สกู๊ปพิเศษ

7 ปัญหาที่เกมเมอร์ต้องพบเจอในเกมแปลภาษาไทย!

สิ่งเล็กๆ แต่สำคัญมหาศาลที่ช่วยเสริมเติมเต็มอรรถรสในการเล่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเราเหล่าเกมเมอร์ชาวไทยนั้น ต่างอยากเห็นเกมซีรี่ส์ที่ตัวเองรัก เกมที่ตนเองเติบโตมา หรือเกมชื่อดังที่กำลังจะวางจำหน่ายในอนาคตข้างหน้า มีภาษาไทยในสักวันหนึ่ง ปกติแล้วเราจะเติบโตมากับเกมอยู่ 2 ภาษา นั้นก็คือ ภาษาญี่ปุ่น และ ภาษาอังกฤษ จริงอยู่ที่ในยุคปัจจุบันช่วง 2-5 ปีมานี้ หลายบริษัททั้งเล็กและใหญ่ ได้ลงมาทำตลาดและจัดทำการแปลเกมภาษาไทยรองรับผู้เล่นมาก ตั้งแต่เกมบนฝั่งมือถือ ไปจนเกม AAA บนเครื่องคอนโซลอย่าง PlayStation 4, 5 และ PC เอง หรือหากย้อนไปในสมัยก่อนสักเกือบ 20 ปี มันก็เคยเป็นยุคของของเกมแปลไทยของค่าย EA อย่าง The Sims ทว่าถึงกระนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าผู้เล่นชาวไทยอย่างเรา จะไม่เจอปัญหากับเกมภาษาไทยเลยสีทีเดียว และนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนประสบพบเจอ จึงอยากนำมาแบ่งปันเล่าให้ฟัง เชื่อว่าหลายคนก็คงเจอมาเหมือนกัน (ช่วยกันแสดงความคิดเห็นที่คุณพบเจอได้ใน Comment เลยค่ะ)

*หมายเหตุ* บทความนี้เขียนเพื่อต้องการสะท้อนปัญหาและอยากเห็นการแปลที่พัฒนาในทิศทางที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น ผู้เขียนดีใจและซาบซึ้งกับการมีภาษาไทยในหลายๆ เกม แต่ในขณะเดียวกันก็อยากจะเสนอแนะหรือชี้ให้เห็นข้อบกพร่องที่มันยังสามารถทำให้ดีขึ้นไปได้อีกในอนาคต

1. การแปลที่ไม่ได้มาตรฐาน

ข้อนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่มักจะเจอกับเกมที่ไม่ได้มีชื่อเสียงสักเท่าไหร่ หรือเกมจากค่ายเล็ก ๆ (แต่บางเกมที่มีชื่อก็เจอนะ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ทั้งเกม) นั่นก็คือการแปลที่เสมือนใช้ Google Translate ที่ทั้งรูปประโยค หรือ การสื่อความแทบจะไม่สามารถทำให้เราเข้าใจได้เลย เปลี่ยนบริบทความหมายจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง จนทำให้อรรถรสการเล่นหดหายหรือกลายเป็นเรื่องขำขันไปเสียแทน (เยอะๆ มากก็ขำไม่ออกนะ อย่างยิ่งถ้าต้องเสียตังค์ – -“) 

image 8757

เป็นสกิลที่เอิ่ม..น่ากลัวมาก ๆ – -” (เครดิต : Pantip)

2. สระ / วรรณยุกต์ สิ่งเล็กที่เป็นเรื่องใหญ่

อีกปัญหาแทบจะเป็น No. 1 ที่ชาวเกมเมอร์ไทยต้องพบเจอเสมอจนกระทั่งปัจจุบันก็คือ “สระ” และ “วรรณยุกต์” ไทย สำหรับสระไทยนั้นมี 21 รูป ส่วน วรรณยุกต์มี 4 รูป (ไม้เอก, ไม้โท, ไม้ตรี และไม้จัตวา) เรามีพยัญชนะ 44 ตัว (ก-ฮ) ทว่าเวลาเราเล่นเกมแปลไทย สิ่งที่เรามักจะพบ 99% ก็คือ สระ หรือ วรรณยุกต์ ลอย หรือ จม บางทีก็ทับกันจนมองไม่ออกก็มี ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ผู้พัฒนาหลายค่าย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การแปลไทยนั้นมีความซับซ้อนในเรื่องการแสดง สระ และ วรรณยุกต์ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเกมที่แปลไทยอย่างสวยงามถูกต้องนะคะ ตัวอย่างเกมที่ผู้เขียนรู้สึกว่าทำการบ้านมาได้ดีมาก ๆ อาทิ Cat Quest ที่ไม่ได้แปลแค่เมนูและบทสนาท แต่แปลตัวอักษรในเกมอย่างฉากอะไรเป็นไทยไปด้วย อันนี้ก็ขอซูฮกให้จริง ๆ  

image 646

บางทีคำมันก็จะล้นๆ จนมองไม่เห็น (เลเวล และ พลัง)

3. ความสละสลวยในการแปล

ข้อนี้อาจจะเป็นปัญหาที่สำคัญน้อยที่สุด (อย่างน้อย ๆ ก็สำหรับผู้เขียนนะคะ) แต่สำหรับผู้เล่นบางคนนั้นก็คาดหวังภาษาในระดับงานวรรณกรรม เพราะบางเกมมีต้นแบบในเชิงลักษณะนั้น หรือ ใช้ภาษาเก่าที่เต็มไปด้วยการเปรียบเปรยและคำกลอน อันนี้จะเป็นงานยากมากสำหรับทีมผู้แปล ส่วนตัวเราขอให้แปลได้ถูกต้อง สื่อความได้ตรง ก็ค่อนข้างจะพอใจในส่วนหนึ่งแล้ว ทว่าการจะหาเกมแปลไทยขั้นสละสลวยที่เข้าใจบริบทตัวเกมแบบลึกนั้นอาจจะหาได้ยาก (บางเกมคนแปลต้องไปศึกษาเรื่องราวด้านอื่น อาทิ ศาสนา, สังคม, การเมือง เพิ่มอีก!) หรือบางเกมที่มาจากการ์ตูนแล้วผู้แปลไม่ได้อ่านหรือดู Manga หรือ  Anime เรื่องนั้นก็อาจจะถอดความมาได้ไม่เต็มอรรถรส เกมที่ทำในส่วนนี้ได้ดีก็อาทิ Sekiro: Shadows Die Twice จากค่าย FromSoftware

image 8756

4. บางอย่างไม่ต้องแปลไทยจะดีกว่า

แม้เราจะดีใจที่พวกคุณใส่ใจและตั้งใจแปลทุกอย่างมาเป็นภาษาไทยให้เกมเมอร์ชาวไทยอย่างพวกเรา แต่บางอย่างการคงคำรากศัพท์เดิมในภาษาอังกฤษหรือใช้ทับศัพท์อาจเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะการแปลไทยอย่างยิ่งพวกเมนูหรือไอเทมบางอย่างนั้น จะยิ่งสร้างความซับซนมึนงงให้ผู้เล่นมากกว่าเดิม อาทิ “อีเต้อ” ซึ่งเราจะได้เห็นบ่อยมากในเกมแนวเอาชีวิตรอด โอเคล่ะ ถ้ามีภาพประกอบเราก็เข้าใจได้ทันทีว่ามันคืออะไร แต่ถ้าเป็นเควสที่บอกให้คราฟต์หรือไปหา “อีเต้อ” เชื่อว่าแรกเริ่มเลยถ้าคุณเห็นครั้งแรก คุณน่าจะแปลไม่ออกแน่นอน มันก็คือ Pickaxe หรือ พลั่ว นั่นเอง… หรือสิ่งที่เป็นสกิลทั้งหลายบางทีการแปลไทยอาจสร้างความงงมะลึกกึ๊กกึ๋ยย์ยิ่งกว่าเดิม

image 8755

 เซๆ คืออะไรอ่ะ อิอิ (หยอกๆ)

image 8754

ไม่ค่อยแน่ใจว่าทำไมผลไม้กวนถึงใส่แก้ว…

5. เธอ ฉัน เขา เรา และ แก เอ้ย! คุณ โอ้ย! งง

อันนี้จริง ๆ มันไม่ใช่ความผิดของผู้แปลเสียทีเดียว ด้วยความที่สรรพนามในการเรียกชื่อของไทยนั้นมีเยอะมากๆๆๆๆ คือมากมายมหาศาล ต่างจากภาษาอังกฤษที่มี You หรือ I ในขณะที่ภาษาไทยนอกจากจะมีหลากหลายแบบตามการพูดของผู้พูดและตามกาละเทศะไปจนความสนิทชิดเชื้อแล้วยังแยกตามเพศอีกด้วย ดังนั้นบางทีเราก็จะเจอประโยคแปลกๆ ที่ออกมาจากปากเด็กผู้หญิงหน้าตาน่ารักพูดกับลุงวัย 50 ว่า “แก” โดยที่ผู้เขียนต้องขอยกประโยชน์ให้ผู้แปลไว้ก่อนว่าอาจไม่ได้เห็นตัวเกม หรือ ตัวผู้พูดว่าใครพูดกับใคร แต่แปลตามรูปโยคนั้น ๆ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ผิดความหมาย แต่ทำให้สถานการณ์หรืออรรถรสเปลี่ยนเป็นเกมตลกไปทันที…

image 8753

ถึงเขาจะไม่ใช่คนไทย แต่ความเข้าใจในภาษาท้องถิ่นไทยนี่ 100%

6. ไม่ใช่ภาษาไทยโดยการแปลจากนักแปลจริง

ข้อนี้จะพบเห็นได้มากบนเกมมือถือเรียกได้ว่า 99% หรือให้พูดง่ายๆ App / เกมนั้น ๆ ได้ถูกตั้งให้แปลภาษาในแต่ละภูมิภาคโดยอัตโนมัติ ซึ่งการแปลก็จะอ่านแล้วตลก ไม่สามารถสื่อความหมายได้ถูกต้อง ทำให้อ่านแล้วรู้สึกประหลาดไปเลย เพราะเพี้ยนจากบริบทเดิมอย่างสิ้นเชิง เกมเหล่านี้อาจไม่ใช่เกมที่รองรับภาษาไทยแบบ 100% ทว่าหลายเกมไม่ได้แปลแค่ในหน้าร้านค้าเท่านั้น แต่แปลยันในระบบภายในเสียด้วยนี่ซิ เล่นไปเวียนหัวไปกันเลยทีเดียว ตัวอย่างดูจากภาพด้านล่าง

image 8752

…..สาบานว่าเรากำลังพูดภาษาเดียวกันอยู่จริงๆ นะ?……

7. การแปลแบบไม่เสร็จ หรือ ไม่ได้แปลต่อหลังปิดเซิร์ฟไทย

ข้อนี้จะเจอมากในเกมบนมือถือเช่นเดิม หรือเกม Online บน PC ก็มีให้เห็น ซึ่งบางเกมจะรองรับภาษาไทยมาตั้งแต่เปิดเซิร์ฟ (หรืออัปเดตแพทช์ มาภายหลัง) ทว่าการแปลจะเป็นแปลแบบยังไม่เสร็จ คุณอาจเห็นภาษาไทยปนเปไปกับภาษาอังกฤษ/จีน/เกาหลี/อื่น ๆ บางครั้งบทสนาทาที่พูดกับเราเป็นภาษาไทย แต่ตัวเลือกตอบกลับเป็นภาษาอื่น บทสนทนาถัดไปกลายเป็นภาษาอื่น ก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ อีกเคสหนึ่งก็คือ กรณีเซิร์ฟไทยปิดตัวลง แต่ตัวเกมยังคงอยู่ ปกติเราจะโยกไปเล่นเซิร์ฟ Global กันได้แบบไม่มีปัญหา ทว่าภาษาไทยจะไม่ได้ตามไปด้วย (คือถูกตัดไปเลย) หรือแม้ว่าจะตามไปในบางเกม ก็จะไม่ได้มีการแปลต่อในส่วนของอัปเดตเพิ่มหลังจากนั้น

image 8751

2 in 1 ในเกมเดียว…@_@

ผู้เขียนก็ย้ำอีกหนว่าที่ตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการสะท้อนถึงปัญหาสิ่งที่เกมเมอร์ชาวไทยพบเจอกันเป็นประจำ และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะเกมเมอร์ที่เล่นเกมมานาน (เกิน 20 ปี) และในฐานะคนไทย บอกตรงๆ ว่าดีใจมากที่บริษัทจากต่างชาติจำนวนมาก ทั้งค่ายเล็กค่ายใหญ่ ทั้งเกมมือถือ เกมคอนโซล และ PC ต่างเห็นความสำคัญของตลาดอุตสาหกรรมวงการเกมไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่การทำการตลาด การเปิดสาขาในไทย หรือ การแปลภาษาไทย หวังว่าพวกเราจะช่วยกันคนละไม้คนละมือ สนับสนุนตัวเกมและบริษัทเหล่านี้แบบถูกลิขสิทธิ์ เผื่อให้มันจะไม่ใช่การมีภาษาไทยแค่เพียงปีสองปีต่อจากนี้ แต่เป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคตระยะยาว

Back to top button