[รีวิว] God of War Ragnarok – บทสรุปมหาสงครามของทวยเทพ
เข้าสู่สงคราม Ragnarok พร้อมภาษาไทยที่จะทำให้ความมันส์เพิ่มเป็นทวีคูณ
God of War Ragnarok เป็นเกม RPG ที่จะดำเนินเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลายปีให้หลังจากเหตุการณ์ภาคแรก โดยในภาคนี้เราจะได้เจอกับความเข้มข้นของเนื้อหาที่จะเป็นบทสรุปของ God of War ยุคนี้ รวมไปถึงเราจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครที่แตกต่างไปจากเดิมที่บอกได้เลยว่าแฟน ๆ ซีรีส์นี้ไม่ควรพลาด
และในวันนี้ผู้เขียนได้เข้าร่วมสงครามของทวยเทพใน God of War Ragnarok เรียบร้อยแล้วและก็ไม่พลาดที่จะนำรีวิวมาให้ผู้อ่านได้ติดตามกันครับ
อนึ่ง… การรีวิวนี้เกิดขึ้นบน PS5 ระหว่างวันที่ 24-31 ตุลาคม 2565 หากผู้อ่านกลับมาอ่านในภายภาคหน้า ข้อสังเกตบางข้ออาจมีการแก้ไขเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้
เข้าสู่สงคราม Ragnarok พร้อมภาษาไทยที่จะทำให้ความมันส์เพิ่มเป็นทวีคูณ
จะมีอะไรดีไปกว่าการเล่นเกม RPG เนื้อเรื่องเข้มข้นโดยเราสามารถเข้าใจเนื้อหาของเกมแบบ 100% โดยที่เราไม่ต้องแปลให้ปวดหัว ซึ่งเกม God of War Ragnarok เป็นอีกหนึ่งเกมระดับ AAA ที่ได้มีการแปลเนื้อหาเป็นภาษาไทยมาให้เราได้เล่นกันแบบไร้กำแพงทางภาษา โดยการเปรียบเทียบระหว่างภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่ได้ถูกปล่อยออกมา ผู้เขียนขอยก 2 นิ้วโป้ง ให้ทีมงานแปลภาษาไทยกับเกมนี้เลยว่า “แปลออกมาได้ดี และสะใจมาก ๆ” เพราะถ้าจะให้พูดจากใจจริงแล้ว… เกมนี้ไม่ได้เป็นเกมที่แปลภาษาไทยได้ง่ายเลยแม้แต่น้อย
เนื่องจากเกมนี้มีการอ้างอิงตำนานพระเจ้าในแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไป ทำให้การสะกดคำรวมไปถึงการอ้างอิงตำนานต่าง ๆ ที่จะมีให้เราได้อ่านกันภายในเกมต้องค่อนข้างละเอียดเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากแปลผิดไปเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ความหมายโดยรวมที่ต้องการจะสื่อนั้นผิดเพี้ยนไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งจุดนี้ทีมงานแปลก็ทำออกมาได้ดีแทบไม่มีที่ติเลยทีเดียว
นอกจากนี้ในบทสนทนาต่างๆที่เราจะได้เห็น Kratos , Atreus , Mimir และตัวละครอื่น ๆ อีกมากมายพูดคุยกันตลอดการเล่นเกมนี้ ก็มีทั้งบทสนทนาที่มีการเล่นมุกตลกสุดฮาให้เราได้นั่งขำกัน , บทสนทนาทั่วไปที่น่าติดตาม , บทสนทนาที่จริงจังจนต้องลุ้นตาม รวมไปถึง บทสนทนาที่แสดงอารมณ์ออกมาผ่านตัวละคร ก็สามารถปล่อยออกมาได้ถูกต้อง สะใจ และถ้าหากผู้อ่านคนใดประทับใจกับการแจกเกมที่ใช้ภาษาในระดับกันเอง (มีคำหยาบผสมอยู่บ้าง) เกมนี้ก็มีให้เราได้เห็นกันอยู่ไม่น้อย แต่ไม่ได้หยาบจนเกินงามครับ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเล็กน้อย นั่นก็คือการตัดคำภาษาไทยภายในเกมนี้ ที่นาน ๆ ครั้งเราจะเห็นการตัดคำที่ไม่ถูกหลักภาษาไทยไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่จนทำให้เกมนี้ด้อยคุณค่าลงไปแต่อย่างใดครับ
กราฟิกสวยงามสะใจ แต่โหมดความลื่นไหลก็ยังดีกว่า
คงไม่ต้องบรรยายให้มากความเพราะ Santa Monica Studio ได้พิสูจน์ฝีมือตนเองจากเกม God of War ภาคแรกมาแล้วว่าคุณภาพกราฟิกของเกมทำออกมาได้ดีน่าเหลือเชื่อขนาดไหน ซึ่งแน่นอนว่าในเกมภาคต่ออย่าง God of War Ragnarok ก็ไม่พลาดที่จะทำให้ผู้เล่นประทับใจในความอลังการของคุณภาพกราฟิกของเกมเช่นเคย ดูสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามานั่นก็คือการเลือกระบบการแสดงผล ที่ผู้เล่นจะเลือกได้ว่าจะให้แสดงผลเน้นไปที่ความละเอียดของกราฟิก หรือจะเลือกแสดงผลไปที่ความลื่นไหลของ FPS ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้ทดลองใช้ 2 โหมดนี้ก็พบว่าคุณภาพกราฟิกไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก ทำให้การเลือกเล่นในโหมดความลื่นไหลของ FPS นั้นจะดีกว่าในมุมมองของผู้เขียน
และสิ่งที่ยังทำให้เกมนี้โดดเด่นกว่าเกมอื่น ๆ อีกหลายเกมก็คือ การใช้มุมกล้องแบบ Long Take ที่เราจะไม่ได้เห็นการตัดฉากเลยแม้แต่ครั้งเดียว (ยกเว้นหากเราตายจากการต่อสู้) ซึ่งการวางแผนการเปลี่ยนฉากของเกมนี้ก็ทำออกมาได้น่าประทับใจมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รูปแบบของการแทรกตัวไปในซอกหินเพื่อเพิ่มความเนียนในการเปลี่ยนฉาก หรือแม้กระทั่งการเชื่อมระหว่างฉากของความเป็นจริงและฉากในนิมิตที่ทำออกมาได้เนียนตาจนน่าประทับใจสุด ๆ
เข้าโรมรันกับศัตรูในเกมเพลย์ Action สะใจ เลือดสาดที่คุ้นตา พร้อมระบบที่คุ้นมือ
ผู้อ่านคนไหนที่ประทับใจกับเกมต่อสู้เลือดสาดตามสไตล์ซีรีส์เทพสงคราม บอกได้เลยว่า God of War Ragnarok ไม่ทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอน เพราะพื้นฐานเกมเพลย์หลัก ๆ แล้วยังเป็นเกม Action ที่ผู้เล่นจะได้ควบคุม Kratos เข้าต่อสู้ผ่านการใช้อาวุธต่าง ๆ โดยมีทั้งการโจมตีเบา , การโจมตีหนัก , การใช้สกิล (รูน) ต่าง ๆ รวมไปถึงท่วงท่าการต่อสู้มากมายที่ได้จากการอัปเกรดตัวละคร ผสมผสานออกมาเป็นสุดยอดคอมโบที่ผู้เล่นสร้างสรรค์เองได้ และแน่นอนว่าเกมนี้ไม่ใช่เกมเดินหน้าฆ่ามันเอาสะใจแต่เพียงเท่านั้น เพราะเกมนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นต้องศึกษาจังหวะการโจมตีของศัตรูให้ดี เพื่อทำการหลบหลีก หรือปัดป้องการโจมตีเพื่อช่วงชิงจังหวะการโจมตีให้เราได้เปรียบในการต่อสู้
และเช่นเดิมที่เกมนี้ผู้เล่นจะได้มีโอกาสควบคุมตัวละคร Atreus ในการช่วยเราต่อสู้ แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมตัวละครนี้ได้แบบ 100% แต่อย่างน้อยการที่เราสามารถควบคุมตัวละครนี้เพื่อช่วยเหลือเราในการขัดจังหวะการโจมตีของศัตรู หรือสนับสนุนการใช้คอมโบของ Kratos ด้วยการยิงธนู เพียงเท่านี้ก็ทำให้ผู้เล่นสนุกไปกับการต่อสู้ภายในเกมนี้ได้พอสมควรแล้วเช่นกัน
และอย่างที่ได้บอกไปว่าเกมนี้ยังคงเป็นเกม Action เลือดสาดให้เราได้เห็นกัน ฉะนั้นตลอดการต่อสู้เราจะได้มีโอกาสใช้ Brutal Kills และ Finisher Moves กับศัตรูที่มึนงงด้วยการกดปุ่ม R3 ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นฉากสังหารศัตรูที่บอกได้เลยว่าสะใจแน่นอนเพราะเราจะได้เห็นทั้งเลือดสาด อวัยวะฉีกขาด แบบเต็ม ๆ ตาสมกับการที่เราได้ติดตามการต่อสู้ของเทพสงครามอย่างแน่นอน
และแน่นอนว่าเมื่อเป็นเกมภาคต่อ ระบบเกมที่คุ้นเคยก็ถูกนำกลับมาให้เราได้ใช้งานกันเช่นเดิมไม่ว่าจะเป็นระบบการอัปเกรดสกิลตัวละครเพื่อเพิ่มความสามารถในการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการโจมตีที่จะทำให้เราสร้างคอมโบได้หลากหลายและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น , ระบบการคราฟอุปกรณ์ให้กับตัวละครรวมไปถึงระบบการอัปเกรดอุปกรณ์ที่จะทำให้ผู้เล่นพร้อมลุยกับศัตรูที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น และอื่น ๆ อีกมากมายที่แฟนเกม God of War ไม่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ให้เสียเวลา ในขณะที่ผู้เล่นที่ไม่เคยเล่นภาคแรกมาก่อน ก็สามารถเรียนรู้ได้ในเวลาไม่นานเช่นกัน
เนื้อเรื่องที่พัฒนาขึ้น เผยให้เห็นการเติบโตของตัวละคร และสเกลของการผจญภัย
แม้ว่าในส่วนของเกมเพลย์มากกว่า 90% ยังคงมันส์สะใจไม่ต่างจากภาคแรก แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ การดำเนินเรื่องราวของภาคนี้ที่เข้มข้นขึ้นและเผยให้เราได้เห็นพัฒนาการของตัวละครรวมไปถึงความใหญ่ของเนื้อหาภายในเกมที่ไม่ใช่แค่เรื่องราวของคน 2 คนกับเทพไม่กี่องค์อีกต่อไป และแน่นอนว่าเราจะได้เห็นฉากที่น่าประทับใจเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามหากผู้อ่านคนใดที่ไม่เคยเล่นเกมภาคแรกในปี 2018 มาก่อนก็สามารถดูเรื่องราวในอดีต (Recap) ได้ในหน้าจอไตเติ้ล แต่ผู้เขียนยอมรับว่า Recap นั้นสรุปออกมาแต่เนื้อหาแก่นหลักจริง ๆ ทำให้รายละเอียดหลาย ๆ อย่างหายไป เช่นการผจญภัยในดินแดนอื่น ๆ หรือตัวละครที่เราได้พบเจอระหว่างทาง ทำให้ผู้เล่นใหม่อาจจะงงได้ว่า “มันพูดถึงใครเนี่ย!” เพราะในเกมภาคนี้จะมีการพูดถึงตัวละคร หรือเหตุการณ์จากปี 2018 อยู่บ้างครับ
การใช้องค์ประกอบของจอย DualSense ที่เสริมให้การทำสงครามระหว่างทวยเทพมันส์ขึ้น
แน่นอนว่าเมื่อเกมวางจำหน่ายให้เราได้เล่นกันบน PS5 เราจะไม่พูดถึงระบบสำคัญที่ใช้ร่วมกับระบบของจอย DualSense เลยก็คงไม่ได้ เพราะเกม God of War Ragnarok ได้มีการใช้ระบบของจอยดังกล่าวที่สมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบ Haptic Feedback ที่จะสั่นตามจังหวะหลาย ๆ จังหวะ , การที่ทำให้เสียงบางอย่างออกมาจากจอยในหลาย ๆ ครั้ง เช่นเสียงโซ่ของลากเลื่อน รวมไปถึง Adaptive Trigger ที่จะมีมาให้เราได้ใช้งานกันบ้าง
สรุปรีวิว
God of War Ragnarok ยังคงเป็นเกมที่ทำออกมาได้สมศักดิ์ศรีกับคำว่า “God of War” แบบไม่มีข้อกังขาเลยทีเดียวด้วยระบบของเกมที่ยังมาแบบจัดหนักจัดเต็มเช่นเคย แถมยังมีพัฒนาการในเรื่องของเนื้อหาให้เข้มข้นยิ่งกว่าเดิมจนน่าประทับใจเป็นอย่างมาก
ส่วนตัวผู้เขียนขออนุญาตให้คะแนนเกมนี้ที่ 9.5 เต็ม 10 ครับ ผู้เขียนขอย้ำว่า รีวิวนี้ รวมถึงคะแนนนี้เป็นมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น แฟนเกมคนอื่น ๆ อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันก็ได้ครับ
จุดเด่น
- เกมเพลย์ Action เลือดสาดสุดมันส์สมกับคำว่า God of War
- เนื้อหาของเกมที่น่าติดตามมากยิ่งขึ้น
- การแปลภาษาไทยที่ทำออกมาได้น่าประทับใจ
- มีการใช้องค์ประกอบของจอย DualSense บ้าง
ข้อสังเกต
- การตัดคำภาษาไทย (ไม่ใช่ประเด็นใหญ่เลยแม้แต่น้อย)
- หากไม่ได้เล่นภาคแรกมาก่อนอาจจะงงได้ แม้ว่าจะมี Recap ให้ได้ชมก็ตาม เพราะระหว่างเล่นจะมีการอ้างอิงเนื้อหาภาคแรก (ปี 2018) อยู่บ้าง
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณSony Interactive Entertainment อีกครั้งสำหรับโอกาสดีๆ ในการรีวิวเกมในวันนี้ ส่วนคราวหน้าเราจะมีอะไรมาแบ่งปันอีกนั้นก็ขอเชิญติดตามที่นี่เช่นเคยที่ ThisIsGame Thailand ครับผม
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อเกมได้ที่ : [คลิก]