คณะซอฟต์พาวเวอร์เกมแจกแบบความคิดเห็น พ.ร.บ. ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
โอกาสที่เกมเมอร์จะได้เป็นส่วนหนึ่งการขับเคลื่อนวงการเกมไทย
ในตอนนี้ต้องยอมรับเลยครับว่าประเทศไทยของเรากำลังเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจสำหรับเหล่าผู้พัฒนาเกมมากเพราะไม่ว่าค่ายไหนก็ล้วนอยากสนับสนุนการทำตลาดรวมไปถึงการพัฒนาฟีเจอร์รองรับคนไทยมากขึ้น อาทิคำบรรยายหรือเสียงพากย์ไทย เช่นเดียวกับทางรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย และคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็พร้อมให้การผลักดันไทยสู่ Hub ของตลาดดิจิทัลด้วย
ล่าสุด วันนี้เพจคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม ซึ่งจะดูแลเรื่องการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์วิดีโอเกมก็ได้ออกมาเปิดเผยความเคลื่อนไหวใหม่ๆ สำหรับ THACCA หรือหน่วยงานสนับสนุนเครือข่ายความสร้างสรรค์ของประเทศไทยที่จะเป็นผู้เล่นในบทบาทสำคัญสำหรับการร่วมมือจากส่วนภาครัฐ โดยมีการเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปร่วมทำแบบสอบถามเพื่อแสดงความคิดเห็น พ.ร.บ. ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และในหมวดนี้จะเกี่ยวข้องกับเกมครับ
เบื้องต้นใน พ.ร.บ. ที่จะเกี่ยวข้องกับเกมตามร่าง จะมีดังต่อไปนี้คือ มาตรา 5, มาตรา 55, มาตรา 64 – 85 และมาตรา 86-114 ที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของคนทำเกมในไทยต่างหน้าที่กัน เริ่มจากข้อแรกที่เป็นเสาหลักคือ ‘กำหนดให้เกมและอีสปอร์ตเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุน’, ข้อสอง คณะรัฐมนตรีตามการเสนอจากกรรมการฯ จะมีอำนาจเพื่อโอนเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลมาช่วยเหลือ, ข้อสาม ส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับส่วนธุรกิจนี้ (นั่นคือเกม) และมีการครอบคลุมถึงงานด้านอื่นเช่น การพัฒนาหลักสูตร การรับรองคุณวุฒิ ส่วนข้อสุดท้ายจะส่งเสริมวิสาหกิจหรือร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ
คลิกที่นี่เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์แบบสอบถาม: Law.go.th
เห็นแบบนี้ต้องยกนิ้วให้จริงๆ และแน่นอนว่าเพื่อนๆ ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้วย และอย่าลืมเป็นกำลังใจให้ทีมงานกันทุกคนเพราะคณะกรรมการฯ ล้วนเป็นเบอร์ต้นๆ ของวงการเกมไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าทีมอย่าง คุณสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ ตัวแทนจากสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทยหรือ Thai Game Software Industry Association (TGA) หรือจะเป็น หัวเรือใหญ่จากค่ายต่างๆ โดยสามารถติดตามข่าวสารจาก ThisIsGame Thailand ได้ข้างล่างนี้เลย
อีกด้านหนึ่งนโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์เป็นส่วนหนึ่งของ THACCA ซึ่งเป็นแผนงานของพรรคเพื่อไทยในการสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง เริ่มต้นได้จากการพัฒนาความสามารถของตนเองในครอบครัวจนเป็น OFOS หรือ One Family One Soft Power เปลี่ยนทักษะหรืองานอดิเรกที่ประชาชนเป็นรายได้ ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ และแน่นอนว่าวิดีโอเกมเองก็นับเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่สามารถระเบิดความสร้างสรรค์ได้ โดยอนาคตจะมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ที่จะร่วมเป็นตัวอัดฉีดภูมิปัญญาและความสามารถได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย