10 การ์ดยูกิที่ถูกแก้ไขใหม่เมื่อวางขายนอกญี่ปุ่น
ด้วยหลากหลายเหตุผล ทั้งความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
หากพูดถึงการ์ดเกมที่มีอายุและได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะมีชื่อของ Yu-Gi-Oh! เป็นลำดับต้น ๆ ด้วยอายุของตัวการ์ดที่มากกว่า 20 ปี นับตั้งแต่วันแรกที่ออกมาสู่สายตาชาวโลก และด้วยความที่ตัวการ์ดได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ถูกนำไปผลิตและวางจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และแน่นอนว่าด้วยความที่ววัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ภาพที่อยู่ภายในตัวการ์ดหรือแม้กระทั่งชื่อเลยมีการดัดแปลงไปจากตันฉบับ ฉะนั้นในครั้งนี้เราจะมาดูกันว่ามีการ์ดใดบ้างที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อถูกนำไปวางจำหน่ายในพื้นที่ต่าง ๆ
ปริศนาที่ยังไม่ชัดเจนในการเปลี่ยนชื่อ Black Magician เป็น Dark Magician
หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับตัวละครหรืออาจจะเรียกว่ามอนเตอร์คู่ใจของมุโต้ ยูกิกันเป็นอย่างดีสำหรับชื่อภาษาไทยที่ใช้ว่าจอมเวทมนตร์ดํา แต่รู้หรือไม่ว่าชื่อของการ์ดใบนี้ในภาษาญี่ปุ่นมีชื่อเรียกว่า Black Magician อ้างอิงตามอักษรที่ใช้งานแบบคาตากานะว่า ブラック・マジシャン (Burakku Majishan) แต่พอมีการเผยแพร่ในนอกประเทศญี่ปุ่นชื่อเรียกของมันดันถูกเปลี่ยนไปเป็น Dark Magician ส่วนถ้าเกิดถามหาเหตุผลในตอนนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร บางส่วนอาจจะมองว่าการที่มีการเปลี่ยนจาก Black Magician เป็น Dark Magician อาจจะเป็นเพราะความหมายของคำว่า Black Magic เป็นคำที่ฟังดูแล้วไม่เหมาะสมเพราะอาจจะเกี่ยวกับศาสตร์และความเชื่อโบราณที่มากจนเกินไป จึงมีการเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่แทน
กระดานแห่งความตายที่ถูกละทิ้งความเชื่อออกไป
เป็นอีกหนึ่งการ์ดกับดับที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงแรกที่มีการเปิดตัวออกมาให้เราได้เห็นกันในช่วงที่มีการฉายภาคแบทเทิลซิตี้ ในตอนที่บาคุระใช้งานการ์ดใบนี้หลาย ๆ คนน่าจะมองว่ามันดูดีมากเพราะหากใช้งานครบก็ชนะทันที แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แต่เรื่องนั้นเราจะไม่พูดถึงมากนัก แต่จะมาโฟกัสที่การเปลี่ยนแปลงไปของภาพที่อยู่ภายในการ์ดที่แทบจะเรียกว่ายกเครื่องใหม่ทั้งหมด เนื่องจากการ์ดใบนี้มีชื่อว่า Destiny Board ขณะที่ภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า ウィジャばん (Wija Ban) ซึ่งคำว่า Wija Ban เมื่อแปลอีกรอบแล้วก็คือ Ouija Board นั่นเอง โดยต้นฉบับญี่ปุ่นภายในจะเป็นการเรียงกันของการ์ด 5 ใบที่มีอักษรเรียงต่อกันได้ว่า DEATH พร้อม ๆ กับมีกระดานอุยจาอยู่ในแต่ละใบ แต่ในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในการ์ดใบนี้ ได้มีการนำกระดานดังกล่าวออกไปจากการ์ด พร้อม ๆ กับเปลี่ยนอักษรจากเดิมที่เป็นคำว่า DEATH ให้กลายเป็นคำว่า FINAL แทน ส่วนสาเหตุของการเปลี่ยนในครั้งนี้คาดว่าน่าจะเป็นเพราะเรื่องของความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป
สัญลักษณ์เกี่ยวกับนาซีเป็นสิ่งต้องห้าม
นอกจากเรื่องของความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่คนทั่วโลกโดยเฉพาะโซนยุโรปไม่ยอมรับเด็ดขาดคือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับนาซี และมันก็เกิดปัญหาขึ้นจนได้กับหนึ่งในการ์ดที่ถูกออกแบบมาอย่าง Psychic Commander ในส่วนของการ์ดใบนี้ไม่ได้มีปัญหาที่ชื่อเรียก แต่เป็นปัญหาของภาพที่อยู่ภายในตัวการ์ดที่ตัวการ์ดญี่ปุ่นจะเป็นการยกแขนขวาขึ้นและชู 5 นิ้ว ที่ดูคล้ายกับสัญลักษณ์ของนาซีที่ออกมาในลักษณะคล้ายคลึงกัน ฉะนั้นเพื่อเป็นการลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นจึงเปลี่ยนจากการชู 5 นิ้ว กลายเป็นการชูนิ้วชีและโป้งในลักษณะเครื่องหมายถูกแทน
Exodia ผู้ถูกเปลี่ยนไปมาไม่มีสิ้นสุด
เรียกว่าเป็นการ์ดที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้มีโอกาสได้ใช้งานกันมากเท่าไหร่นักเนื่องจากความยากและต้องอาศัยจังหวะที่ดีที่สุดในการเล่นกับ Exodia จะว่าไปแล้วไม่แน่ใจเหมือนกันว่าประเด็นในส่วนนี้เริ่มต้นจากทางญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะการ์ดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่าง Exodia เกิดขึ้นกับการ์ด TCG เท่านั้น เพราะเริ่มแรกตัวการ์ดมีการเพิ่มวงแหวนด้านหลังของ Exodia และด้านหน้าบริเวณอกของ Exodia จะมีลักษณะที่คล้ายกับกางเขน พวกเขาเลยมีการเปลี่ยนภาพของการ์ดใหม่ด้วยการลบวงแหวนด้านหลังออก และเปลี่ยนสิ่งที่ดูคล้ายกางเขนให้กลายเป็นรูปดาวแฉกแทน แต่หากเราไปดูต้นกำเนิดของการ์ดจากญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า OCG จะพบว่าของเดิมที่ทำออกมาไม่ได้มีวงแหวนด้านหลังและสัญลักษณ์คล้ายกางเขนอยู่แล้ว เรียกว่าอาจจะเป็นความอยากเปลี่ยนของทางฝั่ง TCG ให้แตกต่างแทน แต่เมื่อเห็นว่าไม่เหมาะเลยปรับมาให้เป็นแบบเดียวกับ OCG ในภายหลัง
อะไรที่เด่นชัดเกินไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นธรรมดา
หากมองว่าความเชื่อเป็นตัวตั้งการ์ดอย่าง Dark Ruler Ha Des น่าจะเป็นอะไรที่เข้าข่ายทั้งหมด ด้วยความที่ต้นแบบเป็นการวาดออกมาในเชิงปีศาจอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเขาที่อยู่ตรงหัว แก้วไวน์ที่มีสีแดงอันเป็นการตีความหมายว่าเป็นเลือด ฉะนั้นในเมื่อมันออกมาในเชิงสัญลักษณ์ที่ตีความได้ขนาดนี้ การเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ฉะนั้นเขาที่มีอยู่จึงถูกแทนที่ด้วยผลึกทรงกลมสีน้ำเงิน และแก้วไวน์ที่มีของเหลวสีแดงจึงเปลี่ยนเป็นสีเขียวแทน เพราะอะไรที่มันสื่อถึงปีศาจและซาตานมากจนเกินไปอาจจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประเด็นได้ในภายหลัง
ไบเบิลกับกางเขนเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้
ยังคงวนเวียนอยู่กับความเชื่อทางศาสนาที่ดูจะเป็นสิ่งที่พยายามเลี่ยงให้ได้มากที่สุด และการ์ดอย่าง Exile of the Wicked ที่มีการนำสัญลักษณ์ของศาสนามาใช้งานอย่างคัมภีร์ไบเบิลและกางเขนจึงเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยน ฉะนั้นจากของทั้งสองสิ่งจึงถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่ดูคล้ายกับขวดยาแทน ซึ่งภายในหากดูจากภาพและชื่อแล้วคงจะบอกว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ก็ว่าได้
ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็ทำขึ้นมาใหม่เสียเลย
สำหรับการ์ดบางใบเราอาจจะยังได้เห็นโครงเดิมอยู่บ้างแต่สำหรับการ์ดอย่าง Dramatic Rescue ได้มีการทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่เป็นภาพหญิงสาวกับเครื่องประหารกิโยติน พร้อมกับมือที่ยื่นออกไปช่วย แต่ด้วยภาพความรุนแรงอย่างกิโยตินที่แม้ในอดีตจะมีเครื่องนี้จริง แต่ก็เลิกใช้ไปนานแล้ว พร้อมกับหญิงสาวในภาพที่ดูจะนุ่งน้อยห่มน้อยและหน้าอกที่ใหญ่จนเกินไป จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด จากเครื่องประหารกลายเป็นหญิงสาวที่ถูกผูกติดกับต้นไม้แทน พร้อม ๆ กับชุดที่ใส่ที่มีความมิดชิดมากยิ่งขึ้น
นอกจากการ์ดอย่าง Dramatic Rescue ยังมีการ์ดอีกหนึ่งใบที่ถูกทำขึ้นมาใหม่แบบไม่เหลือโครงเดิมใด ๆ อีกต่อไปอย่าง Last Day of Witch ที่จากเดิมเป็นภาพของหญิงสาวที่ถูกจับมัดมือและขากำลังนั่งคุกเข่า โดยที่มีทหารเหมือนตะโกนสั่งการอะไรอยู่ ซึ่งบริบทของภาพคงต้องบอกว่าอาจจะดูรุนแรงจริงและกับชื่อภาพที่อาจจะดูเหมือนที่ต้องการสื่อถึงการล่าแม่มดในอดีตที่มีการทารุณอย่างรุนแรง ฉะนั้นเพื่อเป็นการลดปัญหาจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงไปใหม่ทั้งหมด ด้วยภาพของแม่มดกับเครื่องหมายต้องห้ามด้านหลัง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้คงต้องบอกว่ามัน … เอาเป็นว่าขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนดีกว่า
อกใหญ่เกินไปก็ไม่ได้
ไม่รู้ว่าชาวต่างชาติที่ดูจะเปิดเผยและให้อิสระมากกว่าทำไมถึงได้ค่อนข้างที่จะจริงจังกับเรื่องขนาดหน้าอก เพราะการ์ด Dark Magician Girl จากเดิมของญี่ปุ่นจะมีขนาดหน้าอกที่ดูใหญ่ แต่พอมาเป็นของ TCG ดันมีการลดขนาดลงไป แต่เราอาจจะโฟกัสผิดจุดก็ได้ เพราะสาเหตุที่พวกเขาเปลี่ยนแปลงจริง ๆ อาจจะเป็นเรื่องของรูปดาวห้าแฉกที่อยู่บริเวณหน้าอกที่ถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่เหมือนเม็ดอัญมณีแทน นี่อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งไม่ดี
แน่นอนว่าการ์ดยูกิคงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตมองว่าเด็กน่าจะชอบและเล่นเป็นส่วนใหญ่ (แต่จริง ๆ แล้วคนเล่นส่วนมากไม่ได้เป็นเด็ก) ฉะนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจจะเป็นสิ่งที่ยังไม่เหมาะสมที่จะนำเสนอให้กับเด็กได้เห็น ทำให้การ์ดอย่าง Number 41: Bagooska the Terribly Tired Tapir ที่จากเดิมจะมีขวดเบียร์จำนวนมาก จึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยหมอนและหมอนข้างแทน เรียกว่าหากมองจากเจ้า Bagooska ที่นอนน้ำลายไหลอยู่ การแทนที่เบียร์ด้วยหมอนข้างแทนก็เข้ากับบริบทของมันไม่น้อย
และนี้ก็คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงของการ์ดยูกิเมื่อถูกนำไปเผยแพร่ในพื้นที่นอกประเทศญี่ปุ่น บางอย่างเป็นสิ่งที่เราพอจะเข้าใจได้ถึงสาเหตุในการเปลี่ยนแปลงอย่างเช่นความเชื่อ แต่บางส่วนก็ทำให้เกิดอาการคิดหนักไม่น้อยว่า ไหน ๆ จะแก้ไขแล้วทำให้ดีกว่านี้เสียหน่อยไม่ได้หรือ ยังมีการ์ดอีกหลายใบที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กน้อยจนเราแทบจะไม่ได้สังเกตเห็น แต่ช่วงหลังเราจะเริ่มเห็นการยอมรับมากยิ่งขึ้นทำให้การเปลี่ยนแปลงน้อยลงไปกว่าเมื่อก่อนมากแล้ว