รีวิวรีวิว / พรีวิวเทคโนโลยี

[รีวิว] MacBook Air M3 รุ่น 15 นิ้ว

อัปเกรดประสบการณ์การเล่นเกมด้วยชิปเซ็ตขุมพลังใหม่ล่าสุด เล่นเกมหนักแบบปรับสุดได้ไร้กังวล

MacBook Air M2 เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2022 ถือเป็นการอัปเกรดครั้งสำคัญสำหรับ MacBook Air มาพร้อมดีไซน์ใหม่ หน้าจอ Liquid Retina แป้นพิมพ์ Magic Keyboard ชิป M2 อันทรงพลัง ล้วนเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดผู้ใช้

ตัดภาพมาที่ MacBook Air M3 ที่เปิดตัวในปี 2024 นี้ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ แต่ได้มีการอัปเกรดภายในด้วยการใช้ชิป M3 ใหม่ หลายคนอาจมองว่า M3 MacBook Air นั้นน่าสนใจน้อยกว่า M2

แต่ MacBook Air M3 อาจมีความน่าสนใจมากกว่า มาจากเหตุผลหลักคือหากใครที่ยังมีการใช้งานรุ่นที่ใช้ชิปของ Intel มาก่อนตอนนี้อาจถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว เนื่องจากทาง Apple มีแผนที่จะยกเลิกการสนับสนุนในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับชิปดังกล่าว หลังสามารถผ่านการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชิปภายในได้ในที่สุด

เรามาดูกันดีกว่าว่าภายในปีนี้ทาง Apple ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าสนใจบ้างภายใน MacBook Air M3 และจะคุ้มค่ากับการเปลี่ยนแปลงมาใช้งานสำหรับผู้ใช้หรือไม่

Design

ในแง่ของการดีไซน์ตัวเครื่องต้องยอมรับว่าหากมองจากภายนอกเราแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ยังคงเป็นดีไซน์ที่ถูกนำมาใช้งานตั้งแต่ MacBook Air รุ่นแรกที่มีการนำมาใช้งาน อย่างไรก็ตามนั่นอาจพอที่จะบอกได้ว่ามันเป็นงานที่ถูกยอมรับจากผู้ใช้งานและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวตนทำให้ทุกสิ่งที่เรามองเห็นได้จาก MacBook Air M3 ยังคงเอาไว้ซึ่งเอกลักษณ์

ภาพรวมของตัวเครื่องที่สังเกตเห็นได้คือความหนาของตัวเครื่องที่หากนำไปเทียบกับเครื่องรุ่นก่อนอาจจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่ส่วนของพื้นที่หน้าจอด้านบนค่อนข้างที่จะถูกออกแบบมาให้ราบเรียบยิ่งขึ้น ไม่มีลักษณะของการโค้งขึ้นมาเล็กน้อยเหมือนรุ่นก่อน

พอร์ตการใช้งานที่ให้มายังคงเอาไว้แบบเดียวกันกับรุ่นก่อนนั่นคือการได้พอร์ต MagSafe 3 และ USB-C 2 พอร์ต พร้อมหูฟังที่ด้านขวาของตัวเครื่อง ใช่แล้วพอร์ตสำหรับการเสียบเพื่อชาร์จไฟทั้งหมดถูกนำมาอยู่ที่ด้านซ้ายมือของตัวเครื่อง และด้วยความที่ใช้งานพอร์ต USB-C ทำให้ใครที่ไม่อยากพกที่ชาร์จของตัวเครื่องสามารถที่จะใช้สายใดก็ได้มาเสียบเข้ากับตัวเครื่อง

สิ่งที่โดดเด่นสำหรับตัวเครื่อง MacBook Air M3 15 นิ้ว คือเรื่องของพื้นที่ในการแสดงผลที่ใหญ่เต็มตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับใครที่ต้องการเครื่องใช้งานที่ไม่ได้ต้องการเล่นเกมที่เฉพาะเจาะจงหรือทำอะไรที่หนักมากเกินกว่าการใช้โปรแกรมอย่างเช่น Lightroom ถือว่าตัวเครื่องทำออกมาได้เหมาะเจาะราวกับว่าเป็นเครื่องที่อยู่ในอุดมคติในการใช้งาน รวมถึงลำโพงของตัวเครื่องที่ให้รายละเอียดของเสียงได้ครบถ้วน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่กลายเป็นเรื่องที่ทำให้ขัดใจไม่น้อยคือเรื่องของรอยบากบนหน้าจอที่ค่อนข้างกว้าง แม้ว่าการใช้งานทั่วไปถ้าเราทำการเปิด Dark Mode แทบจะไม่เห็นว่ามีรอยดังกล่าวอยู่ แต่ทันทีที่เราจะใช้งานกล้องของตัวเครื่องหรือฟังก์ชันการทำงานอื่น ๆ ที่ต้องใช้จะพบว่าพื้นที่มันค่อนข้างที่จะเหลือพื้นที่มากจนเกินไป

แน่นอนว่าผู้ใช้งานสามารถที่จะซ่อนพื้นที่ดังกล่าวด้วยการซ่อนแถบเมนูต่าง ๆ ได้ แต่คงเป็นการเสียพื้นที่โดยเปล่าประโยชน์ที่จะทำมัน เนื่องจากเราจะพบว่ามีพื้นที่แถบดำมากเกินความจำเป็น

สิ่งสุดท้ายที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปคือการใช้งานสารเคลือบพื้นผิวด้านนอกรอบตัวเครื่องแบบใหม่ที่จะช่วยลดการทิ้งร่องรอยลายนิ้วมือได้มากยิ่งกว่าเดิม อย่างไรก็ตามการลดลงไม่ได้เป็นการบอกว่ามันจะหายไปจนไม่มี เพราะหากนิ้วของเรายังคงเปียกหรือมัน เมื่อนำไปจับที่พื้นผิวก็จะยังคงทิ้งลอยนิ้วมือไว้เช่นเคย โดยสีที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้คือ Midnight

Features

MacBook Air M3 มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่หากใครชื่นชอบในการใช้งานหน้าจอเสริมสำหรับเครื่องมาอยู่ก่อนแล้วจะต้องชื่นชอบ เนื่องจากตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อกับหน้าจอภายนอกได้ถึงสองจอในเวลาเดียวกัน ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกของทาง Apple กับเครื่อง MacBook Air ที่รองรับการใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของการใช้งานสองหน้าจอคือใครที่หวังว่าจะใช้งานได้พร้อมกันถึง 3 หน้าจอในเวลาเดียวกันจะต้องผิดหวัง เนื่องจากการที่เราจะใช้งานสองหน้าจอในเวลาเดียวกัน ผู้ใช้งานจำเป็นที่จะต้องทำการปิดบานพับหน้าจอของตัวเครื่องเสียก่อนถึงจะสามารถใช้งานได้ โดยการใช้งานคือเสียบเข้ากับพอร์ต USB-C ทั้ง 2 ของตัวเครื่องเท่านั้น

แน่นอนว่าหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานหน้าจอครบถ้วนสิ่งที่ผู้ใช้งานจะเสียไปเลยนั่นคือการใช้งานเมาส์และคีย์บอร์ดที่ต้องมีการเชื่อมต่อเข้ากับตัวเครื่อง ฉะนั้นต้องหาอุปกรณ์เสริมที่รองรับการใช้งานไร้สายแยกมาประกอบด้วยเช่นกัน

Performance

จุดเด่นของการมาถึงสำหรับ MacBook Air M3 คงหนีไม่พ้นเรื่องของชิปเซ็ตใหม่ที่ได้ใช้งาน M3 สิ่งที่แตกต่างไปจากรุ่นก่อนคือระบบระบายความร้อนที่ถูกออกแบบใหม่ ให้ไม่ใช้งานพัดลมใด ๆ มาช่วยในการทำงาน ทุกอย่างถูกนำพาความร้อนออกด้วยฮีทซิงค์เท่านั้น ทำให้นี่เป็นจุดที่หลายคนมีความเป็นกังวลว่าจะสามารถเอาอยู่กับประสิทธิภาพเครื่องที่สูงขนาดนี้หรือไม่

การทดสอบที่เรานำมาให้ได้เห็นกันในครั้งนี้จะประกอบไปด้วยหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นการทดสอบผ่านโปรแกรมที่มีการแสดงตัวเลขผลการทดสอบออกมา การเล่นเกมและการใช้งานด้านอื่น โดยเรามาเริ่มกันที่การทดสอบประสิทธิภาพผ่านโปรแกรมกันก่อน

ปัจจัยที่เราควบคุมในการทดสอบในครั้งนี้คือการใช้งานเครื่องโดยที่อยู่ในอุณหภูมิห้องแบบปกติตามสภาพอากาศของประเทศเราในตอนนี้ อยู่ที่ 36 องศาเซลเซียส วางตัวเครื่องเอาไว้บนสแตนที่มีพื้นที่ว่างด้านล่าง ทดสอบโดยมีการเสียบชาร์จเอาไว้และไม่เสียบเพื่อให้เห็นว่ามีการลดทอนประสิทธิภาพหรือไม่ แบตเตอรี่อยู่ในระดับ 80-100 เปอร์เซ็นต์

เริ่มกันที่ Cinebench 2024 ผลการทดสอบออกมาดังกราฟด้านล่าง

ตามมาด้วยการทดสอบ Geekbench 6 ได้ผลทดสอบออกมาดังนี้

จากผลการทดสอบเบื้องต้นเราพอจะสรุปได้ว่า MacBook Air M3 ไม่ได้มีการจำกัดประสิทธิภาพการทำงานใด ๆ ของตัวเครื่องว่าหากมีการใช้งานในลักษณะที่ไม่มีการชาร์จเอาไว้จะลดทอนประสิทธิภาพของเครื่อง อย่างไรก็ตามหากแบตเตอรี่ลดลงต่ำกว่าที่กำหหนดและถึงจุดที่ตัวเครื่องจะเปิดใช้งานโหมดประหยัดพลังงานจะมีผลตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

ต่อไปเรามาดูการทดสอบในส่วนของการเล่นเกมกันบ้างโดยเกมที่เราจะนำมาทดสอบจะเป็นเกมที่พึ่งถูกนำมาลงให้กับระบบ macOS อย่าง Honkai Impact 3rd และ Death Stranding Director’s Cut โดยเราจะทำการเปิดการตั้งค่ากราฟืกสูงที่สุดในแต่ละเกม และจะเน้นความสำคัญกับอุณหภูมิก่อน ระหว่างและหลังจากที่เล่นไป การทดสอบ 1 ชั่วโมงบวก 5 นาทีหลังจากที่เปิดตัวเกมได้ผลลัพธ์ออกมาดังนี้

จะเห็นว่าอุณหภูมิของตัวเครื่องแม้จะอยู่ในจุดที่สูงที่สุดยังคงไม่เกินไปจาก 80 องศาเซลเซียสมากนัก ถึงจะเป็นการเล่นเกมที่กราฟิกหนักก็ตาม จึงพอจะบอกได้ว่าระบบระบายความร้อนในตัวเครื่องสามารถที่จะคุมประสิทธิภาพในการทำงานได้ อย่างไรก็ตามสำหรับใครที่คิดว่าอยากจะเล่นผ่านการกดคีย์บอร์ดของตัวเครื่องหรือวางมือเอาไว้กับเครื่องขณะเล่นเหมือนโน๊ตบุ๊คสำหรับเล่นเกม ขอไม่แนะนำอย่างยิ่งเนื่องจากรอบ ๆ บริเวณผิวสัมผัสของตัวเครื่องค่อนข้างที่จะอุ่นไปทางร้อนที่รู้สึกได้ ฉะนั้นการจะเล่นเกมผ่าน MacBook Air M3 เราคงต้องแนะนำเป็นการใช้งานผ่านจอยจะดีที่สุด

ด้านประสิทธิภาพขณะที่ะทำการเล่นไม่พบว่ามีอาการเฟรมตกน่าเกลียดจนไม่สามารถเล่นได้ ในฉากที่มีการเคลื่อนไหวหรือเอฟเฟกต์เยอะไม่มีปัญหากระตุกให้ได้เห็น แต่เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าไม่พบอาการเฟรมตกเลยขณะที่ทดสอบเล่นต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีบางช่วงของการเล่นที่เฟรมเรทตกลงจนรู้สึกได้ แต่ใช้เวลาไม่นานก็สามารถที่จะกลับมาเล่นได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องรู้สึกว่าต้องกังวลอะไร

สำหรับแบตเตอรี่ที่ทำการทดสอบทั้งหมดทุกอย่างแบบต่อเนื่องจาก 100 เปอร์เซ็นต์ ณ เวลาที่ใช้ผ่านไปประมาณ 4 ชั่วโมงพบว่าลดลงมาเหลือราว 75 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นตัวเลขที่ส่วนตัวแล้วค่อนข้างน่าพอใจอย่างมาก กับการทดสอบตัวเครื่องที่มีการรีดประสิทธิภาพในการทำงานออกมาทั้งหมด และต้องไม่ลืมว่าเราทดสอบในห้องที่สภาพอุณหภูมิไม่ได้ถูกควบคุมด้วยแอร์ใด ๆ เป็นสภาพตามอุณหภูมิห้อง

การใช้งานในด้านอื่นของตัวเครื่อง MacBook Air M3 โดยเฉพาะในรุ่นที่มีหน้าจอขนาด 15 นิ้ว ทำให้เราได้พื้นที่ในการเปิดโปรแกรมหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันได้สะดวกยิ่งขึ้น และด้วยความที่มาพร้อมกับระบบ macOS ทำให้ประสบการณ์การเปิดใช้งานหลาย ๆ อย่างไม่มีสะดุดในแง่ของการเล่นเกมเราอาจจะเห็นอาการกระตุกเล็กน้อยในบางครั้ง แต่สำหรับการใช้งานทั่วไปไม่มีอาการสะดุดใด ๆ ให้เราได้เห็น

Battery

แบตเตอรี่กับ MacBook Air M3 หรือกับรุ่นก่อน ๆ ถือว่าเป็นจุดเด่นของตัวเครื่องมาโดยตลอด และในรุ่นใหม่ล่าสุดที่ทาง Apple อ้างว่าสามารถที่จะใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนาน 18 ชั่วโมง จากการใช้งานเราพอจะมองเห็นภาพได้ว่ามันมีโอกาสเป็นแบบนั้นได้จริง เนื่องจากการใช้งานจริงโดยเฉพาะหากไม่เข้าไปเล่นเกมใด ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และใช้งานทั่ว ๆ ไปไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อ แต่งภาพ หรืออื่น ๆ พบว่าสามารถที่จะอยู่ได้นานถึง 2 วันโดยที่ไม่ต้องชาร์จ ส่วนเมื่อเข้าวันที่ 3 อาจจะต้องมีการชาร์จเข้ามาเกี่ยวข้องช่วงเย็น ๆ ของวัน อย่างไรก็ตามระยะเวลาความยาวนานขึ้นอยู่กับการใช้งานขอแต่ละคน แต่คงไม่มีใครที่จะนำ MacBook Air M3 ไปใช้งานแบบจัดเต็มแบบรีดประสิทธิภาพออกมาเต็มรูปแบบ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นไปรุ่น Pro น่าจะตอบโจทย์กว่า

Conclusion

MacBook Air M3 ถือเป็นการอัปเกรดที่อาจจะมองได้ในสองด้าน มุมหนึ่งมันอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างไม่น่าสนใจในแง่ของการดีไซน์ตัวเครื่องที่ไม่ได้ปรับสิ่งใหม่ แต่หากเรามองอีกมุมที่มาพร้อมกับการใช้งานชิปเซ็ต M3 จะพบว่านี่เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับการอัปเกรดเครื่องรุ่นเดิมที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใครที่ใช้งาน MacBook Air รุ่นเก่าที่ใช้งานชิปเซ็ตของ Intel หรือใช้งาน M1 อยู่และรู้สึกว่าอยากได้การเล่นเกมในตัวที่ครบจบ นี่เป็นตัวเลือกที่มาถูกทางแล้วด้วยราคาเริ่มต้น 46,900 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สามารถซื้อมาแล้วใช้ได้ในระยะยาวแบบไม่ต้องกังวลอะไร

จุดเด่น

  • ดีไซน์ตัวเครื่องที่ทำให้โดยรวมมีขนาดที่บางยิ่งขึ้น
  • ไร้พัดลมระบายความร้อนในตัวทำให้ตัวเครื่องเงียบแม้ใช้งานหนัก
  • หน้าจอ Liquid Retina ที่ยังคงเอาไว้ซึ่งคุณภาพในการแสดงผล
  • คีย์บอร์ดมาพร้อมกับไฟ Back-lit ในตัว
  • ประสิทธิภาพชิป M3 ที่ตอบโจทย์คนที่อยากได้เครื่อง Macs สำหรับการเล่นเกม
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้นานหลายวันโดยไม่ต้องชาร์จ
  • รองรับการใช้งานเชื่อมต่อหน้าจอภายนอกสองจอ
  • หนักเพียง 1.51 กิโลกรัม

จุดสังเกต

  • พอร์ตการใช้งานค่อนข้างจำกัด
  • วัสดุใหม่สำหรับตัวเครื่องที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดรอยนิ้วมือ ยังคงทิ้งรอยนิ้วมือเอาไว้ให้เห็นได้ชัด
  • รอยบากบนหน้าจอที่ยังคงออกแบบมาได้ไม่ดีนัก
  • ราคาค่อนข้างสูงหากต้องการ RAM และที่เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทาง Apple ประเทศไทยที่ได้ทำการส่ง MacBook Air M3 มาให้เราทำการทดสอบกัน ใครสนใจก็สามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ตาม Apple Store, ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และร้านค้าไอทีชั้นนำทั่วไป

สั่งซื้อสินค้าได้ที่ [คลิก]

Artherlus

แค่คนทั่วไปที่หลงใหลในวงการไอที
Back to top button