สกู๊ปพิเศษ

ไกด์ระบบพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องประดับใน Diablo IV

การตีบวก / การย่อย / Socket และ Gem / การซ่อมของ

สวัสดีเพื่อน ๆ ชาว Diablo IV ที่กำลังเข้ามาอ่านไกด์นี้ทุกท่านครับ เกมนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเกมที่มีระบบการพัฒนาไอเทมที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ ถ้าใครเคยเล่นภาคเก่า ๆ มาบ้างก็น่าจะเข้าใจดีว่าภาพรวมมันเป็นยังไง แต่สำหรับภาคนี้ก็ยังคงเอกลักษณ์เดิมเอาไว้ได้ โดยเพิ่มอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้ามาให้ดูน่าสนใจขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเราไปชมกันดีกว่าครับ

ระดับความหายากของไอเทม

image 2534

ก่อนอื่นเลย พื้นฐานของการพัฒนาไอเทมเพื่อน ๆ ต้องเข้าใจก่อนว่าเกมนี้มีไอเทมอยู่ทั้งหมดกี่ระดับ โดยจะแบ่งออกเป็นตามระดับความหายากของไอเทมนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อสีของชื่อไอเทมด้วยเพื่อความง่ายในการคัดเลือก โดยจะมีดังนี้ครับ

ไอเทมที่มีชื่อ สีขาว อยู่ในระดับ Common พบเห็นได้ง่ายสุด

ไอเทมที่มีชื่อ สีน้ำเงิน อยู่ในระดับ Magic พบเห็นได้ยากกว่า Common แต่ก็ยังได้เรื่อย ๆ

ไอเทมที่มีชื่อ สีเหลือง อยู่ในระดับ Rare พบเห็นได้ยาก ดรอปจากมอนสเตอร์ Elite หรือ Event

ไอเทมที่มีชื่อ สีส้ม อยู่ในระดับ Legendary พบเห็นได้ยากมาก ดรอปจากบอสเป็นหลัก

นอกจากนี้ยังมีไอเทมอีกระดับหนึ่งที่เรียกว่า Unique Item ที่จะเป็นไอเทมสีส้มเหมือน Legendary แต่จะมีความหายากกว่ามาก และมาพร้อมกับความสามารถที่ Unique แบบไม่สามารถสกัดเอาเองได้ ซึ่งมันหายากระดับ Legendary ในบรรดาไอเทม Legendary อีกทีนึงครับ โดยถ้าให้เรียกลำดับความหายากและคุณภาพของไอเทมจากต่ำไปสูงก็จะเรียงได้ดังนี้ Common > Magic > Rare > Legendary > Unique

การตีบวกอุปกรณ์สวมใส่

image 2533

การตีบวกอุปกรณ์สวมใส่ที่ไม่ใช่เครื่องประดับนั้น เราสามารถทำได้กับ NPC Blacksmith ที่อยู่ตามเมืองใหญ่หรือตาม Waypoint ต่าง ๆ ซึ่งจะปรากฎเป็นสัญลักษณ์รูปทั่งตีเหล็กบนแผนที่ โดยการตีบวกอุปกรณ์สวมใส่นั้นจะสามารถตีบวกได้มากน้อยขึ้นอยู่กับความแรร์ของไอเทมด้วย ดังนี้

Common Item จะตีบวกได้ 1 ระดับ

Magic Item จะตีบวกได้ 2 ระดับ

Rare Item จะตีบวกได้ 3 ระดับ

Legendary Item จะตีบวกได้ 4 ระดับ

โดยการตีบวกแต่ละครั้งจะต้องใช้ Gold จำนวนหนึ่งและไอเทมวัตถุดิบในการตีบวก ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามระดับที่สูงขึ้นด้วย แถมเสื้อผ้ากับอาวุธยังใช้วัตถุดิบต่างกันอีกด้วย โดยจะแบ่งออกดังนี้ครับ

image 2532

การตีบวกเสื้อผ้าขั้นที่ 1 : Rawhide
การตีบวกเสื้อผ้าขั้นที่ 2 : Rawhide + Superior Leather 
การตีบวกเสื้อผ้าขั้นที่ 3 : Rawhide + Superior Leather + Veiled Crystals 
การตีบวกเสื้อผ้าขั้นที่ 4 : Rawhide + Superior Leather + Veiled Crystals + Coiling Wards

image 2531

การตีบวกอาวุธขั้นที่ 1 : Iron Chunks
การตีบวกอาวุธขั้นที่ 2 : Iron Chunks + Silver Ore
การตีบวกอาวุธขั้นที่ 3 : Iron Chunks + Silver Ore + Veiled Crystals
การตีบวกอาวุธขั้นที่ 4 : Iron Chunks + Silver Ore + Veiled Crystals + Baleful Fragments

การตีบวกเครื่องประดับ

image 2530

ส่วนการตีบวกเครื่องประดับอย่างสร้อยหรือแหวนนั้นก็คล้าย ๆ กับการตีบวกอุปกรณ์อื่น ๆ เลยครับ เพียงแค่ว่าเราจะต้องไปตีบวกกับ NPC Jeweler ที่มีสัญลักษณ์รูปเพชรบนแผนที่ในเมือง ซึ่งการตีบวกก็จะต้องใช้ทั้งเงินและวัตถุดิบเหมือนกันแต่ต่างกันที่ไอเทมอัปเกรดระดับสูงสุดจะใช้ไอเทมเฉพาะครับ

การตีบวกเครื่องประดับขั้นที่ 1 : Iron Chunks

การตีบวกเครื่องประดับขั้นที่ 2 : Iron Chunks + Silver Ore

การตีบวกเครื่องประดับขั้นที่ 3 : Iron Chunks + Silver Ore + Veiled Crystals

การตีบวกเครื่องประดับขั้นที่ 4 : Iron Chunks + Silver Ore + Veiled Crystals + Abstruse Sigils

ระบบ Gem และ Socket

image 2529

ระบบนี้เป็นระบบที่เก่าแก่และอยู่คู่กันมานานแล้วสำหรับเกม Diablo ซึ่งเป็นการใส่อัญมณีให้กับไอเทมที่มีรู หรือ Socket โดยจะทำให้ไอเทมต่าง ๆ ได้รับสเตตัสพิเศษจากอัญมณีเข้ามาช่วยในการต่อสู้ด้วย โดยอัญมณีทั้งหมดในเกมนี้ได้แก่

Amethyst : Gem สีม่วง มีความสามารถตามอุปกรณ์ที่สวมใส่ดังนี้
ใส่กับอาวุธ – เพิ่มพลังโจมตีให้กับ Damage Over Time
ใส่กับเสื้อผ้า – ลดการได้รับดาเมจจาก Damage Over Time
ใส่กับเครื่องประดับ – ต้านทานธาตุ Shadow

Emerald : Gem สีเขียว มีความสามารถตามอุปกรณ์ที่สวมใส่ดังนี้
ใส่กับอาวุธ – เพิ่มดาเมจคริติคอลต่อศัตรูที่ติดสถานะ Vulnerable
ใส่กับเสื้อผ้า – เพิ่มค่า Thorns (ดาเมจจากการสะท้อน)
ใส่กับเครื่องประดับ – ต้านทานธาตุ Poison

Ruby : Gem สีแดง มีความสามารถตามอุปกรณ์ที่สวมใส่ดังนี้
ใส่กับอาวุธ – เพิ่มพลังโจมตีให้กับ Overpower (ตัวเลขดาเมจที่เป็นสีฟ้า)
ใส่กับเสื้อผ้า – เพิ่ม Max HP
ใส่กับเครื่องประดับ – ต้านทานธาตุ Fire

Topaz : Gem สีเหลือง มีความสามารถตามอุปกรณ์ที่สวมใส่ดังนี้
ใส่กับอาวุธ – เพิ่มพลังโจมตีให้กับ Basic Skill (การโจมตีธรรมดา)
ใส่กับเสื้อผ้า – ลดดาเมจที่ได้รับเมื่อถูกสกิล CC (ไม่สามารถควบคุมตัวละครได้)
ใส่กับเครื่องประดับ – ต้านทานธาตุ Lightning

Sapphire : Gem สีน้ำเงิน มีความสามารถตามอุปกรณ์ที่สวมใส่ดังนี้
ใส่กับอาวุธ – เพิ่มดาเมจคริติคอลต่อศัตรูที่ติด CC
ใส่กับเสื้อผ้า – ลดดาเมจที่ได้รับเมื่อเราอยู่ในสถานะ Fortified 
ใส่กับเครื่องประดับ – ต้านทานธาตุ Cold

Diamond : Gem สีขาว มีความสามารถตามอุปกรณ์ที่สวมใส่ดังนี้
ใส่กับอาวุธ – เพิ่มความแรงของ Ultimate Skill
ใส่กับเสื้อผ้า – สร้าง Barrier ได้มากขึ้น
ใส่กับเครื่องประดับ – ต้านทานธาตุทุกธาตุ (แต่จะให้ % น้อยกว่าต้านเฉพาะทาง)

Skull : Gem ประเภทหัวกระโหลก มีความสามารถตามอุปกรณ์ที่สวมใส่ดังนี้
ใส่กับอาวุธ – ได้รับเลือดเมื่อกำจัดศัตรู
ใส่กับเสื้อผ้า – ได้รับผลของฮีลมากยิ่งขึ้น
ใส่กับเครื่องประดับ – ได้รับเกราะเพิ่มขึ้น

ค่าความทนทานและการซ่อมของ

image 2528

อุปกรณ์สวมใส่ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หมวก รองเท้า ถุงมือ อาวุธหลัก อาวุธรอง จะมีค่าความทนทานอยู่ โดยจะใช้คำว่า Durability ยกเว้นเครื่องประดับ  ซึ่งค่าความทนทานในเกมนี้จะไม่ลดจากการต่อสู้หรือการใช้งาน แต่ค่า Durability จะลดลงทีละ 10 แต้ม ทุกครั้งที่คุณตาย พูดง่าย ๆ เลยคือก่อนที่ของจะพังคุณจะสามารถตายได้ 10 ครั้งนั่นเอง เมื่อของพังไอเทมที่สวมใส่จะไม่หายไปซะทีเดียว แต่จะไม่ได้รับค่าสเตตัสหรือโบนัสอะไรจากไอเทมชิ้นนั้น ซึ่งสามารถนำไปซ่อมได้ที่ NPC Blacksmith ในเมนู Repair ซึ่งก็จะใช้ Gold ในการซ่อม สิ่งที่ควรรู้คือคุณสามารถกดซ่อมทีละชิ้นได้ หรือจะซ่อมของสวมใส่ทั้งหมดด้วยปุ่ม Equipped ได้ แต่ถ้ากดซ่อม All Items นั่นจะหมายถึงไอเทมทุกชิ้นในกระเป๋า เพราะงั้นดูดี ๆ ก่อนกดนะครับ ไม่งั้นจะเสียเงินฟรี

การย่อยไอเทม (Salvage)

image 2527

การย่อยหรือการ Salvage ไอเทมนั้นมีประโยชน์อย่างมากในการหาวัตถุดิบมาทำการคราฟท์และตีบวกอุปกรณ์ในเกมนี้ โดยสามารถทำการย่อยไอเทมได้กับ NPC Blacksmith มีหลักการง่าย ๆ คือถ้าคุณอยากได้วัตถุดิบที่มีความแรร์ระดับไหนก็หาของสวมใส่ที่มีระดับสีเดียวกันมาย่อย ถ้าย่อยอุปกรณ์ป้องกันก็จะได้ของเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกัน ถ้าย่อยโจมตีก็ได้ของโจมตี ย่อยเครื่องประดับก็ได้ของใช้เครื่องประดับ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ซึ่งวัตถุดิบในการพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ควรเริ่มย่อยไว้ตั้งแต่ช่วงแรก เพราะเมื่อถึงเวลาต้องใช้จะหายากมาก นอกจากนี้ไอเทมที่มีสัญลักษณ์รูป Pickaxe อยู่บนไอเทมในหน้า Salvage หมายความว่าถ้าย่อยแล้วเราจะได้รูปลักษณ์ของไอเทมชิ้นนั้นไปสับเปลี่ยนแฟชั่นในตู้เสื้อผ้าได้ตลอดครับ

การจัดการไอเทมที่เต็มกระเป๋า

image 2526

เมื่อเราฟาร์มเลเวลหรือเดินเควสต์มาสักระยะหนึ่ง เราจะได้ฟาร์มไอเทมจนเต็มกระเป๋าอย่างแน่นอน และเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเราควรทำอย่างไรดี คำตอบก็คือแยกกันระหว่างการขายเพื่อเอา Gold มาไว้ใช้ กับการย่อยเพื่อเตรียมวัตถุดิบสำหรับใช้ในตอน End Game โดยของที่ควรขายก็คือของระดับ Common กับ Magic ส่วนไอเทมระดับ Rare และ Legendary ให้ย่อยทิ้งจะคุ้มกว่า เพราะจะได้วัตถุดิบหายากในการใช้อัปเกรดอุปกรณ์ต่าง ๆ ยกเว้นว่าของ Legendary บางชิ้นที่เราอยากเก็บไว้ให้เพื่อน หรือรับรองในการเล่นอาชีพใหม่ในอนาคตก็แล้วแต่ความต้องการของผู้เล่นครับ

ควรเริ่มอัปเกรดไอเทมตอนไหน

image 2525

หลายคนอาจจะสงสัยว่า การฟาร์มไอเทมและเก็บเลเวลนั้นมักจะมีการขายของ หรือสับเปลี่ยนไอเทมที่ใส่อยู่แทบจะตลอดเวลา เก็บเลเวลไปสักพักก็ได้ของใหม่และต้องเปลี่ยนของอีกแล้ว แล้วตอนไหนคือช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการอัปเกรดไอเทมล่ะ ? ส่วนตัวแนะนำช่วงเลเวลประมา 50 กำลังพอดีครับ เพราะเป็นช่วงที่เราน่าจะปลดล็อกแผนที่ได้ระดับนึงแล้ว แถมยังมีการปลดระบบ Paragon มาให้เห็นภาพในการบิ๊วชัดเจนขึ้น ส่วนถ้าใครอยากตีบวกก็แนะนำให้ตีบวกสักไม่เกิน +2 ก็น่าจะกำลังดี เพราะทรัพยากรหาง่ายและกินเงินไม่เยอะ ถ้าสูงกว่านั้นจะไม่คุ้มกับการตีบวกหรือต้องเปลี่ยนไอเทมแล้วครับ นอกจากนี้ถ้าคุณดรอปไอเทมที่ตรงสายจริง ๆ จะชิงอัปเกรดไปก่อนเลเวล 50 ก็ได้เช่นกันครับ

และนี่ก็คือไกด์ระบบพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องประดับใน Diablo IV หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เล่นทุกท่านนะครับ 

Jou Thunder

เร็ว แรง ติดคริ คือคติของผม โปรดติดตามช่อง youtube.com/@JouThunder
Back to top button