สกู๊ปพิเศษ

6 วิธีตั้งราคาขายของสุดแสบในเกมออนไลน์

คู่แข่งจุก คนซื้อปวดหัว เจอจนชิน

ว่ากันด้วยเรื่องของเกมออนไลน์ที่มีการขายของหรือมีระบบเศรษฐกิจภายในเกม มันก็เหมือนการจำลองชีวิตมนุษย์ภายใต้รูปแบบของเกมออนไลน์ ในเมื่อมีการซื้อขาย มีตลาด ย่อมมีเรื่องของเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียน มีคนซื้อ คนขาย รวมถึงพ่อค้าคนกลาง และอื่น ๆ อีกมากมายที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง โดยเฉพาะเกม MMORPG นั้นมักจะมีระบบเศรษฐกิจเป็นของตัวเองแตกต่างกันไปตามระบบที่ผู้พัฒนาได้สร้างมา แต่ผู้เล่นอย่างเราก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมายในการซื้อขาย โดยเฉพาะเรื่องการตั้งราคาขายของสุดแสบที่ผู้เล่นด้วยกันตั้งขึ้นอย่างไม่เกรงใจชาวบ้าน ไปดูกันดีกว่าครับว่าเพื่อน ๆ เคยเจออะไรแบบนี้บ้างไหม

1. ตั้งราคาตัดกันแค่ 1 บาท

image 640


ไม่ว่าคุณจะเล่นเกมออนไลน์ที่มีระบบค้าขายแบบไหน จะแบบเปิดร้านขายริมทาง หรือมี NPC ตลาดกลางมาเพื่ออำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม “การตัดราคา” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอในโลกของธุรกิจ และแน่นอนว่าในเกมก็ไม่เว้น และหนึ่งในกลยุทธ์การตัดราคาในเกมออนไลน์ที่เราพบเห็นกันได้ง่ายที่สุดก็คือการตัดราคาต่างกันเพียงแค่ 1 บาทเท่านั้น (แล้วแต่ว่าเกมไหนจะใช้หน่วยเงินอะไร ขอเรียกเงินบาทเพื่อให้เห็นภาพครับ) ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเป็นพ่อค้าดรอปไอเทมดี ๆ มาสักชิ้นราคา 1,000,000 แล้วคุณเจอคนอื่นขายไอเทมชิ้นเดียวกันแล้วลดราคาลงเหลือ 999,999 มันเป็นอะไรที่น่าหัวร้อนอยู่เหมือนกันนะครับ อย่าว่าแต่เราเป็นคนขายเลย ขนาดบางครั้งตอนเป็นคนซื้อเห็นพ่อค้าตัดราคากัน 1 บาท คือแบบ…เอางี้เลยนะนาย

2. ขายของชิ้นเดียวกัน ตั้งร้านใกล้กัน ราคาถูกกว่า

image 639


สำหรับเกมที่มีระบบการซื้อขายโดยให้ตัวละครของผู้เล่นตั้งร้านขายของได้ การเลือกทำเลในการเปิดร้านถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ของที่เรานำมาขายนั้นจะขายออกหรือไม่ เตะตาผู้ซื้อหรือไม่ รวมไปถึงเทคนิคการตั้งชื่อร้านให้ดึงดูดอีกด้วย แต่ในเมื่อทำเลเป็นเรื่องที่สำคัญและผู้เล่นคนอื่น ๆ ก็เข้าใจในหลักการนี้ ทำให้เกิดการแย่งทำเลกันจริงจังในสังคมธุรกิจภายในเกม บางเกมถึงขั้นตั้งราคาขายของเวอร์ ๆ เพื่อจองที่เลยทีเดียว แต่เราคงจะรู้สึกแย่มากถ้ามีใครสักคนมาตั้งร้านใกล้กับเรา ขายของชิ้นเดียวกัน แต่ตัดราคาขายให้ถูกกว่า แถมบางคนยังใจร้ายตั้งชื่อร้านเกทับกันซื่อ ๆ อีกด้วย เจอแบบนี้เป็นใครก็หัวร้อนครับ

3. ถ้าของขาดตลาด อยากตั้งแพงแค่ไหนก็ได้

image 638


ไอเทมทุกชิ้นมีจำนวนจำกัด และใช่ว่าทุกอย่างจะเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ยิ่งถ้าเป็นไอเทมยอดฮิตล่ะก็ นอกจากราคาจะแพงแล้ว ยังมีโอกาสที่เราจะหามาใช้ไม่ได้อีกด้วย และในช่วงเวลาที่ของขาดตลาดแบบนี้เอง จะมีผู้เล่นอยู่จำนวนหนึ่งที่ใช้โอกาสนี้ตั้งราคาไอเทมตามใจฉันเพื่อสร้างกำไร ยิ่งถ้าเกมไหนใช้ระบบตลาดกลางกับ NPC ล่ะก็ยิ่งเห็นได้อย่างโจ่งแจ้ง เพราะเวลาที่เราเสิร์ชหาไอเทมชิ้นนั้นเราจะเห็นทันทีว่าเหลือกี่ชิ้น ใครเป็นคนขาย และขายราคาเท่าไหร่ การที่จู่ ๆ ไอเทมราคาประมาณ 500k มันพุ่งสูงขึ้นมา 2-3m ได้ในเวลาไม่ถึงวัน และไม่มีเหตุผลอื่นเลยนอกจากขาดตลาด เราจะรู้ทันทีว่าคนขายถือสิทธิ์ในการผูกขาดและจะกำหนดราคาตามใจนึกได้ และเผลอ ๆ มันจะกลายเป็นราคาตลาดราคาใหม่ที่คนขายคนถัดไปจะขายราคานี้ตาม ๆ กันอีกด้วย ทำให้ของมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างโหดร้ายต่อผู้ซื้อครับ

4. ของไม่ขาด แต่ตั้งราคาดักคนใจเร็ว

image 637


กรณีนี้มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ กับไอเทมที่เป็นประเภทของใช้ ของตีบวก หรือแร่ต่าง ๆ ที่ผู้เล่นต้องใช้ครั้งละหลักสิบหลักร้อยชิ้น มันไม่ใช่ของที่ผู้เล่นจะซื้อทีละนิดทีละหน่อย ดังนั้นจึงมีพ่อค้าหัวหมอจำนวนไม่น้อยเลยที่ขายดักคนใจเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว จนสุดท้ายต้องมาเสียใจที่พลาดกดซื้อถ้าเกิดว่าคุณมีเงินในกระเป๋าเพียงพอ ยกตัวอย่าง ไอเทมโพชั่นชิ้นหนึ่งราคาแค่ 50 โดยปกติผู้เล่นทั่วไปจะชอบซื้อทีละ 100 ขวด ดังนั้นราคาที่ผู้เล่นต้องจ่ายคือ 5,000 แต่พ่อค้าคนนั้นจะตั้งราคาดักความคิดคุณเป็นขวดละ 5,000 และถ้าคุณใจเร็วคิดว่านั่นคือราคาที่คุณต้องจ่าย คุณก็จะกด 100 ขวดแบบไม่ต้องคิด และสรุปก็เสียเงินไป 500,000 แทนถ้าเงินในกระเป๋าคุณมากพอ มันเป็นเทคนิคดักความคิดผู้ซื้อแบบง่าย ๆ ที่เชื่อว่าเคยมีคนเสียรู้เพราะเคสนี้มาแล้วไม่น้อยครับ

5. ราคารับซื้อถูกกว่าราคาขายหลายเท่า

image 636


แน่นอนว่าไม่ใช่แค่คนขายเท่านั้นที่จะเอาเปรียบคุณ แต่คนรับซื้อของไปขายก็เอาเปรียบคุณเช่นกัน กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับเกมที่มีการรับของไปขาย รับร้อน หรือตั้งห้องรับของที่ต้องการ แม้เราจะเข้าใจด้วยหลักการง่าย ๆ ว่าราคารับมันต้องถูกกว่าราคาขายอยู่แล้ว แต่มันก็อาจจะมากเกินไปถ้าความต่างของราคานั้นห่างกันราวฟ้ากับเหว ถ้าราคารับซื้ออยู่ที่ 70-80% ของราคาขายมันก็ยังพอรับได้ แต่หลาย ๆ ครั้งที่เราเห็นเบสิคจะอยู่ที่ครึ่งต่อครึ่งหรือ 50% เลยทีเดียว และแน่นอนว่ามีพ่อค้าหน้าเลือดหลายคนที่รับราคาต่ำกว่านั้นมาก จาก 1m อาจเหลือ 300k ก็เป็นไปได้ ถ้าเป็นเกมที่บังคับว่าขายของต้องเป็นอาชีพพ่อค้าเท่านั้นก็จะยิ่งทำให้คนรับมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นด้วย เพราะผู้เล่นขาจรคงไม่อยากจะปั้นตัวใหม่เพื่อขายไอเทมแค่ชิ้นเดียวและไม่รู้ว่าจะออกเมื่อไหร่ เลยทำให้ต้องยอมจำใจขายในราคารับที่แสนถูกครับ

6. นอกเมืองแพงกว่าเสมอ

image 635


อีกหนึ่งวิธีหากินง่าย ๆ ของเกมบางเกมที่สามารถตั้งร้านขายของนอกเมืองได้ คือการเปิดร้านขายของจำเป็นในแผนที่เก็บเลเวลซะเลย เพราะของจำเป็นเช่น โพชั่น ใบวาร์ป ยาชุบ ยาบัฟ สิ่งเหล่านี้มักเป็นไอเทมเบสิคที่ซื้อมาได้ง่าย ๆ จาก NPC เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแค่ลงทุนเดินมาขายไกลหน่อยก็ได้กำไรเป็นกอง ผู้เล่นที่เก็บเลเวลอยู่ก็คงไม่อยากจะกลับเมืองแล้วมาใหม่เพียงเพราะยาหมด เนื่องจากมันเสียเวลาและเสียจังหวะในการเก็บเลเวล แต่บางครั้งก็แอบรู้สึกว่ามันขูดเลือดขูดเนื้อเกินไปนิดหน่อย ถ้าราคาโพชั่น 1 ขวด 100 บาท จะถูกอัพราคาเป็นเท่าตัว ขวดละ 200 หรือ 250 มันก็ค่อนข้างน่าเกลียดใช้ได้ ใครมีเงินก็ซื้อไป พ่อค้าก็ได้กำไร ส่วนคนทั่วไปก็ต้องเดินกลับเมืองไปตามระเบียบเพราะสู้ราคาไม่ไหวครับ

เป็นยังไงบ้างครับกับ “6 วิธีตั้งราคาขายของสุดแสบในเกมออนไลน์” ตรงกับประสบการณ์ที่เพื่อน ๆ เคยเจอกันบ้างหรือเปล่าเอ่ย เรื่องของการตั้งราคาก็เป็นเรื่องของดวงและจังหวะด้วย ว่าเราจะไปเจอในสถานการณ์แบบไหน แน่นอนว่าการเจอกับตัวคงไม่ค่อยแฮปปี้นัก แต่ถ้าเราเป็นคนขายมันก็อาจจะเป็นกำไรได้บ้าง แล้วเพื่อน ๆ ล่ะครับ เคยเจอประสบการณ์พ่อค้าตั้งราคาแบบอำมหิตแค่ไหน อย่างไร ลองคอมเมนต์บอกให้เราได้อ่านกันด้วยนะครับ

ที่มา
playlostark.comfacebook.comsites.google.comreddit.comfacebook.comthisisgamethailand.com

Jou Thunder

Content Creator สายเกมที่อยากทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ โปรดติดตามช่อง youtube.com/@JouThunder
Back to top button