เทคโนโลยี

[รีวิว] Huawei MateBook 14s

โน้ตบุ๊คเรือธงเล่นเกมได้ ทำงานดี ทางเลือกใหม่สำหรับครีเอเตอร์

การแข่งขันในตลาดโน้ตบุ๊คระดับสูงในตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงที่สนุกไม่น้อย เพราะล่าสุดทาง Huawei ได้ทำการเปิดตัว MateBook 14s โน้ตบุ๊คระดับเรือธงที่มาพร้อมกับจุดเด่นหลาย ๆ อย่างที่ผู้นำตลาดไม่มีมาให้ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอสัมผัส รองรับการแสดงผล 90Hz และความละเอียดหน้าจอระดับ 2.5K ว่าแต่ตัวเครื่องจะมีอะไรที่น่าสนใจอีกบ้างเราไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

Design

การออกแบบของ Huawei MateBook 14s ยังคงเอาไว้เอกลักษณ์เอาไว้เหมือนกับรุ่นอื่น ๆ ในตระกูล ด้วยสีของตัวเครื่องที่เรียกว่า Space Gray 

image 1797

ในส่วนของภาพรวมการออกแบบหากใครที่คุ้นเคยกับโน้ตบุ๊คของทาง Huawei มาโดยตลอดอาจจะบอกได้ว่าไม่มีส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ผ่านมา ๆ มากนัก วัสดุรอบตัวเครื่องยังคงเป็นพลาสติก ที่ชวนให้แอบน่าเสียดายเล็กน้อย แต่เกรดที่ใช้งานถือว่าไว้ใจได้ไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพของวัสดุในระยะยาว จากที่หลาย ๆ คนได้พิสูจน์ใช้งานมาแล้ว

หน้าจอของตัวเครื่องมีขนาด 14.2 นิ้ว โดยที่มีอัตราส่วนการแสดงผล 3:2 พร้อมความละเอียด 2.5K ที่มีความพิเศษในเรื่องของการรองรับการใช้งานแบบสัมผัส

image 1798

Layout ของคีย์บอร์ดที่ให้มาเป็นแบบมาตรฐาน การวางตำแหน่งของปุ่มต่าง ๆ มีช่องว่างระหว่างกันทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการพิมพ์ผิดอย่างไม่ตั้งใจ

image 1799

ปุ่มเปิด / ปิดตัวเครื่องที่ยังคงความสามารถในการใช้งานเป็นที่สแกนลายนิ้วมือสำหรับปลดล็อคตัวเครื่องเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ยังคงมีการติดตั้งมาให้สำหรับรุ่นนี้

image 1800

หน้าจอของตัวเครื่องสามารถกางได้เกือบ 180 องศา ซึ่งหากใครที่ซื้อตัวเครื่องไปแล้วชินกับโน๊ตบุ๊คของทาง Huawei บางรุ่นก็อย่าเผลอดันจนสุดเพราะคิดว่าสามารถกางได้ราบเรียบโดยเด็ดขาด

image 1801
image 1802

ในส่วนของพอร์ตการใช้งานจะประกอบไปด้วย USB-C จำนวน 2 พอร์ต ซึ่งรุ่นท็อปที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้จะรองรับการใช้งาน Thunderbolt 4 ที่พอร์ต USB-C ช่องที่ 2 USB 3.2 Gen 1 จำนวน 1 พอร์ต HDMI จำนวน 1 พอร์ต และ รูหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรแบบ 2-in-1

image 1803

ที่ด้านล่างของตัวเครื่องจะมีช่องสำหรับการระบายความร้อนเป็นแนวยาวอยู่ที่บริเวณด้านบนของตัวเครื่อง พร้อม ๆ กับลำโพงที่อยู่บริเวณด้านล่างของตัวเครื่องทั้งสองฝั่ง

image 1804

ระบบระบายความร้อนเป็นแบบ Shark fin แบบคู่ที่ช่วยให้พร้อม Heat Pipe ที่ช่วยทำให้การระบายความร้อนทำได้ดีขึ้นกว่า 25 เปอร์เซ็นต์

image 1805
image 1806

กล่าวสรุปในเรื่องของการออกแบบกันอีกครั้ง Huawei MateBook 14s ยังคงเอาไว้ซึ่งการออกแบบที่เน้นไปที่ภาพลักษณ์ของตัวเครื่องที่ไม่ได้แปลกไปจากเดิม ความรู้สึกและสัมผัสต่าง ๆ ของตัวเครื่องยังคงเอาไว้ วัสดุที่เลือกใช้งานอยู่ในระดับทั่ว ๆ ไป ไม่ได้โดดเด่นแต่ก็ไม่ได้ดูแย่ถึงขนาดที่จะต้องตำหนิกัน

Display

หน้าจอของ Huawei MateBook 14s เป็นหนึ่งในจุดเด่นที่เราสามารถที่จะพูดได้ว่ามันน่าสนใจกว่าโน้ตบุ๊ครุ่นอื่น ๆในระดับเดียวกัน หน้าจอขนาด 14.2 นิ้ว ซึ่งถ้าเป็นอัตราส่วนการแสดงผลปกติเราอาจจะบอกว่ามันเล็ก แต่เมื่อมันถูกจัดวางด้วยอัตราส่วน 3:2 ทำให้หน้าจอดูใหญ่ขึ้นพร้อมพื้นที่การแสดงผลที่มากขึ้น

image 1807

พื้นที่ในการแสดงผลอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ ขอบจอถือว่าบางเอามาก ๆ แต่ไม่ถึงกับขนาดที่ไร้ขอบ แต่ก็ต้องบอกว่ามันมากพอสำหรับการใช้งานพื้นที่ภายในจอได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว

image 1808

ที่ขอบบนบริเวณตรงกลางของหน้าจอมาพร้อมกับกล้องความละเอียด 720p

ความละเอียดของหน้าจออาจจะเป็นความลับในการได้พื้นที่ใช้งานที่มากขึ้นตามมาก็เป็นได้ ด้วยความละเอียด 2.5K หรือตีเป็นตัวเลขได้ที่ 2520 x 1680 พิกเซล พร้อมพาเนลหน้าจอแบบ LTPS ทำให้เราได้ภาพที่คมชัดอย่างมาก

image 1809

อีกหนึ่งจุดเด่นของตัวเครื่องคือการที่มาพร้อมกับความสามารถในการรองรับการแสดงผล Refresh Rate 90Hz ส่งผลให้การใช้งานสิ่งต่าง ๆ มีความต่อเนื่องไม่สะดุดตา ซึ่งเราสามารถที่จะสลับไปมาระหว่าง 60Hz และ 90Hz ได้

ขอบเขตความกว้างของสีอยู่ที่ 100% sRGB ทำให้มันเหมาะกับบรรดาครีเอเตอร์ที่ต้องการเครื่องที่มาพร้อมกับหน้าจอที่สามารถแสดงผล ความถูกต้องของสีได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การแก้ไขภาพหรือหรือการเลือกเฉดสีในวิดีโอไม่มีปัญหาสีเพี้ยนเกิดขึ้น

image 1810

สุดท้ายคือเรื่องของการรองรับการใช้งานแบบสัมผัสพร้อมกัน 10 จุด เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นแท็บเล็ตขนาดใหญ่ได้ในทันตา และสามารถที่จะใช้งานร่วมกับหนึ่งในฟีเจอร์ที่มีมาในตัวเครื่องได้เป็นอย่างดี แต่จะขอบอกเล่าในส่วนถัดไป

image 1811

เกือบลืมไปว่าหน้าจอของ Huawei MateBook 14s ยังคงเอาไว้ซึ่งการเป็นมิตรต่อดวงตาของผู้ใช้งาน ด้วยการมีมาตรฐาน TÜV Rheinland ซึ่งจะลดแสงสีฟ้าในระดับฮาร์ดแวร์ พร้อม Flicker Free ซึ่งจากการใช้งานพบว่า ไม่พบอาการล้าของดวงตาจริง ๆ 

Keyboard & Touchpad 

ในส่วนของรูปแบบคีย์บอร์ดที่มีในตัวเครื่องจะเป็นแบบมาตรฐาน ซึ่งขนาดถือว่ากำลังดีมาก ๆ หากใครที่เคยใช้งานโน้ตบุ๊ครุ่นอื่น ๆ ของทาง Huawei จะพบว่าพื้นที่ในการใช้งานของ Huawei MateBook 14s จะมีมากกว่าพอสมควร พื้นที่ทั้งสองข้างจากที่จะเว้นเอาไว้เป็นพื้นผิวของตัวเครื่อง ตอนนี้ได้ถูกเติมเต็มด้วยพื้นที่ใช้สอยของคีย์บอร์ดไปแทน

image 1812

ปุ่มกดแต่ละปุ่มจะมีระยะกดอยู่ที่ 1.5 มิลลิเมตร โดยที่การกดแต่ละครั้งจะเป็นการออกคำสั่งในทันที ไม่ได้มีการกดแบบ 2 จังหวะมาให้ ด้วยระยะห่างที่น้อยทำให้ข้อดีอีกหนึ่งอย่างเกิดขึ้นคือเรื่องของเสียงการใช้งาน ที่จะน้อยมากจนอาจจะบอกว่าเงียบเลยก็ได้ในบางครั้ง

image 1813

ไฟ Backlit ยังคงมีมาให้ใช้งานเช่นเดียวกัน โดนสามารถที่จะมีระดับความสว่างด้วยกัน 2 ระดับ สามารถที่จะปิดได้หากไม่ต้องการใช้งาน

image 1814

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงไปด้วยความที่มีการย้ายกล้องไปติดตั้งบริเวณขอบบนของหน้าจอแทน ทำให้จากเดิมที่จะถูกติดตั้งระหว่างปุ่ม F6 และ F7 หายไป แต่แทนที่ด้วยปุ่มสำหรับการใช้งานการพิมพ์ด้วยเสียงแทน ส่วนจะได้ใช้งานหรือไม่คงขึ้นอยู่กับแต่ละคน

image 1815

และเช่นเคยปุ่ม Fn + P ยังคงเป็นการสลับโหมดการทำงานของตัวเครื่องระหว่างโหมด Balance และ Performance เพิ่มเติมคือการกดปุ่ม Fn + R ที่จะทำการสลับไปมาระหว่าง Refresh Rate 60Hz และ 90Hz

Performance & Software

ในส่วนของสเปคตัวเครื่อง Huawei MateBook 14s ที่เราได้มาทดสอบในครั้งนี้จะเป็นรุ่นท็อปที่มาพร้อมกับการใช้งานซีพียู Intel Core i7-11370H ที่มีความเร็วในการทำงานที่ 3.30 GHz จำนวนคอร์การทำงานแบบ 4/8 L3 cache 12MB แรม 16GB แบบ LPDDR4X Dual Channel และที่เก็บข้อมูล PCIe SSD 1TB 

image 1816
image 1817

คะแนนที่ทำได้ในส่วนของการทดสอบ Cinebench R23 ถือว่าออกมาได้น่าพอใจ ประสิทธิภาพของซีพียูที่ใช้งานสามารถที่จะเทียบเท่าได้กับซีพียูที่ใช้งานบนพีซีได้ดีทีเดียว

image 1818

ในส่วนของการทดสอบ 3DMark คะแนนที่ออกมาถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะแม้ว่าจะไม่มีการ์ดจอแยก แต่สิ่งที่ติดมาอย่าง Intel Iris ก็ถือว่าเอาอยู่

image 1819

การทำงานของที่เก็บข้อมูลที่มีอยู่ภายในตัวเครื่องเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทำออกมาได้เป็นอย่างดี ที่เก็บข้อมูลขนาด 1TB เพียงพอสำหรับการใช้งานและมีความเร็วในการตอบสนองที่น่าประทับใจ

image 1820
image 1821

แม้ว่าตัวเครื่องอาจจะไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ เนื่องจากไม่มีการ์ดจอแยก แต่สิ่งที่ติดมากับตัวซีพียูรุ่นนี้ก็ถือว่าเพียงพอในการนำไปใช้งานร่วมกับเกมสุดฮิตในเวลานี้ได้แล้ว ยิ่งหากเป็นเกมที่ใช้สำหรับการแข่งขัน eSports ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด โดยผลลัพธ์ของการทดสอบมีรายละเอียดตามในภาพด้านล่างเลย

image 1822

สิ่งที่มีมาให้เราได้ใช้งานภายในตัวเครื่อง Huawei MateBook 14s สำหรับตัวช่วยในการทำงานต่าง ๆ คือ PC Manager ที่ภายในเราสามารถที่จะค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ของตัวเครื่องได้อย่างละเอียด พร้อม ๆ กับสามารถที่จะอัปเดตสิ่งต่าง ๆ ภายในเครื่อง และถ้าเกิดว่าเครื่องทำงานไม่ปกติ ก็สามารถที่จะหาต้นตอได้เช่นกัน

image 1823

นอกจากนี้ภายในยังได้บรรจุฟีเจอร์สำหรับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ของทาง Huawei ที่เรารู้จักกันในชื่อของ Huawei Share อีกด้วย โดยที่ภายในเราสามารถที่จะใช้งานโหมดการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของทาง Huawei เพื่อใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพได้ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน Multi-Screen Collaboration ที่ช่วยให้เราทำการใช้งานสิ่งต่าง ๆ ได้หลากหลายยิ่งขึ้น สามารถที่จะย้ายข้อมูลไปมาระหว่างตัวเครื่องได้ในทันที

image 1824

แต่เรื่องของ Huawei Share อาจจะไม่ได้เป็นจุดสำคัญเท่ากับมีการเพิ่มหนึ่งสิ่งเข้าไปอย่าง Huawei Mobile App Engine ทำให้เราสามารถเรียกใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ บนสมาร์ทโฟนมาทำงานบนตัวเครื่องได้ในทันที ซึ่งหากจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ อาจจะบอกว่าเป็นเครื่องมือจำพวกอีมูเลเตอร์ก็ว่าได้

เราสามารถที่จะทำการดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันได้ในตัว และสามารถที่จะเรียกใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ที่หน้าจอหลักของเครื่องเราได้ทันที ซึ่งถือว่าสะดวกและน่าสนใจอย่างมาก

image 1825

อย่างไรก็ตามในตอนนี้ Huawei Mobile App Engine ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาให้ทำงานได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งมันจะช่วยให้ผู้ที่ซื้อตัวเครื่องไปไม่จำเป็นที่จะต้องติดตั้งอีมูเลเตอร์อื่น ๆ เพิ่มเติมได้นั่นเอง

และข้อดีของการที่มีหน้าจอที่สามารถใช้งานแบบสัมผัสได้จึงทำให้มันกลายร่างเป็นแท็บเล็ตขนาดใหญ่ได้ในทันที

image 1826

อีกทั้งตัวเครื่องในตอนนี้ใช้งานระบบ Windows 10 ที่พร้อมสำหรับการอัปเดตไปใช้งาน Windows 11 ภายในตัว ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่สามารถอัปเกรดได้เพราะมีการยืนยันมาจากทาง Huawei เองแล้ว

image 1827

แต่ ! เราขอคั่นการรีวิวตัวเครื่องและตัดไปที่อุปกรณ์เสริมหนึ่งอย่างที่สามารถใช้งานร่วมกันกับ Huawei MateBook 14s ได้อย่างลงตัว นั่นก็คือ Huawei Bluetooth Mouse รุ่นที่ 2 ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถในการเชื่อมต่อที่ง่ายกว่าเดิม

image 1828
image 1829

สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาในรุ่นนี้จะอยู่ที่ด้านล่างของตัวเมาส์ ซึ่งมาพร้อมกับปุ่มโปรไฟล์สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ถึง 3 อุปกรณ์ เราสามารถที่จะกดปุ่มเพื่อที่จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ โดยถ้าหากว่าทำการเชื่อมต่อไปแล้วจะมีการจำค่าอุปกรณ์ที่ใช้งานเอาไว้ ทำให้ไม่ต้องเชื่อมต่อสัญญาณใหม่เมื่อจะใช้งานอีกครั้ง

image 1830

การเชื่อมต่อกับ Huawei MateBook 14s ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่กดเปิดการทำงานตัวเมาส์ ไฟสัญญาณจะกระพริบขึ้น และที่ตัวเครื่องของเราจะมีการเด้งหน้าต่างขึ้นมาสำหรับการเชื่อมต่อกับเมาส์ เพียงแค่กดเชื่อมต่อก็เป็นอันเสร็จสิ้น สามารถที่จะดูแบตเตอรี่ได้โดยตรง

image 1831

โดยที่ตัวเมาส์จะมีการใช้งานพลังงานเป็นถ่านขนาด AA หนึ่งก้อน สามารถเปลี่ยนได้ด้วยการเปิดฝาครอบด้านบนออกก็จะพบพื้นที่สำหรับการติดตั้งทันที

Batterty

ในส่วนของแบตเตอรี่ถือว่ามีการจัดการพลังงานออกมาได้ค่อนข้างที่จะดีไม่น้อย สามารถที่จะใช้งานตลอดทั้งวันได้โดยที่ไม่ต้องชาร์จ หรือถ้าเกิดว่าไม่ได้มีการใช้งานอะไรที่หนัก ๆ ก็สามารถที่จะอยู่ข้ามวันได้อย่างไม่มีปัญหา

เรื่องระยะเวลาในการชาร์จก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างที่จะเร็วไม่น้อย ตัวเครื่องรองรับการชาร์จได้ถึง 90W อย่างไรก็ตามที่ชาร์จซึ่งติดมาภายในกล่องจะรองรับที่ 65W เท่านั้น แต่นั่นก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่อะไร เพราะสามารถที่จะชาร์จได้เต็มในระยะเวลาไม่ถึงชั่วโมง

Conclusion

image 1832

บทสรุปของ Huawei MateBook 14s คงต้องบอกว่าเป็นโน้ตบุ๊คเรือธงสำหรับบรรดาครีเอเตอร์ที่ไม่ควรพลาด ด้วยความที่มีสิ่งต่าง ๆ อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอที่แสดงผลได้ถูกต้อง สเปคภายในที่ตอบโจทย์การใช้งาน พร้อมลูกเล่นที่ติดมากับตัวเครื่อง ด้วยราคา 40,990 บาท ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ได้ไม่น้อย

ข้อดี

– หน้าจอความละเอียด 2.5K ที่มีความคมชัด เหมาะกับการใช้งาน

– รองรับการใช้งานสัมผัสพร้อมกัน 10 จุด

– มาพร้อมกับโหมดถนอมสายตาที่ช่วยให้ใช้งานได้ต่อเนื่องโดยไม่มีอาการล้า

– วัสดุที่ใช้งานพิสูจน์มาแล้วว่าคงทนในระยะยาว

– พื้นที่การใช้งานของคีย์บอร์ดที่เพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อน ๆ

– ปุ่ม Power ที่รองรับการใช้งานสแกนลายนิ้วมือ

– สเปคภายในใช้งาน Intel Evo ที่ช่วยมอบประสบการณ์การใช้งานอันเป็นที่สุด

– ใช้เล่นเกมก็ได้ แต่ถ้าใช้ทำงานจะดีที่สุด

– ระบบระบายความร้อนของตัวเครื่องที่จัดการกับความร้อนได้เป็นอย่างดี

– รองรับการเชื่อมต่อต่าง ๆ ครบครัน

– ลำโพงมีความดังและให้รายละเอียดของเสียงค่อนข้างดี

– ไฟ Backlit ในตัว

– แบตเตอรี่ใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนาน

– น้ำหนักเบาเพียง 1.43 กิโลกรัม

– มี Huawei Share สำหรับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ลงตัว

– Huawei Mobile Engine ช่วยให้ใช้งานแอปพลิเคชัน Android ได้ในตัว

ข้อสังเกต

– ด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊คเรือธงน่าจะมีการปรับวัสดุที่ใช้งานรอบเครื่องให้ดีกว่านี้

– เสียงของพัดลมเมื่อทำงานที่จุดสูงสุดค่อนข้างที่จะดัง

– Touchpad เวลาที่กดลงไปแล้วให้เสียงที่ดูไม่แน่นเท่าที่ควร

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทาง Huawei แห่งประเทศไทยที่ได้ทำการส่ง Huawei MateBook 14s มาให้เราได้ทดสอบ ใครที่สนใจสามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ตามร้านค้าไอทีชั้นนำทั่วไปและทางช่องทางออนไลน์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อสินค้าได้ที่ : [คลิก]

Artherlus

แค่คนทั่วไปที่หลงใหลในวงการไอที
Back to top button