมั้ยครับ? ยังมีการ์ดอีกหลายใบเลยทีเดียวนะ ที่เป็นการ์ดใช้งานยากและคนไม่ค่อยนิยมใช้กัน (ซึ่งถ้าให้บอกหมดก็คงไม่ไหว) แต่อันที่จริงแล้วการ์ดพวกนี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาให้ใช้งานได้จริงนะครับ ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยซะทีเดียว (แต่ข้อเสียในการใช้งานมากไปหน่อย) การจะใช้งานการ์ดเหล่านี้ได้จำเป็นต้องมีการ์ดช่วยเสริมเฉพาะทางเพื่อจะสามารถทำคอมโบให้เกิดผลได้จริง ถึงจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูเอลได้ครับ แน่นอนว่าไม่มีการ์ดใบไหนไร้ค่าสำหรับดูเอลลิสต์ตัวจริงอย่างแน่นอนครับ

สำหรับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความสามารถของการ์ดที่ผมใช้ในการนำเสนอนี้ อ้างอิงมาจาก Yu-Gi-Oh! ภาค Duel Links กับ กฎของการ์ดเกมดูเอลมอนสเตอร์ครับ ดังนั้นแล้วหากคุณผู้อ่านได้เล่นเกมยูกิโอในภาคต่างๆ ก็อาจจะเจอวิธีเล่นกับความสามารถที่ไม่เหมือนกัน เช่น Yu-Gi-Oh! บน PS1 ที่ไม่มีการ์ดมอนสเตอร์เอฟเฟคต์ แถมฟิวชั่นได้โดยไม่ต้องใช้เวทมนตร์อีกด้วย ความสนุกในการเล่นของยูกิโอในแต่ละภาคจึงแตกต่างกันไปด้วยครับ แต่หากผู้เล่นได้เล่นเกมในภาคที่ยึดกฎการใช้งานการ์ดตามปกติแล้วคงจะต้องส่ายหัวให้กับการ์ดเหล่านี้สักใบสองใบแน่ๆ แถมบางใบก็ดันมีใส่อยู่แทบในทุกภาค (ฮา) หวังว่าบทความที่ผมนำเสนอจะทำให้เหล่าดูเอลลิสต์ได้รับความรู้เรื่องการ์ดเพิ่มเติมและสนุกสนานไปกับมันด้วยนะครับ

Back to top button