[รีวิว] HyperX Streamer Starter Pack (Cloud Core+Solocast)
การจับคู่อย่างลงตัวของผู้ที่มองหาหูฟังและไมโครโฟนสำหรับเล่นเกม
ในปัจจุบันการใช้ชีวิตของเรามีการปรับตัวไปจากเดิมพอสมควร การเรียน การทำงานมีการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นในลักษณะ WFH ซึ่งสิ่งที่เราจะต้องใช้งานคงหนีไม่พ้นหูฟังและไมโครโฟนดี ๆ สักตัวเพื่อที่จะทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างที่ควร และทาง HyperX ได้มองเห็นโอกาสในจุดนี้จึงได้ทำการเปิดตัวชุดพิเศษ Streamer Starter Pack ที่ภายในประกอบไปด้วยหูฟัง HyperX Cloud Core และไมโครโฟน HyperX SoloCast ว่าแต่จะมีอะไรที่น่าสนใจกันบ้างเราไปหาคำตอบพร้อมกันเลย
ต้องยอมรับว่า Streamer Starter Pack ที่มีการนำของสองสิ่งมารวมเอาไว้ด้วยกันในครั้งนี้ ทาง HyperX ได้เลือกอุปกรณ์ที่จะนำมาเป็นจุดขายได้น่าสนใจ และแม้ว่าจะใช้ชื่อว่า Streamer Starter Pack แต่การใช้งานจริงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสตรีมเมอร์ก็สามารถซื้อไปใช้งานได้อย่างไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะความง่ายที่เสียบแล้วพร้อมใช้งานทันที ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของไม่ต้องยุ่งยากกับการตั้งค่าใด ๆ
ทั้ง HyperX Cloud Core และ HyperX SoloCast เป็นสิ่งมีอยู่มาสักพักแล้ว โดยหากแยกราคาของแต่ละชิ้นตัวหูฟัง 2,590 บาท ขณะที่ไมโครโฟนราคา 1,990 บาท สนนราคารวมกันหากซื้อแยกชิ้นจะอยู่ที่ 4,590 บาท แต่ ! หากใครที่ซื้อชุด Streamer Starter Pack จะสามารถเป็นเจ้าของได้ในราคาเพียง 3,990 บาทเท่านั้น
ตัวหูฟัง HyperX Cloud Core น่าจะเป็นหูฟังที่ครอบจักรวาลตัวหนึ่ง เนื่องจากเป็นหูฟังที่สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ได้ทุกแบบก็ว่าได้ ขอเพียงแค่อุปกรณ์ที่จะใช้งานมีรูหูฟังให้เสียบ เจ้ารุ่นนี้ก็พร้อมจะรองรับการใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา
สาเหตุมาจากการที่ตัวหูฟังมาพร้อมตัวเชื่อมต่อสำหรับการใช้งานกับพีซีแยกเสียงและไมโครโฟน ขณะที่การเชื่อมต่อยืนพื้นจะเป็นแบบขั้วเดียวพร้อมใช้งานกับทุกอุปกรณ์นั่นเอง
วัสดุที่นำมาใช้งานเป็นโครงอะลูมิเนียมทำให้เรื่องความทนทานหายห่วงได้
บริเวณ Headband ด้านใต้จะเป็นการใช้งาน Memory Foam ที่อัดมาค่อนข้างที่จะแน่นทำให้เวลาใช้งานไม่มีอาการโดนหูฟังกด
ด้านบนอาจจะแปลกตาไปเสียหน่อยเนื่องจากไม่ใช่พื้นผิวพลาสติก แต่เป็นผิวสัมผัสแบบหนังที่มีการลงรายละเอียดคำว่า HyperX ลงไป
หูฟังสามารถที่จะปรับได้ 8 ระดับเพียงพอสำหรับผู้ใช้งานทุกคน
เช่นเดียวกัน Earpad เป็นแบบ Memory Foam ที่ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าความหนาดูจะน้อยไปเสียหน่อย แต่การใช้งานจริงหากในระยะไม่นานอาจจะไม่รู้สึกมากนัก แต่หากใช้งานเป็นระยะเวลานานอาจจะรู้สึกไม่สบายเล็กน้อย แต่โดยรวมยังถือว่าใช้งานได้ไม่ได้น่าเกลียดอะไร
ด้านนอกมีการลงลวดลาย HyperX สีแดงลงไปทั้งสองด้าน สำหรับใครที่มองหาไฟ RGB ก็อาจจะต้องมองข้ามไปเนื่องจากหูฟังรุ่นนี้ไม่ได้มีมาให้
ด้วยความที่ใช้งานเป็นโครงในลักษณะนี้ทำให้ตัว Earpad ไม่สามารถที่จะพับในแบบแบนราบได้
พอร์ตที่ตัวหูฟังมีแค่เอาไว้สำหรับเสียบไมโครโฟนเพียงอย่างเดียว
อาจจะบอกว่าเป็นการจับคู่ที่เลือกอย่างลงตัวสำหรับ Streamer Starter Pack เนื่องจากการที่มีไมโครโฟนภายในมาให้ใช้งาน หากเลือกหูฟังที่ไม่สามารถถอดไมโครโฟนมาให้ก็คงจะดูแปลก ๆ ไม่น้อย ฉะนั้นการเลือก HyperX Cloud Core ที่ถอดไมโครโฟนออกได้ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ตัวควบคุมหูฟังจะอยู่บริเวณสายสามารถที่จะปรับระดับของเสียงได้ และมีส่วนสำหรับเปิด / ปิดไมโครโฟน
ย้ายมาดู HyperX SoloCast ยังคงความง่ายในการใช้งานด้วยการเป็นไมโครโฟนที่สามารถเสียบแล้วใช้งานได้ทันทีไม่ต้องปรับแต่งให้วุ่นวาย
ลักษณะภายนอกมาพร้อมกับความเรียบง่ายด้วยการใช้งานสีดำเป็นเป็นหลัก พร้อมสัญลักษณ์ HyperX ที่บริเวณด้านหน้า
มาพร้อมกับตัวกรองเสียงด้านบนที่ช่วยให้การใช้งานไม่ว่าจะเป็นการเล่น คุยงาน หรือจะสตรีมไม่มีปัญหาเสียงรบกวนพื้นหลัง
โหมดการทำงานของ HyperX SoloCast จะมีเพียงโหมดเดียวเท่านั้นคือการรับเสียงเฉพาะด้านหน้า เท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างจากไมโครโฟนอีกหนึ่งรุ่นของทาง HyperX เองอย่าง QuadCast ที่มีโหมดรับเสียงถึง 4 รูปแบบ
เมื่อเราทำการเสียบไมโครโฟนเรียบร้อยแล้วจะมีไฟสัญญาณสีแดงเป็นตัวบอกสถานะ หากเป็นไฟสีแดงค้างแปลว่าเปิดใช้งานอยู่ หากเป็นการกระพริบจะอยู่ในสถานะปิดไมโครโฟน
บริเวณด้านบนเป็นพื้นที่สำหรับการเปิด / ปิดไมโครโฟน การใช้งานเป็นแบบแตะสัมผัสไม่ได้เป็นปุ่มสำหรับกด
ที่ด้านใต้มีช่องสำหรับการใช้งานกับขายึดสำหรับใครที่อยากจะนำไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ
ด้านหลังเป็นพอร์ตสำหรับการเสียบสายเชื่อมต่อ USB-C
ถัดลงมาเป็นฐานตั้งพร้อมตัวยึดด้านหลัง โดยเราสามารถที่จะปรับระดับได้ราว 45 องศา
ภายใต้ฐานตั้งมีการใช้งานยางเป็นตัวรองทำให้การยึดติดกับพื้นที่ไม่มีปัญหา สามารถใช้งานได้ไม่ต้องกังวลว่าไมโครโฟนจะขยับ
เราสามารถที่จะหมุนไมโครโฟนให้เหมาะสมกับการใช้งานได้
ด้วยความที่ใช้งานพอร์ต USB-A เป็นตัวเชื่อมต่อทำให้สามารถที่จะนำไปใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นพีซีและคอนโซลส่งผลให้เป็นไมโครโฟนอีกหนึ่งรุ่นที่ดูจะคุ้มไม่น้อย
ส่วนตัวที่รู้สึกแอบเสียดายเล็กน้อยจากไมโครโฟนรุ่นนี้ คือถ้ามีรูหูฟังมาให้ด้วยจะทำให้การใช้งานร่วมกันของทั้งสองอุปกรณ์ลงตัวอย่างมาก และจะลดปัญหาเรื่องการจัดสายไปได้พอสมควร แต่ถามว่าเป็นปัญหาที่จะลดประสิทธิภาพการใช้งานหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่
มาว่ากันที่ประสบการณ์ในการใช้งานกันดีกว่า HyperX Cloud Core ให้เสียงที่ดีกว่าที่คาดเอาไว้ การใช้งานเล่นเกมทิศทางของเสียงให้มาแบบจัดเต็ม พร้อมกับยังรองรับการใช้งานระบบเสียง DTS:X มาให้เปิดใช้งานภายในกล่องได้ (2 ปี) ทำให้การใช้งานถูกยกระดับขึ้นไปอีก
ในส่วนของการใช้งานทั่ว ๆ ไปการฟังเพลงทำออกมาได้ดี โทนเสียงที่ได้เป็นเสียงที่อยู่ตรงกลางไม่ได้เทไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่ ! มันไม่ใช่เสียงที่ไม่มีคุณภาพ เพราะแม้จะไม่ได้โดดไปที่ย่านเสียงใดเป็นพิเศษ แต่การที่เก็บได้ครบทุกรายละเอียดมันช่วยให้การนำไปใช้งานด้านนี้ดูลงตัวไม่น้อย
ทดสอบการรับเสียงของ HyperX SoloCast
ขณะที่ HyperX SoloCast ในเรื่องของโหมดการใช้งานอาจจะดูน้อยไป แต่สิ่งที่ให้มาถือว่าน่าพอใจ การตัดเสียงรบกวนภายนอก การรับเสียงทำได้ดี เป็นไมโครโฟนที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้ไม่อายใคร จุดที่ต้องพูดถึงคือการที่มีโหมดรับเสียงที่มาจากด้านหน้าเพียงอย่างเดียว อาจจะดูไม่สำคัญแต่บางโอกาสมันก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในโหมดอื่นนั่นเอง
บทสรุปของ HyperX Streamer Starter Pack คงต้องบอกว่าเป็นชุดสุดคุ้มที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่สตรีมเมอร์ แต่เหมาะกับผู้ใช้งานทุกคนที่ต้องทำงานหรือเรียนในรูปแบบของ WFH ใครที่มีงบไม่สูงมาก แต่อยากได้ของที่มีคุณภาพคุ้มกับราคาที่จ่ายไปไม่ควรพลาด กับราคา 3,990 บาท ถือว่าเป็นการจับคู่ที่ลงตัวไม่น้อย
ข้อดี
– เหมาะกับการใช้งานกับทุกคนที่อยากได้หูฟังและไมโครโฟนที่ดีสักรุ่น
– เก็บรายละเอียดของเสียงที่ได้เป็นอย่างดี
– ไมโครโฟนที่สามารถถอดออกจากตัวหูฟังได้
– เพียงแค่เสียบก็พร้อมใช้งาน
– ใช้ได้กับหลากหลายอุปกรณ์
ข้อสังเกต
– โหมดการทำงานอาจไม่มีให้ปรับอะไรมากนัก
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทาง HyperX ประเทศไทย ที่ได้ส่งอุปกรณ์ในครั้งนี้มาให้พวกเราได้ใช้งานกันหากใครที่สนใจ HyperX Streamer Starter Pack สามารถหาซื้อได้แล้วในตอนนี้ทั้งช่องทางออนไลน์และตามร้านค้าไอทีชั้นนำทั่วไป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อสินค้าได้ที่ : [คลิก]