ประวัติศาสตร์เกมสกู๊ปพิเศษ

Final Fantasy ปฐมบทตำนานเกม JRPG สุดคลาสสิกตลอดกาล

เปิดเผยเบื้องหลังของเกม Final Fantasy ภาคต้นฉบับอย่างหมดเปลือก

ย้อนกลับไป เมื่อยุค 80…
ในสมัยที่เครื่องเกม Famicom คือเครื่องเกมสุดฮิตของ Nintendo
ในสมัยที่ภาพของเกม 8 บิท เป็นกราฟิกที่งดงามที่สุดสำหรับเด็กๆ ในตอนนั้น
ในสมัยยุคเริ่มแรกแห่งเกมคลาสสิกในความทรงจำทั้งหลาย


สำหรับเนื้อหาในรูปแบบเสียงและภาพ

ในยุคนั้น ค่ายเกมชื่อว่า Square Soft ได้เริ่มต้นรังสรรค์เกมผจญภัยแฟนตาซีโลกเปิดขึ้นมาเกมหนึ่ง โดยที่ไม่เคยคิดเลยว่ามันจะกลายเป็นเกมสุดฮิตแห่งยุคที่ยังคงความคลาสสิก และความสนุกปนเศร้าเคล้าน้ำตามากว่า 30 ปี อีกทั้งยังทำให้เรานึกย้อนไปถึงเสียงหัวเราะเมื่อครั้งยังเด็กได้เสมอทุกครั้งที่มองเห็นหรือกลับมาเล่นอีกครั้ง

เกมๆ นั้นก็คือ Final Fantasy ภาคแรกสุดหนึ่งในเกมที่เป็นสุดยอดแห่งเกม RPG ในความทรงจำเกมหนึ่งของเด็กยุค 80 หลายคน ที่กลายมาเป็นต้นกำเนิดแห่งตำนานเกมซีรี่ส์ Final Fantasy และยังถือว่าเป็นเกมหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้บริษัท Square Soft (หรือ Square Enix ปัจจุบัน) เป็นอย่างมาก ความสำเร็จในครั้งนั้นส่งผลให้กำเนิดภาคต่อมาจนถึง 15 ภาค ยังไม่รวมภาคแยกอีกมากมายที่ช่วยเปิดโลกแห่งจินตนาการและความแฟนตาซีที่ไร้ขอบเขตให้ขยายกว้างออกไปได้สุดที่ความคิดของใครคนหนึ่งจะสามารถคิดได้

image 2189

Final Fantasy กำเนิดขึ้นจากแนวคิดของ Hironobu Sakaguchi นักออกแบบเกม หัวเรือแห่งค่าย Square Soft ในขณะนั้น โดยร่วมมือกับผู้แต่งเพลงอิสระ ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้แต่งเพลงให้แก่ซีรี่ส์ Final Fantasy เยอะที่สุด นั่นคือ Nobuo Uematsu พร้อมด้วยนักวาดลายเส้นเฉพาะตัวอย่าง Yoshitaka Amano หรือผู้ที่รังสรรค์โลโก้และภาพตัวละครที่งดงามและมีเอกลักษณ์ที่เราคุ้นตากัน โดย Hironobu Sakaguchi ได้รับแรงบันดาลใจจากเกมผจญภัยของบริษัท Enix อย่างเกม Dragon Quest เกม RPG ที่โด่งดังไม่แพ้กันนั่นเอง

อย่างไรก็ตามในตอนแรกเกมนี้เกือบจะได้ชื่อว่า Fighting Fantasy อีกด้วย เนื่องจาก Hironobu Sakaguchi อยากได้ชื่อเกมที่มีตัวอักษร FF เพื่อที่จะได้ออกเสียงได้ดูดีในภาษาญี่ปุ่น โดยคำว่า Fantasy ถือเป็นตัวเลือกที่ง่ายที่สุด และคำว่า Final เองก็ไม่ใช่ตัวเลือกแรก หากแต่เป็นคำว่า Fighting แต่จะด้วยโชคดีหรือโชคร้าย ชื่อ Fighting Fantasy ได้ถูกใช้ไปก่อนในนวนิยายเกมกระดานของ Steve Jackson และ Ian Livingstone เหตุฉะนี้จึงมาลงตัวที่ชื่อ Final Fantasy ที่คุ้นหูเรามาจนถึงทุกวันนี้

image 2190

‘เอาจริงๆ นะ อะไรก็ตามที่ขึ้นต้นด้วย F มันดีสำหรับการตั้งชื่อหมดนั่นแหละ’ Hironobu Sakaguchi ผู้ให้กำเนิดเกม Final Fantasy กล่าว

เกม Final Fantasy เป็นเกมแนว Open World Turn-based RPG หรือก็คือ เกมที่ผู้เล่นสามารถเดินสำรวจได้ทุกที่ในแผนที่ที่เกมมีให้ มีระบบต่อสู้แบบผลัดกันออกคำสั่งระหว่างเราและศัตรู โดยจะมีอาชีพให้เลือก 6 อาชีพ แต่ภายในทีมผู้เล่นจะสามารถเลือกได้แค่ 4 อาชีพ ใน 6 เท่านั้น นั่นคือ นักรบ (Warrior), นักมวยหรือพระ (Monk), โจร (Thief), จอมเวทย์ขาว (White Mage), จอมเวทย์ดำ (Black Mage) และ จอมเวทย์แดง (Red Mage) ซึ่งตัวเกมจะใช้ระบบการอัพค่าพลังโดยใช้ระบบ Level กับระบบอาวุธ ชุดเกราะ 

image 2191

แผนที่โลกในเกมที่ต้องบอกว่ากว้างใหญ่พอสมควร

ในภาคแรกนี้ เนื้อเรื่องจะไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนหรือผูกปมอะไรมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับคริสตัล (และคริสตัลนี้จะเป็นคีย์หลักให้แก่ภาคต่อๆ ไปอีกด้วย) โดยคริสตัลทั้ง 4 นั้น คอยช่วยตรึงสมดุลแห่งโลกเอาไว้ จนกระทั่งมหาเจ้าปีศาจทั้ง 4 คือ ลิช (Lich) โครงกระดูกอมตะได้ปรากฏตัว ณ วิหารใต้ดิน ที่กักเก็บคริสตัลแห่งดิน ทำให้ผืนดินแห้งผาก ปลูกสิ่งใดก็ไม่ยั่งยืน, มาลิลิธ (Marilith) หญิงสาวผู้มีหกแขนและท่อนล่างเป็นงู ปรากฏตัว ณ ใจกลางภูเขาไฟที่กักเก็บคริสตัลแห่งไฟ ส่งผลให้เพลิงพายุโหมกระหน่ำ, คราเคน (Kraken) ปลาหมึกยักษ์ ปรากฏ ณ วิหารใต้บาดาล ที่เก็บรักษาคริสตัลแห่งน้ำ ก่อเกิดเหตุการณ์น้ำเหือดหายไป และ เทียแมต (Tiamat) มังกรหกหัว ปรากฏตัว ณ ปราสาทลอยฟ้าแห่งชนเผ่าที่สูญสิ้น ที่กักเก็บคริสตัลแห่งลม กำเนิดเป็นลมหมุนอันไร้ซึ่งการควบคุม

ทว่าด้วยพลังแห่งคำทำนายโบราณที่เหล่าผู้คนทั้งโลกฝากความหวังเอาไว้ มีการกล่าวถึงผู้กล้าทั้ง 4 ที่จะนำแสงสว่างกลับมา เมื่อโลกเต็มไปด้วยความมืด และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นแห่งตัวละครหลักตัวแรกแห่งซีรี่ส์ Final Fantasy หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘Warrior of Light’

image 2192

ซึ่งนักรบทั้ง 4 ในที่นี้ก็คือตัวละคร 4 อาชีพที่เราเลือกเอาไว้นั่นเอง จุดหมายของเกมคือการผจญภัย ต่อสู้กับมอนสเตอร์ที่สามารถเจอได้ในทุกย่างก้าวเมื่อลงดันเจี้ยน หรือออกนอกเขตเมือง รวมไปถึงภารกิจหลักอย่างการช่วยองค์หญิงเซร่าจาก การ์แลนด์ (Garland) ทหารผู้เสียสติ ทั้งหมดนั้นก็เพื่อเก็บสะสมเลเวล เพิ่มอาวุธให้ตัวละครเราแข็งแกร่งขึ้น และผ่านการทดสอบของ เจ้าแห่งมังกรบาฮามุด (Bahamut) ก่อนเข้าไปสู่กับ 4 ปีศาจร้ายรวมไปถึงบอสสุดท้ายอย่าง เคออส (Chaos) 

ภายหลังเราจะได้ทราบว่าเคออสก็คือการ์แลนด์ที่รอดจากต่อสู้ชิงตัวเจ้าหญิงเซร่า แต่เขาได้ทำสัญญากับปีศาจทั้ง 4 และส่งตัวเองกลับไปยังอดีต 2,000 ปีก่อนยุคปัจจุบันจนกลายจอมมารเคออส ผู้สร้างพวกมันเพื่อรับส่งตัวตนของตัวเองในตอนนั้นกลับมายังเวลานี้วนเป็นวัฏจักรที่ไม่รู้จบ 

นักรบทั้ง 4 ได้ใช้พลังแห่งคริสตัลในวิหารเคออสยุคปัจจุบันหลังจากเหล่าปีศาจในการย้อนเวลาไปเมื่อ 2,000 ปีก่อนเพื่อถอนรากถอนโคนปีศาจทั้ง 4 เมื่อครั้งยังถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้เคออสไม่สามารถส่งพวกมันมารับตัวการ์แลนด์กลับมายังช่วงเวลานี้ได้ และนักรบทั้ง 4 ก็สามารถปราบจอมมารเคออสลงเพื่อทำลายวงจรอุบาทว์สำเร็จ ก่อนถูกส่งกลับมายังเวลาปัจจุบันของตนเอง แต่เมื่ออดีตถูกเปลี่ยนแปลงจึงทำให้เส้นเวลาถูกบิดเบือน นั่นหมายความว่าผู้คนทั้งเมืองจะไม่ได้รับรู้ถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา และพวกของนักรบเองก็ไม่สามารถจำวีรกรรมของตนได้เช่นกัน ถึงกระนั้นแล้วสมดุลแห่งคริสตัลทั้ง 4 ก็กลับมาสู่โลก

ในส่วนเพลงประกอบนั้น ได้ Nobuo Uematsu นักแต่งเพลง ผู้เคยฝากผลงานไว้กับเกมในค่าย Square Soft ไว้มากมาย อาทิ เช่น Mystic Quest และ King’s Knight มาประพันธ์และสร้างสรรค์บทเพลงอันแสนไพเราะติดหูให้แก่เกม Final Fantasy อย่างเพลง Opening Theme ที่มีการนำมาใช้ต่อในอีกหลายภาคของซีรี่ส์ Final Fantasy หรือจะเป็นเพลงที่ฮิตแม้กระทั่งผู้คนที่อยู่นอกวงการเกมอย่าง Victory (หรือ Victory Fanfare) ที่เปิดให้คนทั่วไปฟังก็จะสามารถเข้าใจได้เลยว่าเป็นเพลงที่แสดงถึงชัยชนะ และเพลง Victory Fanfare นี้ ก็ถือได้ว่าเป็นเพลงที่เป็นเหมือน Signature ของเกมนี้ไปแล้ว เพราะในภาคต่อๆ มาก็ได้มีการนำเพลงนี้ไปดัดแปลง แต่ยังคงความเป็นต้นฉบับเอาไว้เสมอ 

image 2193

Nobuo Uematsu เบื้องหลังการประพันธ์เพลงในเกม Final Fantasy มากมาย

มาที่เรื่องของเครื่องหมายการค้า หรือโลโก้ของเกมนี้ โดยจะเป็นตัวอักษรเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Final Fantasy ที่มีขีดเส้นใต้เอาไว้ ภายใต้เส้นจะมีตัวอักษรคาตาคานะของญี่ปุ่น เขียนเป็นคำที่ออกเสียงว่า Final Fantasy อยู่ และที่อยู่ด้านหลังของตัวอักษร จะเป็นรูปของ Warrior of Light หรือ นักรบแห่งแสง ตัวดำเนินเรื่องหลักของเกม ที่วาดโดย Yoshitaka Amano กำลังถือดาบและเหล่ตามองมาทางผู้เล่น 

ถึงแม้จะมีการนำไปรีเมคอยู่หลายรอบ และเปลี่ยนโลโก้อยู่หลายครั้ง แต่ทุกเวอร์ชั่นจะมีภาพของ Warrior of Light ที่กำลังยืนถือดาบอยู่คู่กับโลโก้ เพียงแต่จะมีการดัดแปลงท่วงท่าเล็กน้อย

image 2194

Final Fantasy ภาคแรกได้ออกสู่สายตาของสาธารณชนในวันที่ 18 ธันวาคม 1987 โดยออกให้กับแพลตฟอร์มเครื่องเกม Famicom ซึ่งในตอนแรก แผ่นเกมสามารถขายได้แค่ 200,000 แผ่นเท่านั้น แต่ Sakaguchi ก็ได้ไปขอร้องกึ่งอ้อนวอนเพื่อให้ทางบริษัทผลิตแผ่นส่งขายเพิ่มเป็น 400,000 แผ่น โดยให้เหตุผลว่า “หากเราทำยอดขายได้เพียงแค่นี้ มันจะไม่มีวันมีภาคต่อเลย เพราะงั้นผมขอล่ะ ทำให้มันเป็น 400,000 แผ่นได้ไหม?”

ซึ่งทางเหล่าคณะกรรมการได้ตอบรับและยอมรับความเสี่ยงพร้อมมอบโอกาสให้แก่เกม Open world Turn-Based RPG เกมนี้ ส่งผลให้ความนิยมในตัวเกมพุ่งสูงขึ้นแถมขายได้มากขึ้นอีกด้วย และจากความสำเร็จของเกม Dragon Quest ที่ฝั่งอเมริกาเหนือ ทางบริษัท Nintendo สาขาอเมริกาเหนือจึงได้ทำการแปลเกม Final Fantasy สู่ภาษาอังกฤษและวางขายในเดือนพฤษภาคม 1990 

สำหรับตัวเกม Final Fantasy ในเวอร์ชั่นต้นฉบับที่ลงให้แก่เครื่อง NES และ เครื่อง Famicom ก็ได้รับการดัดแปลง พอร์ต และรีเมคใหม่เพื่อลงให้เครื่องเกมแพลตฟอร์มอื่นอีกในภายหลัง โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้


– Final Fantasy MSX2 Ver. วางขายในญี่ปุ่นปี ค.ศ. 1989 ลงให้เครื่อง MSX2 มีผู้จัดจำหน่ายคือ Microcabin โดยเวอร์ชั่นนี้ จะมีการเสริมกราฟิกให้สวยงามขึ้นเล็กน้อย และเพิ่มระยะเวลาให้เพลงประกอบกับเสียงเอฟเฟค รวมถึงลดเวลาโหลดหน้าจอเช่นกัน

– Final Fantasy I • II วางขายในญี่ปุ่นปี ค.ศ. 1994 ลงให้เครื่อง Famicom เวอร์ชั่นนี้มีการอัพเดตกราฟิกเพิ่มขึ้นมา พร้อมมัดรวมกับ Final Fantasy II ไปเป็นแพคคู่

– Final Fantasy WonderSwan Color Ver. วางขายในญี่ปุ่นปี ค.ศ. 2000 โดยลงให้แก่เครื่อง WonderSwan Color พร้อมจัดจำหน่ายโดย Square Soft ในเวอร์ชั่นนี้จะมีการเพิ่มภาพพื้นหลังมาในฉากต่อสู้ (จากเดิมที่เป็นพื้นหลังดำล้วน) และวาดท่วงท่าของตัวละครใหม่เพื่อใช้ในครั้งต่อไป

– Final Fantasy Origins วางขายในญี่ปุ่นปี ค.ศ. 2002 ในอเมริกาและยุโรป ปี ค.ศ. 2003 ลงให้แก่เครื่อง PlayStation ของ Sony Computer Entertainment พัฒนาโดยบริษัท Tose และจัดจำหน่ายโดย Square Soft ในเวอร์ชั่นนี้ จะเป็นเหมือนการรีเมคทุกอย่างให้สวยขึ้น ทั้งกราฟิก, รายละเอียด, เพลงประกอบที่มีการรีมิกซ์ใหม่, Full Motion Video ที่เพิ่มเข้ามา, แกลอรี่รวมรูปภาพ รวมไปถึงระบบบันทึกเกม

– Final Fantasy I & II: Dawn of Souls วางขายในญี่ปุ่น อเมริกาและยุโรป ในปี ค.ศ. 2004 ลงให้แก่เครื่องเกมพกพาสุดฮิตแห่งยุค Game Boy Advance พัฒนาโดย Tose และจัดจำหน่ายโดย Nintendo ในเวอร์ชั่นนี้ จะมีการเพิ่มดันเจี้ยนพิเศษมา 4 แห่ง รวมถึงเพิ่มสมุดรวมภาพมอน-สเตอร์เข้ามาในเกมด้วย (ภายหลังนำมาขายซ้ำบน Nintendo Wii U)

– Final Fantasy Mobile ลงขายในญี่ปุ่นปี ค.ศ. 2004 กับ 2006 และลงขายในอเมริกาปี ค.ศ. 2010 ให้แก่แพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือ จำหน่ายโดย Square Enix (Square Soft ที่รวมบริษัทกับ Enix Corporation แล้วเรียบร้อย) และ Bandai Namco Games

– Final Fantasy PSP ลงขายในญี่ปุ่นกับอเมริกาในปี ค.ศ. 2007 และในยุโรป ปี ค.ศ. 2008 ให้กับเครื่องเกม PlayStation Portable หรือ PSP พัฒนาโดยบริษัท Tose และจัดจำหน่ายโดย Square Enix มีการเพิ่มประสิทธิภาพของกราฟิก 2 มิติให้สวยขึ้น รวมถึง Full Motion Video ที่มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มดันเจี้ยนพิเศษและเนื้อหาจากเวอร์ชั่น Dawn of Souls เข้ามาด้วย

– Final Fantasy Wii ลงขายในญี่ปุ่นและอเมริกา ในปี ค.ศ. 2009 และ ยุโรปในปี ค.ศ. 2010 ให้กับเครื่อง Wii Virtual Console จัดจำหน่ายโดย Square Enix ภายในเวอร์ชั่นนี้จะใช้เวอร์ชั่น Original จาก เวอร์ชั่น 8 บิท

– Final Fantasy PSOne Classics ลงขายในญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 2009 และในอเมริกาปี ค.ศ. 2012 พัฒนาโดย Square Soft จะเป็นการนำเอาเวอร์ชั่น PlayStation มาลงให้กับ Play Staation Store ในหมวดเกม PSOne Classics สำหรับ PlayStation 3, PlayStation Portable และ PlayStation Vita 

– Final Fantasy iOS Ver. ลงขายทั่วโลกในปี 2010 โดยลงให้แก่ระบบ iOS พัฒนาและจัดจำหน่ายโดย Square Enix ใช้พื้นฐานจากเวอร์ชั่น PlayStation Portable

– Final Fantasy PSP (PSN) ลงในญี่ปุ่นและยุโรป ในปี ค.ศ. 2011 เป็นการนำเวอร์ชั่น PlayStation Portable มาทำให้เป็นเกมในรูปแบบ Digital Download

– Final Fantasy Windows Phone ลงขายทั่วโลกในปี ค.ศ. 2012 ให้แก่ระบบ Windows Phone จัดจำหน่ายโดย Square Enix ใช้พื้นฐานจากเวอร์ชั่น iOS

– Final Fantasy Android Ver. ลงขายทั่วโลกในปี ค.ศ. 2012 พัฒนาและจัดจำหน่ายโดย Square Enix ใช้พื้นฐานจากเวอร์ชั่น iOS แต่จะไม่มีการใส่ดันเจี้ยนพิเศษ, สมุดภาพสัตว์ประหลาด และห้องเล่นเพลงเข้ามา

– Final Fantasy (3DS) ลงขายในประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 2013 ให้แก่ เครื่อง Nintendo 3DS Virtual Console พัฒนาโดย Square Soft และจัดจำหน่ายโดย Square Enix เป็นการนำเวอร์ชั่น Famicom มาลงให้ในหมวด Vitual Console

– Final Fantasy (Wii U) ลงขายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 2013 ให้กับเครื่อง Wii U Virtual Console พัฒนาโดย Square Soft จัดจำหน่ายโดย Square Enix โดยเป็นการนำเวอร์ชั่น Famicom มาลงในหมวด Virtual Console

– Final Fantasy Anniversary Edition  ลงขายในประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 2015 โดยลงให้กับ Nintendo 3DS บน eShop พัฒนาและจัดจำหน่ายโดย Square Enix ใช้พื้นฐานจากเวอร์ชั่น PSP แต่จะมีการอัพเดทกราฟิก 3 มิติเพิ่มขึ้นมาจากเดิม

– Final Fantasy NES Classic Edition ลงขายในประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 2016 ให้แก่เครื่อง NES Classic Edition พัฒนาโดย Square Soft จัดจำหน่ายโดย Square Enix และ Nintendo เป็นการนำเอาเวอร์ชั่นแรก หรือเวอร์ชั่น Original มาใส่ให้แก่เครื่อง NES Classic Edition พร้อมทั้งปรับแต่งกราฟิกและ Title ให้ดีขึ้นมาจากเดิม

สังเกตได้ว่ามักจะมีการรีเมคและนำมาลงขายรวมกับ Final Fantasy II จนทั้งสองภาคนี้ได้ถูกเรียกกันในหมู่แฟนเกมว่าเป็นภาคคู่ขวัญกันเลย โดยเฉพาะภาค I & II Dawn of Souls บน GameBoy Advance และ Origins บน PlayStation ที่ทำภาพออกมาได้สวยและดูคลาสสิก แต่ก็ไม่เก่าเกินไป

image 2196

กราฟิกในเวอร์ชั่น PS1 จะมีการปรับปรุงอย่างเห็นได้ชัดทั้งภาพที่มีมิติมากขึ้น และคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น

ถึงแม้ว่าเกม Final Fantasy จะทำรายได้น้อยเมื่อเทียบกับเกมระดับตำนานอย่าง Dragon Quest แต่กระนั้นแล้วมันก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งตำนานของเกม Open World Turn-based RPG ที่ทำให้วงการของเกมคลาสสิกในสมัยนั้นต้องสั่นสะเทือน

จนถึงตอนนี้ก็เวลาล่วงเลยผ่านมานานกว่า 30 ปี แล้ว เกม Final Fantasy ยังคงมีภาคต่อและภาคแยกเรื่อยมาจนถึงภาคล่าสุดที่ภาค 15 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบการเล่นครั้งใหญ่ของเกม Final Fantasy ภาคหลัก ครั้นหากจะให้พูดก็คงจะยาวไปอีกสัก 10 หน้ากระดาษได้ (ฮา)

ไม่ว่าเวลานั้นจะผ่านไปนานเท่าไร แต่การที่ได้เห็น ได้เล่น หรือกระทั่งได้ยินเสียงเพลงของเกม Final Fantasy ไม่ว่าจากที่ใดก็ตาม มันก็ยังคงพาความทรงจำที่แสนสนุกสนาน และเสียงหัวเราะในวัยเด็กของเรากลับมาได้เสมอ หรือบางที มันอาจเตือนว่า เราลืมความเป็นเด็กไปนานเท่าไรแล้วก็ได้…

ที่มา
Final Fantasy FandomQuoraDestructoidWikipedia1Wikipedia

I am Number 21

Every cloud has a silver lining ในร้ายมีดี ในดีมีร้าย
Back to top button