10 สิ่งที่มีแต่เกมเมอร์ยุค 90 เท่านั้นจะเข้าใจ
ย้อนวัยยุคสมัยแห่งความคลาสสิค ที่บางครั้งต้องแลกมาด้วยความลำบากแต่สำราญใจ
วงการวิดีโอเกมนั้นมีการพัฒนาก้าวไกลมากขึ้นแทบจะทุกวัน เรามีเกมที่กราฟิกสมจริงราวกับภาพยนตร์ มีระบบ Gameplay ที่ลึกและซับซ้อนจนเหมือนชีวิตจริง มีโลก Open World สุดกว้างใหญ่ไพศาลให้สำรวจ ทว่าทุกการพัฒนาก็มักจะต้องมีจุดเริ่มต้นเสมอ ไม่ใช่ปุ๊บปั๊บเราจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกทันทีทันใด ซึ่งบทความของ This is Game Thailand ในวันนี้ เราจะมาพูดถึงอดีตในยุคแห่งความคลาสสิคของหลายสิ่ง ที่มีแต่เกมเมอร์ในยุค 90 เท่านั้นจะเข้าใจ มาเริ่มที่อันดับ 10 กันเลยค่ะ
10. ร้านเช่าเกม
อันที่จริงในปัจจุบันเรายังคงมีร้านเกมเช่าในรูปแบบ Internet Cafe อยู่ อย่างยิ่งเมื่อกีฬา E-sports เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับอย่างมากในปัจจุบันทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล ทว่าร้านเกมเช่าในสมัยก่อนนั้น จะเป็นร้านเกมเช่าของเครื่องเกมฝั่งคอนโซลอย่างแฟมิคอม (คนไทยในยุคนั้นจะคุ้นชื่ออย่าง FR 102 มากกว่า), ซุปเปอร์แฟมิคอมแบบใช้ฟล็อปปี้ ดิสก์, เครื่อง PS1 หรือเครื่องที่ตลับโคตรแพงอย่าง Neo Geo ที่ไว้สำหรับเล่นเกม Arcade ของค่าย SNK การเช่าก็จะมีตั้งแต่แบบหยอดเหรียญ! (ตามห้างจะเจอบ่อย) และแบบจ่ายเงินให้เถ้าแก่แล้วเข้าไปเล่นกัน แอร์บางร้านก็ไม่มีด้วยซ้ำ บางร้านมีพัดลม บางร้านก็เปิดโล่งรับลมเย็น 555+ บางร้านจะมีบริการแลกเปลี่ยนตลับรับเทิร์นตลับเกม ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยนำตลับแฟมิคอมไปแลก โดยมีค่าบริการครั้งละ 50 บาท แต่ถ้าเกมไหนดังหน่อยเรตอาจจะแพงกว่าก็ได้เหมือนกันค่ะ
9. Co-op แบบถึงเนื้อถึงตัว (ไร้อินเทอร์เน็ต)
แน่นอนว่าในสมัยนี้ คุณสามารถโลดเล่นผจญภัยไปกับเพื่อนเกมเมอร์ได้ทั่วทุกมุมโลกด้วยโหมด Multiplayer หรือ Co-op ผ่านสาย LAN/WIFI หรือระบบ Internet ความเร็วสูงที่พัฒนาขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทว่าในยุค 20-30 ปีที่แล้วนั้น ระบบ Co-op หรือการเล่นแบบร่วมมือกันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีนะคะ หลายเกมเล่นได้สูงถึง 5 คนด้วยซ้ำ! (ตย. Bomberman ของเครื่องซุปเปอร์แฟมิคอม ที่สามารถใช้จอยพิเศษแยกที่ชื่อ Multitap เพื่อต่อเล่นหลายคนได้) ทว่าการเล่นด้วยกันจะเป็นในแบบ Manual คือนั่งติดกันนั่นเอง ให้เรียกแบบอินเตอร์หน่อยก็ Couch Co-op ฟิลลิ่งมันจะคนละแบบกับการ Co-op ด้วยอินเทอร์เน็ตความไวสูงแบบทุกวันนี้ แม้ส่วนตัวผู้เขียนจะคิดถึงช่วงเวลาแบบนั้น แต่บางครั้งเก็บไว้เป็นความทรงจำก็คงจะพอค่ะ ฮา
8. Action Replay แก้ปัญหาได้ทุกสิ่ง
สมัยก่อนเกมนั้นค่อนข้างมีความยากชนิดมากถึงมากที่สุด หลายเกมมีแทบจะไม่มีระบบ Check point หรือมีก็ไกลมาก การ Save เกมทำได้ลำบาก (ยิ่งในสมัยตลับ) ยังไม่นับว่าหลายเกมมัน Pause หรือหยุดไม่ได้ด้วยนะ แม่เรียกไปกรอกน้ำ เอ้ย ทำงานบ้าน/การบ้านทีนี่เครียดเลย ทว่าปัญหาเหล่านั้นจะหมดไปเมื่อคุณมีอุปกรณ์ผีบอกรักษาทุกสิ่งอย่าง Action Replay ตลับหรือแผ่นโกงเกมจากค่าย GameShark ที่พร้อมจะทำให้ตัวเอกของคุณเป็นอมตะหรือ หรือรวยล้นฟ้าแบบไม่ต้องทำอะไร (มีใช้ตั้งแต่ยุค GameBoy Advance ไปจนบน PS1, PS2, GC) ในสมัยยุคแฟมิคอมนั้นจะเป็นตลับโกงที่เรียกว่า Game Genie แต่โดน Nintendo ฟ้องไปจนต้องล้มเลิก (ไปขายตลาดมืดแทน) ในปัจจุบันการโกงเกมนั้นเป็นสิ่งที่สังคมเกมเมอร์ในภาพรวมรับกันไม่ได้ (ถ้าไม่นับพวกโกงคนเดียวอย่างสูตร Motherlode ใน The Sims นะ) โดยเฉพาะเกมออนไลน์ที่เรียกได้ว่ามีโทษหนักถึงขั้นอาจจะไม่มีสิทธิ์กลับไปเล่นเกมนั้น ๆ ได้อีกเลย
7. กล่องเกมใหญ๊ใหญ่ แถมคู่มือมีมาให้จุใจอีกต่างหาก
ข้อนี้ไม่ใช่ปัญหา ทว่ามันคือสิ่งที่ยอดเยี่ยมและงดงามมากในเกมยุคก่อน นั่นก็คือแพ็คเกจที่สวยงาม มาพร้อมคู่มือเล่มหนา จนเรียกได้ว่าบางเกมขนาดแถมบทสรุปขนาดย่อมมาให้เลย บางทีก็ได้หลายเล่มด้วยนะ หลายครั้งก็ได้หลายภาษาอีกต่างหาก ซึ่งต่างจากในปัจจุบันสิ้นเชิงที่นอกจากเราจะซื้อหาเกมด้วยระบบ Digital หรือ Online เป็นหลักแล้ว เกมแบบกล่องบรรจุ Disc เองก็ยกเลิกที่จะพิมพ์คู่มือให้ผู้เล่นด้วยเหตุผลคือการรักษาสิ่งแวดล้อม (หรือลดต้นุทน ฯลฯ) โดยจะมีลิงค์ให้คุณไปอ่านคู่มือใน Internet อีกทีแทน บางค่ายใจดีก็ใส่คู่มือมาให้สัก 2-3 หน้า แบบบางเฉียบ บางค่ายก็มาเป็นขาวดำล้วนไม่มีภาพอะไร ผู้เขียนเองก็แอบเศร้าใจ เข้าใจเรื่องการรักษาธรรมชาติซึ่งมีความสำคัญ แต่ก็อดจะคิดถึง Packaging ที่ประณีตสวยงามที่ตั้งใจทำออกมาสุดๆ แบบในยุคสมัยก่อนไม่ได้จริง ๆ ค่ะ
6. Memory Card ของสุดหวง
ข้อนี้น่าจะมอบความทรงจำที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน ส่วนตัวผู้เขียนแล้ว เคยเจอเคสที่ทำให้แทบน้ำตาไหล นั่นก็คือ “ข้อมูลเกมที่เล่นมานานแสนนานหายเกลี้ยงในชั่วพริบตา” ซึ่งก็เกิดได้หลากหลายสาเหตุ คืออย่างนี้ ตัว Memory Card สมัยก่อนจะมีความจุไม่มาก และส่วนใหญ่เราก็จะมีกันมากกว่า 1 อัน (ใครมีเยอะนี่ถือว่ารวยเลยนะเพราะก็ไม่ใช่ว่าถูกๆ) ใน 1 Memory Card ก็จะจุ Save เกมได้ไม่เยอะ บางเกมก็กินพื้นที่เยอะมาก แล้วเวลาเล่นเกมใหม่ เกมก็ต้องการให้เราสร้าง Save สำหรับเกมนั้น ๆ ซึ่งถ้าพื้นที่ไม่พอ คุณก็ต้องลบ Save เกมเก่าออกให้เหลือพื้นที่ในการจุ Save เกมใหม่ บางเกมก็อำนวยความสะดวกให้ดีว่าเราจะลบเกมอะไร ทว่าบางครั้งเกมก็ไม่ได้สื่อสารให้เราเข้าใจ (หรือเราคงเข้าใจไม่ดีพอเอง) ไป Format Mem ซะนี่! เล่นเอาน้ำตาตกไปหลายวัน ใครเจอประสบการณ์อะไรทั้งดีหรือไม่ดีก็แชร์ใน Comment กันได้นะจ๊ะ ^_^
5. พกแบต (เตอรี่) มาด้วยเหรอ
ใครที่เป็นเจ้าของเครื่องเกมพกพาทั้งหลาย อย่างยิ่งในยุค GameBoy ครองเมือง (แล้วก็มีอีกหลาย GameBoy รุ่นใหม่ ๆ ถัดจากนั้น) เกมค่ายอื่นอาทิเครื่อง Game Gear หรือ Neo Geo Pocket หรือ WonderSwan ของค่าย Bandai แทบทุกเครื่องในสมัยนั้นต่างต้องใช้พลังงานคือถ่านแบตเตอรี่แบบก้อนทั้งสิ้น (จะ A กี่ตัวนี่แล้วแต่เครื่องนะ ไม่เหมือนกันค่ะ) ซึ่งในสมัยนั้นก็จะเป็นอะไรที่สำคัญมากกับการต้องคอยพกแบตเสริมติดตัวเวลาไปเที่ยว เพราะไม่สามารถใช้สายชาร์จได้แบบปัจจุบันที่ไหนเวลาไหนก็ได้ รวยขึ้นมาหน่อยก็ซื้อแบตแบบชาร์จได้ไว้สลับเปลี่ยนหมุนเวียนเวลาแบตเก่าหมด (แต่มันก็ไม่ให้ฟิลเวลาแกะถ่านก้อนใหม่อยู่ดีอ่ะ คหสต ของผู้เขียนนะ) ในยุคนี้เอาที่ใกล้เคียงสุดเห็นจะเป็น Controller ของเครื่อง Xbox จาก Microsoft ที่มีแบบใช้ถ่านอยู่ด้วย ซึ่งส่วนตัวชอบมาก แม้แฟนเกมบางกลุ่มจะบ่นว่ามันล้าหลังไปหน่อยก็ตามเถอะ
4. แผ่น CD จะเยอะไปไหน
ถ้าใครยังจำยุคก่อนได้ดีเกมอย่าง Final Fantasy VII ที่เป็นแทบจะหนึ่งในที่สุดของซีรี่ส์ วางจำหน่ายครั้งบน PS1 ในปี 1996 (20 กว่าปีมาแล้ว) ตัวเกมมาด้วยจำนวน Disc มาหศาลถึง 3 แผ่น! (สำหรับ 4 แผ่นจะเป็นเวอร์ชั่น International ที่แถมเป็นโบนัสโดยจะมีข้อมูลแผนที่, ไอเทม, อาวุธ ฯลฯ) เกมดังอย่าง Resident Evil 2 เองก็มี Disc มา 2 แผ่นคือ A กับ B ซึ่งคุณสามารถเลือกเล่นเป็นตัวละครได้แตกต่างกัน (Leon กับ Claire) หรืออย่างเกม The Sims 2 บน PC เองก็มีมาให้ถึง 4 Disc! (ภาคเสริมหลายภาคก็มีมากกว่า 1 Disc) อันที่จริงก็เป็นเรื่องเข้าใจด้วย ด้วยความจุจำกัดที่เพียง 700 MB เท่านั้น ขณะที่แผ่น DVD จะมีความจุเพิ่มขึ้นมาถึง 4.7 GB เทียบกับแผ่น PS4 ในปัจจุบันที่แผ่น Blu-ray มีความจุถึง 25 – 50 GB ทว่าก็มีเกมอย่าง Red Dead Redemption 2 ซึ่งเป็นเกมแรกของ PS4 ที่ใช้ Blu-ray ถึง 2 แผ่น (แต่ด้วยคุณภาพและความกว้างใหญ่ไพศาลของตัวเกม ทั้งเสียงพากย์, คัทซีน ก็ไม่ค่อยแปลกใจค่ะ)
3. รอยขีดข่วนบนแผ่น CD
ข้อนี้เป็นปัญหาใหญ่ต่อจากข้อ 4 เลยค่ะ เนื่องจากจำนวน CD มีเยอะในแต่ละเกม ดังนั้นการเก็บรักษาก็ทำได้ลำบากและยากตามไปด้วย ซึ่งหมายถึง ถ้าคุณทำแผ่น CD ชำรุด หรือแม้มันจะหมดอายุขัยไปตามกาลเวลา แปลว่าคุณอาจจะเล่นเกมนั้น ๆ ไม่ได้อีกต่อไปเลย! ผู้เขียนเคยประสบปัญหาโดยตรง(จากแผ่นลิขสิทธิ์แท้) ของ The Sims พอมีมากกว่า 1 แผ่นปั๊บ แผ่นใดแผ่นหนึ่งเสียนี่ Install ไม่ได้เลย เล่นไม่ได้ เศร้ามาก สร้างความปวดหัวสุด ๆ ไม่ใช่แค่เสียนะ ถ้าทำหายไปสัก 1 แผ่นนี่ก็จบเล่นไม่ได้เช่นกัน ทว่าในปัจจุบัน มีข่าวดีอย่าง The Sims 2 ที่ EA ได้ทำการแจกแบบ Digital ให้เล่นฟรี โดยไม่ต้องใช้แผ่น CD (รอภาค 1 อยู่นะคะ) และเกมเก่าอย่าง Daiblo 2 เองถ้าคุณมีโค๊ดจากแผ่น CD ที่แม้จะพังไปแล้ว สามารถนำโค๊ดไป Redeem บนเว็บไซต์ Battle.net ของ Blizzard แล้วเล่นแบบ Digital ได้เช่นกันค่ะ
2. เมาส์กลไกเจ้าปัญหา (หรือเรียกแบบติดปากว่าเมาส์ลูกกลิ้งนั่นเอง)
ข้อนี้จริง ๆ สายคอนโซลอาจไม่เจอปัญหามาก แต่ว่าสายเกมเมอร์ฝั่ง PC นี่บ่นยับแน่นอน กับเมาส์แบบ Mechanical หรือเมาส์กลไก ที่หากตอนใช้แล้วคุณกำลังอยู่ในช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตายขณะเล่นเกมแล้วเมาส์เจ้ากรรมดันเกิดอาหารสะดุด ไม่ลื่นไหลอย่างที่ควรจะเป็น วิธีแก้ก็คือการแกะเอาเจ้าลูกกลิ้งออกมาทำความสะอาด (บางทีก็ฝุ่นจบหรือเต็มไปด้วยคราบสีดำซึ่งทำให้การทำงาน Tracking เจอปัญหานั่นเอง) ถ้าเล่นเกมคนเดียวอย่าง Doom อาจจะยังพอว่านะ แต่ถ้าในสมัยที่ LAN เริ่มจะได้รับความนิยมอย่างเกม Starcraft แล้วเกิดเหตุการณ์แบบนี้ล่ะก็ มีหัวอุ่นๆ กันได้เลย
1. การเป่าตลับเกม!
ขอยกให้เป็น No. 1 ประสบการณ์สุดขลัง เอ้ย สุดน่าจดจำสำหรับเกมเมอร์เด็กยุค 90 จริง ๆ ค่ะ กับอาการแก้ได้ทุกโรค เวลาเปิดเกมแล้วไม่ติด เปิดเกมแล้วค้าง แก้ง่ายๆ ด้วยการหยิบตลับขึ้นมา ภาวนาแล้วเป่าสักปู๊ดสองปู๊ด ไปที่ก้นตลับ (ด้านที่มีแผงวงจรเสียบ) แล้วลุ้นว่าเมื่อเสียบใหม่จะติดหรือไม่ บางรายหนักขนาดแกะฝาตลับออกแล้วเอายางลบมาถูก็มี อันที่จริงมันไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสักเท่าไหร่ บทความจาก Kotaku เคยเขียนไว้ว่า การเป่าก้นตลับนั้นอาจส่งผลร้ายกว่าผลดี ด้วยน้ำลายของผู้เป่าที่จะไปแปะยังแผงวงจร (ทองเหลือง) ส่วนทำไมที่เราใช้วิธีนี้แล้วเปิดติดนั้น น่าจะเป็นเพราะการใส่เข้า-ออกบ่อยๆ จน Pin มันเสื่อม แล้วการเสียบเข้าไปใหม่อาจทำให้ลงล็อคที่ Pin ใช้งานพอดี เลยทำให้พูดต่อ ๆ กันมา (คือสมัยก่อนการสื่อสารมันก็ไม่กว้างนะ แคบ ๆ ไม่เร็วแบบทุกวันนี้ นอกจากกลุ่มเพื่อน/ร้านเกม ก็มีนิตยสารเท่านั้นเอง) เลยติดมากกว่า ไม่ใช่เพราะการเป่า 100% แต่อย่างใด ทางญี่ปุ่นเองก็ยังเคยมีการเตือนว่าไม่ควรใช้วิธีเป่าตลับด้วยเช่นกันค่ะ
อันที่จริงยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างในช่วงยุค 80-90 ที่มอบความทรงจำดีๆ ให้กับเกมเมอร์วัยเก๋าอย่างพวกเรานะคะ ไม่ว่าจะเป็นบทสรุปเกมแบบเล่ม ที่ปัจจุบันแทนที่ด้วยบทความออนไลน์ (เหมือนที่เพื่อนๆ กำลังอ่านอยู่ในตอนนี้) หากใครนึกถึงเรื่องราวอะไรไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีหรือยากลำบากออกล่ะก็ Comment แสดงความคิดเห็นกันได้เลยนะคะ ^_^