รีวิว

[รีวิว] Fire Emblem Engage – รวมตัวเหล่าวีรชนผู้กล้า ในสงครามมังกรพิโรธ

เกม Turn-based Strategy RPG ที่เข้าถึงได้ง่ายกับผู้เล่นทุกคน

Fire Emblem Engage เป็นเกมในลำดับที่ 17 ของซีรีส์ Fire Emblem ในฐานะเกมซีรีส์หลัก โดยเกมนี้เป็นเกมวางแผนการรบแบบ Turn-based Strategy RPG ที่เราจะได้รับบทเป็น Alear มังกรศักดิ์สิทธิ์ที่ตื่นจากการหลับใหล ที่จะต้องรวบรวมแหวนแห่งวีรชนให้ครบทั้ง 12 วงเพื่อปกป้องโลกจากมังกรร้าย

และในโอกาสนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสงครามนี้มาแล้ว และผู้เขียนก็ไม่พลาดที่จะมานำเสนอรีวิวเกมที่น่าสนใจให้ทุกคนได้ติดตามกันครับ

อนึ่ง… การรีวิวนี้เกิดขึ้นบน Switch ระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม 2566 หากผู้อ่านกลับมาอ่านในภายภาคหน้า ข้อสังเกตบางข้ออาจมีการแก้ไขเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้

กราฟิกงามหยด สีสันสดใส เอฟเฟกต์ตระการตา ลื่นไหลโดนใจ

image

ผู้เขียนยอมรับเลยว่าสิ่งแรกที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจซื้อเกม Fire Emblem Engage มาเล่นก็เพราะการใช้โทนสี และกราฟิกภายในเกมที่โดนใจมาก ๆ ตั้งแต่แรกเห็น โดยเฉพาะสีผมของตัวเอกของเราที่ใช้สีแดงและสีน้ำเงินผสมกันทำให้ตัวละครนี้โดดเด่นและดึงดูดสายตาแบบสุด ๆ จนกระทั่งผู้เขียนได้เล่นเกมนี้ด้วยตนเองก็ต้องบอกเลยว่า ไม่ผิดหวังเลยแม้แต่น้อย

image 1

ในส่วนของกราฟิกภายในเกมถูกทำออกมาเป็นกราฟิกการ์ตูนเซลเฉดสีสันสดใส โดยภาพรวมของกราฟิกภายในเกมนี้ก็ทำออกมาได้งามหยดจนไม่อยากเชื่อว่านี่คือ การเล่นเกมบนเครื่องเล่นเกมพกพา เพราะคุณภาพของกราฟิกเรียกได้ว่าสวยงามไม่แพ้เกมบนคอนโซลเครื่องใหญ่ ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นโมเดลของตัวละครที่ออกแบบมาได้สมกับการเป็นซีรีส์ Fire Emblem , พื้นผิวของสิ่งต่าง ๆ ในฉากที่อยู่ในระดับน่าพึงพอใจ บางจุดอาจไม่คมชัดบาดตา แต่ก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการเล่นเกมนั้นเสียไป รวมไปถึงเอฟเฟกต์ของเกมนี้ถือว่าทำออกมาได้ดีมาก ๆ โดยเฉพาะเอฟเฟกต์ท่าโจมตีต่าง ๆ ที่จัดมาให้แบบตระการตาเลยทีเดียว

นอกจากนี้ความลื่นไหลภายในเกมยังเรียกได้ว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก ๆ โดยเฉพาะเวลาต่อสู้ภายในเกมที่ทุกท่วงท่าในการต่อสู้นั้นจะลื่นไหลมาก ๆ ไม่มีสิ่งที่ขัดตาขัดใจเลยแม้แต่น้อย ทำให้เมื่อองค์ประกอบทั้ง 4 อย่างที่พูดมานี้มารวมกัน ทำให้เกม Fire Emblem Engage กลายเป็นอีกหนึ่งเกมที่คุณภาพของกราฟิกควรได้รับคำชื่นชม

ระบบ Engage ที่เป็นระบบสำคัญที่ส่งผลต่อเกมเพลย์และความรู้สึก

image 2

Fire Emblem Engage มาพร้อมระบบที่โดดเด่นที่สุดก็คือระบบ Engage ที่เราจะใช้พลังของ Emblem Ring เพื่อใช้พลังของวีรชนในอดีตทั้ง 12 คน โดยแหวนในเกมมีทั้งหมด 12 วง โดยแต่ละวงจะเป็นที่สถิตของวีรชนที่แตกต่างกันไป ซึ่งระบบนี้ส่งผลกับเกมเพลย์โดยตรงก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเรียกใช้ระบบ Engage จะทำให้เราได้รับค่าพลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเรียกว่า “Engaged State” ซึ่งวีรชนแต่ละคนก็จะมอบพลังที่แตกต่างกันออกไป (แถมชุดที่โชว์พลังจากการ Engage ก็ยังสวยสะพรั่งอีกด้วย)

image 3

ตัวอย่างเช่น Marth ตัวละครหลักเปิดตัวครั้งแรกใน Fire Emblem: Shadow Dragon and the Blade of Light ซึ่งถือได้ว่าเป็นฮีโร่คนแรกของซีรีส์นี้เลย โดยจุดเด่นของตัวละครนี้ก็คือการต่อสู้ระยะประชิดที่รวดเร็ว ในขณะที่ Sigurd ฮีโร่ที่ปรากฏตัวครั้งแรกใน Fire Emblem: Genealogy of the Holy War จะโดดเด่นจากการต่อสู้ด้วยหอก หรือ Celica ที่ปรากฏตัวครั้งแรกใน Fire Emblem Gaiden โดยจุดเด่นของเธอคือเวทมนตร์ที่ทรงพลัง

image 4

นอกเหนือจากการที่ระบบนี้มีผลต่อเกมเพลย์แล้ว หากใครที่เคยเล่นเกมซีรีส์นี้มาก่อน ก็บอกได้เลยว่าส่งผลต่อความรู้สึกแบบเต็ม ๆ อีกด้วย เพราะอย่างที่เราทราบแล้วว่าเกมนี้จะอัญเชิญวีรชนทั้ง 12 คนในอดีตกลับมา ทำให้แฟนเกมซีรีส์นี้จะได้พบกับฮีโร่คนแรกของซีรีส์อย่าง Marth จาก Fire Emblem: Shadow Dragon and the Blade of Light ในปี 1990 มาจนถึงฮีโร่คนล่าสุดอย่าง Byleth ทหารรับจ้างที่ปรากฏตัวครั้งแรกใน Fire Emblem: Three Houses ในปี 2019 ฉะนั้นแฟนเกมนี้ตั้งแต่อดีตรับรองว่ายิ้มแก้มปริแน่นอน

เกมเพลย์ Strategy ที่เจ๋ง ครอบคลุมทุกความจำเป็น แถมเข้าถึงได้ง่าย

image 5

ในส่วนของเกมเพลย์เป็นสิ่งที่ทำให้เกมนี้โดดเด่นขึ้นเป็นอย่างมากด้วยระบบเกมวางแผนการรบที่ครอบคลุมองค์ประกอบที่จำเป็นแถมยังเข้าถึงได้ง่ายตามสโลแกนที่ผู้พัฒนาเคยบอกไว้ว่าเกมนี้จะเป็นเกม Fire Emblem สำหรับทุกคน (Fire Emblem For All) ซึ่งหลังจากที่ผู้เขียนได้ทดลองเล่นเองแล้วก็ต้องบอกเลยว่า “เป็นเกมที่เล่นได้ง่าย และสนุกท้าทายในระดับที่พอดี”

image 6

เริ่มต้นจากระบบของเกม Strategy ในฉากต่อสู้ที่ผู้เล่นจะได้ควบคุมตัวละครในการเข้าต่อสู้กับศัตรูที่อยู่ในฉาก โดยเป้าหมายหลัก ๆ ก็คือทำลายศัตรูให้หมด ซึ่งการควบคุมพื้นฐานก็เรียกได้ว่าคุ้นชินกันมาโดยตลอดคือการควบคุมตัวละครเดินไปยังทิศทางที่เราต้องการ แต่จุดที่ผู้เขียนชอบมาก ๆ ก็คือเราไม่จำเป็นต้องเลือกตัวละคร เลื่อนเคอร์เซอร์ และคอยสั่งให้ตัวละครวิ่ง เราสามารถบังคับให้ตัวละครวิ่งไปยังจุดที่ต้องการได้ทันที นอกจากนี้เราก็จะได้โจมตี ใช้ไอเทม ใช้สกิล หรือรอรอบก็ได้เช่นกัน

image 7

ระหว่างการต่อสู้อาจจะมีภารกิจรองบางอย่างให้เราได้ทำ เช่นการเดินไปจุดที่กำหนดเพื่อบอกชาวบ้านให้ปิดประตู ซึ่งชาวบ้านก็จะตอบแทนเราด้วยไอเทมต่าง ๆ แล้วแต่คนไป ซึ่งจุดนี้ผู้เขียนมองว่าเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ใส่เข้ามาได้ดี เสริมความเป็นฮีโร่ในอุดมคติได้เป็นอย่างดี

image 8

นอกจากนี้เกม Fire Emblem Engage ยังมาพร้อมระบบฐานทัพ Somneil เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ โดยในพื้นที่นี้มีกิจกรรมให้ทำจำนวนมาก เช่นเตรียมตัวเพื่อสู้ศึกถัดไป เล่นมินิเกมต่าง ๆ ไปจนถึงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่เรามี , การชนะหรือแพ้ทางของตัวละคร , การอัปเลเวลตัวละคร , การเปลี่ยนคลาสตัวละคร , การพัฒนาความสัมพันธ์ เป็นต้น นอกจากนี้เกมดังกล่าวยังมาพร้อมกับระบบ Auto ที่ผู้เล่นสามารถเลือกได้ด้วยว่าจะต้องการให้ AI ของเราดำเนินการแบบใด ไม่ว่าจะเป็นสมดุลย์ , ทำลายให้เละ , ป้องกันให้มั่น รวมไปถึงยืนระยะให้ห่างเอาไว้ อีกทั้งระบบ Auto จะเป็นการใส่คำสั่งแค่ครั้งละเทิร์นเท่านั้น ซึ่งผู้เขียนประทับใจอยู่พอสมควร เพราะว่าการที่เราใส่คำสั่ง Auto เป็นรายเทิร์นจะทำให้เราปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์อีกด้วย

นอกจากนี้เกมยังมีระบบย้อนเวลาที่เรียกว่า Time Crystal ที่จะทำให้ผู้เล่นเลือกย้อนกลับไปแก้ไขการกระทำก่อนหน้านี้ได้ ทำให้ผู้เล่นมีโอกาสในการเอาชีวิตรอดมากขึ้น รวมไปถึงมีโอกาสในการทดลองแผนการที่แปลกใหม่ได้ตลอดเวลา ซึ่งจุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจครับ

สรุปรีวิว

image 9

Fire Emblem Engage ถือได้ว่าเป็นเกมล่าสุดที่น่าสนใจมาก ๆ และทำออกมาได้สมกับคำว่า “Fire Emblem สำหรับทุกคน” จริง ๆ เพราะต่อให้ผู้เล่นคนใดไม่เคยเล่นเกมซีรีส์นี้มาก่อน ก็ไม่ได้เสียอรรถรสอะไรมากมายนัก ในขณะที่แฟนเกมตัวยงมีกรี๊ดตลอดการเล่นเกมนี้อย่างแน่นอน

ส่วนตัวผู้เขียนขออนุญาตให้คะแนนเกมนี้ที่ 9 เต็ม 10 ครับ ผู้เขียนขอย้ำว่า รีวิวนี้ รวมถึงคะแนนนี้เป็นมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น แฟนเกมคนอื่น ๆ อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันก็ได้ครับ

จุดเด่น

  • เกมเพลย์พื้นฐานที่เข้าใจง่าย เหมาะสมกับทุกคน
  • พาตัวละครที่คุ้นหน้าคุ้นตากลับมาให้ได้คิดถึงกัน
  • กราฟิกถือว่าสวยงามเป็นอย่างมาก
  • ฉากแอ็กชั่นต่อสู้ลื่นไหล สวยงามสุด ๆ

ข้อสังเกต

  • บทสนทนาอาจจะเยอะไปหน่อย หากใครชอบต่อสู้เยอะ ๆ อาจจะถอดใจไปบ้าง

ภาพ Screenshots เพิ่มเติม

image 10
image 11
image 12
image 13
image 14
image 15
image 16
image 17
image 18
image 19

Youryu

นักผจญเกมที่ไม่จำกัดประเภทและแพล็ตฟอร์ม
Back to top button