15 เกมน่าเล่นจากซีรีส์ Yu-Gi-Oh!
ตั้งแต่มือถือ, PC, PlayStation ยัน Nintendo Switch ที่มาพร้อมความสนุกเฉพาะตัว
สวัสดีครับ วันนี้กลับมาพบกับผม Lengist อีกครั้ง ครั้งนี้จะขอมานำเสนอบทความเกี่ยวกับเกมยูกิโอ! ภาคต่างๆ กันครับ โดยจะขอยกเกมในซีรีส์นี้จากเครื่องเล่นต่างๆ มาบางส่วน เพื่อให้คุณผู้อ่านลองดูกันว่าเกมภาคไหนมีความสนุกยังไงกันบ้าง ลองมาดูกันเถอะครับ!
1. Yu-Gi-Oh! Shin Duel Monsters: Fuuin Sareshi Kioku [PS]
มาเริ่มต้นกันที่เกม Yu-Gi-Oh! บนเครื่อง PlayStation กันครับ โดยภาคนี้น่าจะเป็นภาคที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี เนื่องจากเป็นเกมการ์ดของยูกิโอบนเครื่อง PS เพียงภาคเดียว Yu-Gi-Oh! Shin Duel Monster – Fuuin Sareshi Kioku หรือชื่อในภาคภาษาอังกฤษก็คือ Yu-Gi-Oh! Forbidden Memories เป็นเกมการ์ดที่กฎกติกาของตัวเกมจะต่างจากกฎการเล่นการ์ดแบบปกติทั่วไป (OCG / TCG) โดยจุดเด่นของภาคนี้คือการ์ดมอนสเตอร์ระดับสูงสามารถส่งลงมาได้โดยไม่ต้องบูชายัญ และสามารถฟิวชั่นมอนสเตอร์ได้โดยไม่ต้องใช้การ์ดเวทมนตร์ ถือเป็นการเล่นการ์ดยูกิโอที่แหวกแนวพอตัว และยังมีการปรับความสามารถต่างๆของการ์ดเวทมนตร์และกับดักอีกด้วย เมื่อผู้เล่นดูเอลชนะในการแข่งขันก็จะได้รับการ์ดใบใหม่พร้อมสตาร์ชิพจำนวนหนึ่งไว้สำหรับแลกการ์ด (ซึ่งบางใบก็แพงเกิ๊น)
โดยเนื้อเรื่องในภาคนี้จะเริ่มต้นจากสมัยอียิปต์โบราณ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอาเทม (หรือก็คือยูกิ) ผู้เล่นจะได้รับบทบาทเป็นอาเทม และดำเนินเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านยุคสมัยอดีตไปยังปัจจุบัน และย้อนกลับมาที่อดีตอีกครั้งเพื่อจบความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้น (ไม่ขอสปอยล์เนื้อหาเต็มนะครับ)
สำหรับเกมยูกิโอภาคนี้ก็ได้รับคะแนนจากสื่อต่างชาติไม่ค่อยเยอะนัก อยู่ในระดับกลางๆ อาจจะเนื่องด้วยการเล่นที่ยากไป เช่น การ์ดของศัตรูในเนื้อเรื่องช่วงหลังจะแข็งแกร่งมาก หรือการหาการ์ดพลังสูงๆสักใบในเกมมาใช้นั้นก็ค่อนข้างลำบากพอสมควร แถมในเนื้อเรื่องของเกมถ้าแพ้ขึ้นมาก็ Game Over ทันที แต่ก็ยังเป็นเกมที่น่าตื่นตาตื่นใจพอสมควร เพราะว่าเป็นเกมการ์ดของยูกิโอภาคแรกที่สามารถทำภาพการต่อสู้ระหว่างมอนสเตอร์แบบ 3D ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ความสนุกจากการจัดเด็คเพื่อเล่นกับเพื่อนโดยโหลดผ่านเมมโมรี่การ์ดก็เจ๋งไม่เบาเลยทีเดียว (ถึงจะเห็นการ์ดของอีกฝ่ายทั้งหมดก็ตามเถอะ)
2. Yu-Gi-Oh! Monster Capsule: Breed and Battle [PS]
เกมยูกิโออีกภาคบนเครื่อง PlayStation และยังเป็นเกมของยูกิโอเกมแรกที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วย โดยตัวเกมนั้นอ้างอิงการเล่นมอนสเตอร์แคปซูลจากมังงะ เป็นเกมที่ใช้มอนสเตอร์เดินบนกระดานเพื่อต่อสู้กัน จุดเด่นของภาคนี้ก็มีอยู่ด้วยกัน 2 อย่างครับ อย่างแรก คือ เราสามารถเลี้ยงมอนสเตอร์เองได้ โดยจะมีมอนสเตอร์พื้นฐานอยู่ด้วยกัน 6 ชนิด ซึ่งเราสามารถฝึกให้มอนสเตอร์แข็งแกร่งขึ้นได้ และมีโอกาสพัฒนาร่างไปเป็นมอนสเตอร์ชนิดอื่นได้อีกด้วย ส่วนอย่างที่สองก็แน่นอนว่าคือ การนำมอนสเตอร์แคปซูลลงสู่สนามประลองและต่อสู้ ซึ่งหากเราไม่ได้เลี้ยงมอนสเตอร์แล้วเก็บไว้ใช้งาน ก็จะสามารถใช้เซ็ตมอนสเตอร์พื้นฐานที่ระบบมีไว้ให้เล่นแทนได้ (แต่ค่าพลังต่อสู้ก็จะไม่สูงเท่าไหร่) การเดินหมาก การใช้สกิลต่างๆ ก็จะขึ้นอยู่กับมอนสเตอร์แต่ละตัว เราต้องใช้เทคนิคของมอนสเตอร์แต่ละตัวในการเล่นเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ โดยเงื่อนไขการชนะมีอยู่ 2 แบบครับ คือ หนึ่ง จัดการมอนสเตอร์ของคู่ต่อสู้ให้หมด 5 ตัว (ลงมอนสเตอร์ในเกมได้ทั้งหมด 6 ตัว แต่จะสุ่มให้หนึ่งตัวกลายเป็นไข่ที่เหมือนหัวใจหลักของผู้เล่น) หรือ สอง ตีไข่ที่เป็นหัวใจหลักของผู้เล่นให้แตก ก็จะได้รับชัยชนะในทันที
สำหรับเกมยูกิโอภาคนี้เรียกได้ว่าเสียงตอบรับดีเยี่ยมเลยล่ะครับ และยังได้รับการจำหน่ายซ้ำ การันตี PlayStation the Best อีกด้วย ความสนุกของเกมที่ได้ทั้งเลี้ยงมอนสเตอร์และนำไปใช้ต่อสู้ รวมถึงความลับในการค้นหามอนสเตอร์มากมายภายในเกม ถือว่าเป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเกมนี้เลยทีเดียว อีกทั้งยังสามารถนำมอนสเตอร์ที่เลี้ยงไว้ไปแข่งกับเพื่อนได้อีก โดยผ่านการโหลดข้อมูลจากเมมโมรี่การ์ด และยังสามารถทำการแลกเปลี่ยนมอนสเตอร์กับเพื่อนได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งเกมที่แฟนๆ ยูกิโอไม่ควรพลาดที่จะเล่นเลยที่เดียว
3. Yu-Gi-Oh! Duel Monsters 4: Battle of Great Duelist [GBC]
คราวนี้มาต่อกันที่เครื่อง Game Boy Color บ้างครับ โดยภาคที่จะนำเสนอนี้ก็คือ Yu-Gi-Oh! Duel Monsters 4: Battle of Great Duelist ครับ เป็นเกมภาคต่อของเกมการ์ดยูกิโอฉบับเครื่อง Game Boy โดยความพิเศษของภาคนี้ก็คือมีการออกมาด้วยกันทั้งหมด 3 เวอร์ชั่น (ให้อารมณ์เป็นโปเกมอนเลย) ได้แก่ ยูกิเด็ค ไคบะเด็ค และโจโนะอุจิเด็ค แน่นอนว่าทั้งสามเวอร์ชั่นนี้มีความแตกต่างกันอยู่มากเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น การ์ดที่สามารถใช้ได้ โดยหากเราเลือกเล่นเวอร์ชั่นยูกิก็จะสามารถใช้งานการ์ด ‘แบล็คเมจิกเชียน’ ได้ แต่ถ้าเล่นภาคไคบะหรือโจโนะอุจิ เราก็จะไม่สามารถนำการ์ดใบนี้มาใส่ไว้ในเด็คได้ หรือการ์ดบางใบที่ไม่สามารถใช้ได้ในช่วงแรก หากจบเนื้อเรื่องแล้วก็จะสามารถนำมาใช้งานได้
ส่วนวิธีการเล่นก็แตกต่างจากการเล่นการ์ดปกติอยู่นิดหน่อยครับ เช่น การรวมร่างมอนสเตอร์ได้โดยไม่ต้องพึ่งการ์ดเวทมนตร์เหมือนของภาค PS หรือพื้นที่ในการวางการ์ดกับดักมีให้ใช้งานเพียงช่องเดียว รวมถึงระดับของมอนสเตอร์ที่เปลี่ยนไป เช่น ‘บลูอายส์ไวท์ดราก้อน’ ปกติที่มีเลเวล 8 ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นเลเวล 9 ดังนั้นการบูชายัญเพื่ออันเชิญออกมาจึงต้องใช้มอนสเตอร์ทั้งหมด 3 ตัว นอกจากนั้นก็จะมีรายละเอียดอื่นๆ อีก เช่น ‘สายพันธุ์’ ของมอนสเตอร์ (นอกเหนือจากเผ่าและธาตุ) ค่า Cost สำหรับใช้ในการใส่เข้าเด็ค รวมๆ แล้วก็มีความหลากหลายที่สามารถเล่นได้สนุกมากไม่แพ้เกมยูกิโอภาคอื่นเลยครับ
4. Yu-Gi-Oh! Monster Capsule GB [GBC]
สำหรับยูกิโอภาคนี้ก็เหมือนเอายูกิโอภาค Monster Capsule บน PS มาย่อส่วนและเปลี่ยนวิธีการเล่นไปเลยล่ะครับ โดยเกมภาคนี้จะไม่มีโหมดที่ใช้สามารถเลี้ยงดูมอนสเตอร์ของเราได้ แต่จะมีการใช้สตาร์ชิพหยอดเข้าตู้แคปซูลแมชชีน (กาชาปองนั่นแหละ) เพื่อสุ่มมอนสเตอร์สำหรับใช้งานออกมาครับ หรือบางทีก็อาจจะได้ไอเทมเสริมสำหรับใช้พัฒนาทักษะให้มอนสเตอร์แคปซูลของเราแทน สำหรับวิธีการเล่นก็เพียงเข้าไปคุยกับตัวละครต่างๆ ก็สามารถท้าสู้ได้แล้วครับ ส่วนมอนสเตอร์ที่สามารถลงได้ก็จำกัดสูงสุด 4 ตัว ช่วงการต่อสู้ก็จะมีการทอยลูกเต๋าเพื่อวัดค่าพลังที่ใช้ในการโจมตี และมีระบบเลเวลอัพกับพัฒนาร่างของมอนสเตอร์บางตัวอีกด้วย ซึ่งความสนุกของเกมก็พอเหมาะพอเจาะสำหรับเครื่อง Gabe Boy Color เลยทีเดียวล่ะครับ
ในส่วนของเนื้อเรื่องนั้น ไคบะผู้พ่ายแพ้ให้กับยูกิได้รับพลังจากวงแหวนพันปี และได้เชื้อเชิญพวกของยูกิให้มาพบกับตัวเองอีกครั้ง จากนั้นก็ถูกไคบะผู้มีพลังของวงแหวนพันปีใช้ท่า ‘มายน์ดอล’ ใส่เข้าแบบไม่ทันตั้งตัว จึงทำให้เพื่อนๆของยูกิกลายเป็นตุ๊กตาไป ยูกิจึงต้องเข้าร่วมการต่อสู้ Monster Capsule ตามแผนการของไคบะ เพื่อที่จะช่วยเหลือพวกพ้องให้กลับมาเป็นมนุษย์ได้ดังเดิม
5. Yu-Gi-Oh! Dungeon Dice Monsters [GBA]
นี่คือเกมแรกของยูกิโอบนเครื่อง Game Boy Advance ครับ กับ Dungeon Dice Monsters ซึ่งเป็นเกมกระดานที่โผล่มาในช่วงหนึ่งของมังงะ โดยเกมนี้ก็จะให้อารมณ์คล้ายๆ กับเกมยูกิโอภาค Monster Capsule นิดหน่อย ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นตัวเอง (ตั้งชื่อได้ตามใจชอบ) เข้าร่วมแข่งทัวร์นาเมนต์ Dungeon Dice Monster ต่างๆ เพื่อชิงความเป็นหนึ่งของเกม
วิธีการเล่นนั้นผู้เล่นต้องจัด Dice Pool สำหรับการแข่งขันของตัวเอง (คล้ายๆ เด็คของเรา) โดยจะใส่ลูกเต๋าได้ทั้งหมด 15 ลูกด้วยกัน แบ่งเป็นมอนสเตอร์กับลูกเต๋าช่วยเหลือ โดยมอนสเตอร์นั้นจะถูกแบ่งออกทั้งหมดเป็น 4 เลเวลด้วยกัน ยิ่งมอนสเตอร์เลเวลสูงก็จะมีโอกาสเรียกออกมาได้ยาก มีพลังชีวิต พลังโจมตี พลังป้องกัน และความสามารถพิเศษต่างกันไป และบนลูกเต๋าทุกลูกจะมีสัญลักษณ์ต่างๆ ด้วยกันดังนี้
สัญลักษณ์เคลื่อนที่ : ใช้สำหรับให้มอนสเตอร์ที่ถูกอัญเชิญมาเดินบนกระดานได้
สัญลักษณ์โจมตี : ใช้สำหรับให้มอนสเตอร์ที่ถูกอัญเชิญมาสามารถโจมตีได้
สัญลักษณ์ป้องกัน : ใช้สำหรับให้มอนสเตอร์ที่ถูกอัญเชิญมาสามารถป้องกันการโจมตีได้
สัญลักษณ์เวทมนตร์ : สัญลักษณ์สำหรับใช้งานเวทมนตร์
สัญลักษณ์กับดัก : สัญลักษณ์สำหรับใช้งานกับดัก
สัญลักษณ์อันเชิญ : เป็นสัญลักษณ์สำหรับอันเชิญมอนสเตอร์ ส่วนตัวเลขคือเลเวล
เวลาที่เราทอยได้สัญลักษณ์ไหนก็จะได้เก็บเป็นแต้มสำหรับใช้งาน เช่น ถ้าเราได้สัญลักษณ์ดาบที่เป็นการโจมตี เราก็จะสามารถใช้คำสั่งให้มอนสเตอร์โจมตีได้ ในทางกลับกันหากไม่มีแต้มของสัญลักษณ์นี้เลยก็จะไม่สามารถโจมตีได้ ส่วนการอันเชิญมอนสเตอร์นั้นต้องทอยให้ได้สัญลักษณ์อันเชิญ 2 ลูกจากใน 3 และต้องเป็นมอนสเตอร์เลเวลเดียวกันด้วยถึงจะสามารถอันเชิญได้ เช่น ทอยลูกเต๋า 3 ลูก แล้วได้สัญลักษณ์อันเชิญเลเวล 1 สองลูก เราจะสามารถเลือกมอนสเตอร์หนึ่งใน 2 ลูกมาลงสนามได้
เงื่อนไขการชนะนั้นมีเพียงอย่างเดียวครับ คือ โจมตี Dungeon Master ให้ครบ 3 ครั้ง ก็จะเป็นฝ่ายชนะไป ยิ่งเราสามารถเรียกมอนสเตอร์มาเพื่อแย่งชิงพื้นที่ได้เร็วก็ยิ่งได้เปรียบในการคุมเกม เพราะถ้าอีกฝ่ายถูกเราปิดทางลงของลูกเต๋าไว้ได้ โอกาสในการใช้พื้นที่ลงลูกเต๋าของอีกฝ่ายก็จะลดลงไปด้วย นับว่าเป็นเกมยูกิโออีกภาคที่สนุกมากๆเช่นกันครับ แม้ว่าต้องใช้เวลาในการเล่นบางครั้งที่อาจจะนานไปหน่อยก็ตาม
6. Yu-Gi-Oh! Duel Monsters 6 Expert 2 [GBA]
เกมการ์ดภาค 6 ที่ต่อยอดซีรีส์มาจากเครื่อง Game Boy โดยมาในภาคนี้ได้เปลี่ยนกฎการเล่นเป็นแบบ OCG แล้ว (อันที่จริงเปลี่ยนแล้วตั้งแต่ภาค 5) ในภาคนี้ผู้เล่นจะได้เข้าร่วมการแข่งขันในแบทเทิลซิตี้ โดยเราสามารถตระเวนไปตามจุดต่างๆของเมืองเพื่อทำการค้นหาข่าวสารหรือดูเอลกับตัวละครต่างๆ ในเมืองได้ โดยหลังจากดูเอลชนะแล้วก็จะสามารถเลือกซองการ์ดมาเปิดเพื่อรับการ์ดเพิ่มได้จำนวน 5 ใบ (โดยที่ซองการ์ดเกมนั้นอ้างอิงมาจากการ์ดเวอร์ชั่นที่ใช้ขายจริง) เป็นเกมอีกภาคหนึ่งที่ทำออกมาได้ดีเยี่ยมเลยครับ ในภาค 5 นั้นบางช่วงในการใช้คำสั่งต่างๆอาจจะช้าและดูหลายขั้นตอน ซึ่งพอมาในภาคนี้ก็มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีและรวดเร็วขึ้น ยังคงมีระบบใส่พาสเวิร์ดเพื่อหาการ์ดได้ โดยใช้ D Point ในการแลกเปลี่ยน และสามารถใช้เคเบิลลิงค์ในการแลกเปลี่ยนการ์ดจากเกมภาค 5 และ 6 รวมถึงดูเอลกับเพื่อนได้ด้วย
สำหรับคนที่อาจจะเพิ่งรู้จักกับการ์ดเกมยูกิโอหรือจะลองฝึกเล่นการ์ดจริงแต่หาคนเล่นด้วยไม่ได้ ก็อาจมาลองเล่นเกมยูกิโอภาคนี้กันได้ครับ เพราะเกมภาคนี้เหมาะสำหรับใช้เล่นในการเรียนรู้กฎการเล่นการ์ดเกมของยูกิโอมาก ถึงแม้ว่าปัจจุบันการ์ดเกมยูกิโอจะไปไกลหลายเวอร์ชั่นแล้วก็ตาม แต่ความคลาสสิคของการ์ดเกมยูกิโอภาคต้นๆ ก็ยกให้ภาคนี้ได้เลย
7. Yu-Gi-Oh! Sugoroku no Sugoroku [GBA]
เกมยูกิโอที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นแนวบอร์ดเกม (ภาคภาษาอังกฤษชื่อว่า Yu-Gi-Oh! Destiny Board Traveler) โดยมีการผสมผสานเกมการ์ดดูเอลมอนสเตอร์เข้าไปในเกมด้วย ผู้เล่นสามารถเลือกตัวละครที่จะใช้เล่นได้ ซึ่งตัวละครแต่ละตัวก็มีความสามารถพิเศษที่จะใช้งานแตกต่างกันไป รูปแบบการเล่นก็ต้องมีการเซ็ตการ์ดมอนสเตอร์ไปที่หน้าลูกเต๋าแล้วทอย จากนั้นตัวละครถึงจะเดินไปตามช่องต่างๆ ได้ นอกจากนี้มอนสเตอร์ที่เซ็ตไว้ที่หน้าลูกเต๋าจะมีความสามารถแตกต่างกัน ผู้เล่นจะต้องไปยังพื้นที่การ์ดว่างเปล่าเพื่ออันเชิญมอนสเตอร์ออกมา โดยวิธีชนะนั้นก็คือต้องอันเชิญมอนสเตอร์ต่างๆ ออกมาให้จำนวนดาวทั้งหมดรวมกันเท่ากับเงื่อนไขที่เกมกำหนดไว้ แน่นอนว่าอาจจะโดนคู่ต่อสู้เข้ามาโจมตีแย่งชิงพื้นที่อันเชิญได้ด้วย เกมนี้ก็เป็นอีกภาคหนึ่งของยูกิโอที่สร้างสีสันได้ดีในระดับหนึ่งครับ
8. Yu-Gi-Oh! Shin Duel Monsters II: Keisho Sareshi Kioku [PS2]
มาถึงเกมยูกิโอบนเครื่อง PlayStation 2 กันบ้างครับ Yu-Gi-Oh! The Duelists of the Roses (ชื่อเกมภาคภาษาอังกฤษ) โดยภาคนี้ก็ค่อนข้างแหวกแนวไปทั้งวิธีการเล่นและก็ธีมของเนื้อเรื่องเลยล่ะครับ จะขอกล่าวถึงในส่วนของเนื้อเรื่องก่อนแล้วกันครับ สำหรับเนื้อเรื่องของเกมภาคนี้มีการอ้างอิงเนื้อเรื่องจาก ‘สงครามดอกกุหลาบ’ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโลกของเรา สงครามนี้เป็นสงครามชิงบัลลังก์อังกฤษ สถานที่เกิดเรื่องราวก็จะอยู่ในส่วนของยุโรป แล้วก็มีการใส่ตัวละครจากเรื่องยูกิโอเข้าไปดำเนินเรื่องแทนบุคคลในประวัติศาสตร์ เช่น ‘ยามิยูกิ’ ก็จะรับบทเสมือนเป็น ‘เฮนรี ทิวดอร์’ ผู้นำแห่งราชวงศ์ทิวดอร์ ก็นับว่าแปลกแหวกแนวที่เนื้อเรื่องมีการใช้ประวัติศาสตร์จริงมาเป็นธีมดำเนินเรื่องราวของเกม แทนที่จะเป็นเนื้อเรื่องออริจินัลแบบเกมภาคก่อนๆ
การเล่นเกมก็พิเศษตั้งแต่ต้นเลยล่ะครับ ในเมื่อเป็นสงครามแล้วมันก็ต้องมีฝ่าย ซึ่งเราสามารถทำการเลือกฝ่ายได้ว่าจะอยู่กับราชวงศ์ทิวดอร์ที่มียูกิเป็นผู้นำ (Red Rose) หรือจะอยู่กับไคบะที่เป็นผู้นำกองทัพให้ราชวงศ์ยอร์ก (White Rose) ซึ่งการเลือกฝ่ายจะทำให้เนื้อเรื่องที่ดำเนินเปลี่ยนไปด้วย
ในส่วนของการ์ดเกมที่จะเล่นนั้น กระดานดูเอลจะเป็นแบบ 7×7 การเล่นจะอารมณ์เหมือนการเล่นมอนสเตอร์แคปซูลผสมผสานกับการดูเอล ผู้เล่นจะมีมอนสเตอร์หลักที่เปรียบเสมือนเป็นหัวใจลงสนาม เรียกว่า ‘Deck Leader’ ซึ่งเป็นเหมือนกับตัวผู้เล่นเอง หากศัตรูใช้มอนสเตอร์เข้ามาโจมตีก็จะเสียไลฟ์พอยท์โดยตรง โดยไม่เกี่ยวข้องกับค่าพลังโจมตีของมอนสเตอร์ที่เป็น ‘Deck Leader’ และเราจะวางการ์ดต่างๆออกมาได้ใกล้ๆกับ ‘Deck Leader’ เท่านั้น จากนั้นจึงจะสามารถใช้การ์ดเดินไปตามช่องตารางได้ มอนสเตอร์ที่เรียกออกมาไม่ว่าจะตั้งโจมตีหรือป้องกันเราสามารถคว่ำการ์ดเพื่อไม่ให้ศัตรูรู้ได้ว่ามีค่าพลังแค่ไหน เราต้องพยายามบุกโจมตีมอนสเตอร์และ ‘Deck Leader’ ของศัตรูเพื่อให้ไลฟ์พอยท์อีกฝ่ายหมดให้ได้ นอกจากนี้ตารางดูเอลจะมีภูมิประเทศต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อค่าพลังของมอนสเตอร์อีกด้วย และระบบ ‘ฟิวชั่น’ โดยไม่ต้องใช้การ์ดเวทมตร์ก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม
โดยรวมแล้วแม้ว่าการดูเอลของเกมยูกิโอภาคนี้จะดูแปลกกว่าชาวบ้านไปบ้าง แต่ก็สนุกดีเหมือนกันครับ นอกจากนี้ก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไปในตัวอีกด้วย
9. Yu-Gi-Oh! Capsule Monster Coliseum [PS2]
และแล้วก็กลับมาที่เกมแนว Capsule Monster ของยูกิโออีกครั้ง สำหรับบนเครื่อง PS2 นี้จะไม่มีมอนสเตอร์ออริจินัลของ Capsule Monster แบบภาคก่อนๆ เลยครับ มอนสเตอร์ทั้งหมดจะถูกอ้างอิงจากการ์ดเกมดูเอลมอนสเตอร์ทั้งสิ้น เรื่องราวในภาคนี้เราจะได้รับบทเป็น ‘ยูกิ’ ที่เข้าแข่งขันกับคู่ต่อสู้ในแอเรียต่างๆ เพื่อที่จะฝ่าฟันจนไปถึงแอเรียสุดท้ายให้ได้ (เอาจริงๆภาคนี้ไม่ค่อยจะมีเนื้อเรื่องเยอะเท่าไหร่)
เริ่มต้นการเล่นเกมผู้เล่นจะได้ตั้งชื่อสำหรับใช้งานและสามารถเลือกสร้าง ‘สัญลักษณ์’ แทนตัวตนได้ โดย ‘สัญลักษณ์’ นี้จะเริ่มต้นที่การเลือกธาตุ ซึ่งในเกมนี้จะมีให้เลือกทั้งหมด 8 ธาตุด้วยกัน คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ สายฟ้า ป่า แสงสว่าง และความมืด จากนั้นจึงสร้างฐานสำหรับใส่ ‘สัญลักษณ์’ และเลือกสีที่มีการกำหนดไว้ให้ จุดสุดท้ายของการตั้งค่าก็จะมีให้ปรับค่าพลังต่างๆ ได้แก่ MP, AP และ PP โดยค่าพลังต่างๆจะมีความหมายง่ายๆ ดังนี้ครับ
MP = ใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการลงแคปซูลมอนสเตอร์ในสนาม
AP = เป็นค่าการกระทำต่างๆ เช่น เรียกมอนสเตอร์ออกจากแคปซูล หรือใช้เดิน
PP = เปรียบเสมือนพลังชีวิตของ ‘สัญลักษณ์’ และ แคปซูลมอนสเตอร์ของเรา
โดยค่าพลังเหล่านี้จะเป็นผลลัพธ์โดยรวม ซึ่งจะกระจายไปตามความสามารถพื้นฐานต่างๆของแคปซูลมอนสเตอร์ครับ จากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงการอธิบายระบบธาตุและให้เลือกมอนสเตอร์เริ่มต้นอย่างน้อยจำนวน 10 ตัวครับ (ใช้ MP เริ่มต้นที่มีให้ในการเลือกซื้อ)
โดยรวมแล้วการเล่นก็เหมือน Capsule Monster ของยูกิโอที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งภาคนี้จะมีระบบเลเวล ระบบการพัฒนาร่าง ในฉากต่อสู้ก็จะมีลูกเล่นต่างๆมากมาย ภาพวาดตัวละครกับฉากต่างๆก็ทำมาดูดี สวยกว่าเกมหลายๆภาคที่ผ่านมาเลยทีเดียว แม้ว่าการเล่นจะมีจุดที่อาจทำให้รู้สึกนานและเหนื่อยไปบ้าง แต่ก็เป็นอีกภาคที่โอเคเลยทีเดียวครับ
10. Yu-Gi-Oh! Nightmare Troubadour [NDS]
อีกหนึ่งเกมของยูกิโอที่ได้เสียงตอบรับค่อนข้างดี เป็นเกมภาคแรกบนเครื่อง Nintendo DS โดยใช้กฎกติกา OCG ในการเล่น มีระบบค้นหาคู่ต่อสู้โดยผ่านการแตะแผนที่บนหน้าจอ การเรียกมอนสเตอร์เป็นรูปแบบ 3D Animation และมีการ์ดให้เลือกใช้เล่นในเกมมากกว่า 1,000 ใบ ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นดูเอลลิสต์มือใหม่และเข้าร่วมการแข่งขันดูเอลมอนสเตอร์ในแบทเทิลซิตี้ทัวร์นาเมนต์
ระบบเกมทำออกมาได้ดีและน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับยุคของ NDS มากๆ การเล่นก็เหมือนกับการ์ดดูเอลมอนสเตอร์แบบปกติ ส่วนของการควบคุมนั้นค่อนข้างดี แม้จะมีจุดที่ช้าๆ อยู่บ้างก็ตาม ส่วนตัวละครที่เป็นคู่แข่งที่มีอยู่ในภาคนี้ก็มีเยอะเลยทีเดียว ทำให้รู้สึกตื่นเต้นเวลาเจอตัวละครใหม่ๆ ในเกม เป็นอีกหนึ่งภาคที่ควรหามาลองเล่นครับ
11. Yu-Gi-Oh! Duel Monsters GX Tag Force [PSP]
มาต่อกันที่ภาคบนเครื่อง PSP ครับ โดยก็เปลี่ยนจากภาคที่มี ‘มุโต้ ยูกิ’ เป็นตัวเอกนำมาเป็น ‘ยูกิ จูได’ จากภาค GX กันบ้าง โดยเกมยูกิโอซีรีส์ Tag Force นั้นทำออกมาได้ดีมาก จนมีต่อกันอีกหลายภาคเลยครับ ในส่วนนี้จะขอพูดถึงภาคแรกของ Tag Force กันครับ
เกมนี้เราจะได้รับบทเป็นนักเรียนเข้าใหม่ของดูเอลอะคาเดมี่ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นตัวละครออริจินัลของผู้เล่นที่ถูกส่งเข้ามาเสริมในการดำเนินเนื้อเรื่องของเกม ส่วนเนื้อเรื่องของเกมก็จะดำเนินเป็นช่วงๆไปตามอนิเมะยูกิโอ GX ที่ฉายทางทีวีเลยครับ เปรียบเสมือนให้ผู้เล่นได้เป็นตัวละครที่มีบทบาทเข้าร่วมกับพวกจูได ใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนได้ในแต่ละวัน แถมมีเนื้อเรื่องยิบย่อยเพิ่มเติมอีกด้วย ผู้เล่นสามารถเลือกตอบคำถามต่างๆ เพื่อให้มีเนื้อเรื่องบางช่วงบางตอนเปลี่ยนไปได้ ตัวเกมจึงมีความเป็น RPG อยู่ในตัวด้วย ดังนั้นแล้วในส่วนของเนื้อเรื่องจึงมีความสนุกสำหรับแฟนอนิเมะยูกิโอเป็นอย่างมาก และในส่วนของการเล่นก็ยังคงรูปแบบการเล่นการ์ดด้วยกฎกติกาแบบ OCG อยู่ มีการ์ด 40 ใบ ไลฟ์พอยท์ 8,000 และในระหว่างการเล่นจะมีอนิเมชั่นของคู่ต่อสู้ปรากฏออกมาให้ดูเป็นช่วงๆ ด้วย ซึ่งก็ทำมาให้ดูน่าสนใจราวกับกำลังดูช่วงดูเอลในอนิเมะอยู่เลยครับ ผู้เล่นจะสามารถพูดคุยและท้าดูเอลกับนักเรียนในโรงเรียนได้นอกเหนือจากตัวละครหลักที่เห็นในอนิเมะ จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของภาคนี้คือการ Tag Duel ครับ ผู้เล่นสามารถจับคู่กับ NPC ในเกมเพื่อร่วมการดูเอลกันได้ ทำให้วิธีเล่นของภาคนี้สนุกเพิ่มยิ่งขึ้นนอกเหนือจากการดูเอลปกติทั่วไปครับ Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Tag Force จึงเป็นเกมที่ถูกใจแฟนๆยูกิโอและได้เสียงตอบรับที่ดีมากเลยล่ะครับ
12. Yu-Gi-Oh! 5D’s Tag Force 4 [PSP]
ขอแนะนำเกมยูกิโอซีรีส์ Tag Force อีกหนึ่งภาคครับ โดยภาคที่ 4 นี้จะขึ้นเรื่องราวเป็นยูกิโอภาค 5D’s แทนครับ (Tag Force 1-3 จะเป็นภาค GX โดยแบ่งช่วงจากอนิเมะเป็นซีซัน) สำหรับคนที่ชอบเรื่องราวของภาค 5D’s นั้นไม่ควรที่จะพลาดเล่นเกมนี้ครับ เนื้อหากับวิธีการเล่นนั้นก็ไม่ต่างจากยูกิโอซีรีส์ Tag Force ที่ผ่านมา เพิ่มเติมก็จะมีวิธีการเล่นใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือ “มอนสเตอร์ซิงโคร” ผู้เล่นยังคงได้รับบทเป็นตัวละครออริจินัลที่เข้ามามีบทบาทในเกมภาคนี้อยู่ ภาพการเคลื่อนไหวของตัวละครในฉากจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปแบบ Side-scrolling วิธีการเล่นการ์ดจะเป็นกฎแบบ OCG Master Rules และมีการ์ดบางใบที่ถูกแบนตามประกาศเดือนมีนาคมในปี 2009 ครับ
13. Yu-Gi-Oh! Duel Generation [iOS, Android]
เกมนี้คือเกมแรกของยูกิโอบนมือถือที่เปิดให้บริการนอกประเทศญี่ปุ่น โดยปัจจุบันผู้เล่นยังคงสามารถดาวน์โหลดมาเล่นได้อยู่ (ฟรี) แม้ว่าการอัพเดทเซิร์ฟเวอร์จะสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ปี 2017 ภายในเกมผู้เล่นสามารถเล่นโหมด Campaign เพื่อเจอกับตัวละครต่างๆตั้งแต่ยูกิโอภาคแรกไปจนถึงภาค ARC-V นอกจากนี้ยังมีโหมด Multiplayer ให้ผู้เล่นสามารถทำการดูเอลกับเพื่อนได้อีกด้วย ในส่วนของการ์ดที่สามารถใช้งานได้ภายในเกมนี้มีอยู่มากกว่า 7,000 ใบ หากใครที่อยากลองเล่นการ์ดเกมยูกิโอในเจเนอเรชั่นต่างๆ ภายในเกมเดียว แนะนำให้โหลดภาคนี้มาเล่นดูครับ
14. Yu-Gi-Oh! Duel Links [iOS, Android, PC (Steam)]
อีกหนึ่งเกมของยูกิโอที่ลงบนเครื่อง Smartphone และ PC โดยภาคนี้เป็นเกมที่มีการย่อส่วนการเล่นลงมา เช่น พื้นที่ในการวางการ์ดมีเพียงแค่อย่างละ 3 ช่อง ทั้งพื้นที่มอนสเตอร์และเวทมนตร์/กับดัก การ์ดในเด็คสามารถใส่เริ่มต้นได้ที่ 20 ใบ และสูงสุดคือ 30 ใบ และเนื่องจากข้อจำกัดใหม่นี้ทำให้มีการ์ดบางใบไม่ได้ถูกนำเข้ามาใช้ด้วย ผู้เล่นสามารถเลือกตัวละครเริ่มต้นเป็น ‘ยามิยูกิ’ หรือ ‘ไคบะ เซโตะ’ ได้คนใดคนหนึ่ง และสามารถปลดล็อคตัวละครต่างๆมาใช้งานได้ในภายหลัง ตัวละครทุกตัวจะมี ‘สกิล’ ที่สามารถใช้งานได้เมื่อตรงตามเงื่อนไข โดย ‘สกิล’ จะหาได้จากการดูเอลหรือเพิ่มเลเวลให้กับตัวละครก่อน เช่น ยามิยูกิ ติดตั้งสกิล Destiny Draw (จั่วเทพ) ก็จะสามารถจั่วการ์ดใบไหนก็ได้จากในเด็คขึ้นมือ โดยมีเงื่อนไขที่ว่าไลฟ์พอยท์ของผู้เล่นต้องลดลง 2,000 พอยท์ไปแล้ว นอกจากนี้ผู้เล่นยังสามารถสับเปลี่ยน Duel Worlds ไปยังโลกของยูกิโอภาคอื่นได้อีกด้วย (ต้องทำการปลดล็อคก่อน) โดยปัจจุบันตัวเกมนั้นยังคงอัพเดทถึงยูกิโอภาค 5D’s อยู่ครับ และยังมีการอัพเดทเกมอยู่เรื่อยๆ ทั้งการ์ดต่างๆ อีเวนท์มากมาย ให้ผู้เล่นได้สนุกกัน ถึงแม้ตัวเกมจะมีรูปแบบเปลี่ยนไปแต่ยังคงความสนุกไว้ได้ดีอยู่ครับ
15. Yu-Gi-Oh! Legacy of the Duelist: Link Evolution [Nintendo Switch]
มาถึงเกมยูกิโอเกมสุดท้ายที่จะแนะนำกันแล้วครับ โดยเกมนี้วางจำหน่ายบนเครื่อง Nintendo Switch และในปัจจุบันเป็นเกมภาคล่าสุดของยูกิโอครับ (ที่ญี่ปุ่นวางจำหน่าย 25 เมษายน 2019) เกมนี้จะรวมยูกิโอทุกภาคที่เคยมีมาตั้งแต่ภาคแรก (คลาสสิค), GX, 5D’s, ZEXAL, ARC-V และ ภาคล่าสุดคือภาค VRAINS ไว้ในภาคนี้ภาคเดียวเลย กฎกติกาการเล่นเกมเหมือนกับการเล่นการ์ดเกมตามปกติ หน้าจอการเล่นให้อารมณ์คล้ายๆ เกมยูกิโอภาค Tag Force ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นเนื้อเรื่องในยูกิโอแต่ละภาคได้ โดยสามารถเลือกเล่นเป็นช่วงการต่อสู้ตามการ์ตูนได้ และจะมีให้เลือกเล่นระหว่างใช้เด็คที่ถูกกำหนดมาให้ หรือจะใช้เป็นเด็คที่ผู้เล่นสร้างไว้ใช้งานเองก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ทั้งตัวละครและการ์ดในเกมมีเยอะมากๆ ผู้เล่นจะได้สนุกกับการต่อสู้ที่หลากหลาย และเลือกสรรการ์ดใช้งานได้อย่างเต็มที่สุดๆ ตั้งแต่มีเกมยูกิโอมาเลยล่ะครับ
เป็นยังไงกันบ้างครับกับเกม Yu-Gi-Oh! ภาคต่างๆที่ได้แนะนำไป คุณผู้อ่านเคยได้เล่นครบทุกภาคแล้วหรือยังครับ? ในส่วนนี้ก็ยกมาเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีเกมยูกิโออีกหลายภาค ซึ่งมีเยอะจริงๆ ทำให้โดยส่วนตัวผมเองก็เล่นได้ไม่หมดเหมือนกัน ในแต่ละภาคก็มีความสนุกที่ความแตกต่างกันไป บางภาคก็อาจจะรู้สึกเหนื่อยๆ หน่อย เพราะมีระบบประมวลผลที่รู้สึกว่าช้า ไม่ค่อยทันใจ หรือตัวเกมที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะจบการดูเอลสักตาได้ แต่ก็ยังเล่นได้สนุกเพราะมีรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจอยู่ในเกม และส่วนที่สำคัญที่สุดอีกจุดหนึ่ง คือ เกือบจะทุกๆภาคนั้นสามารถเล่นเก็บข้อมูลและนำไปสู้กับเพื่อน หรือคู่แข่งคนอื่นๆบนโลกแห่งความเป็นจริงได้ ทำให้เกิดเสน่ห์เฉพาะตัวของเกมที่ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้เล่นด้วยกัน หากคุณผู้อ่านสนใจเกมยูกิโอภาคไหนที่ได้แนะนำไป ก็ลองหามาเล่นกันดูนะครับ รับรองว่าจะได้อารมณ์และความสนุกที่แตกต่างกันออกไปอย่างแน่นอน