บทสัมภาษณ์สกู๊ปพิเศษ

แปลกใหม่! ครูพานักเรียนสร้างบอร์ดเกมจากเกมดังเพื่อเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

ถึงเวลาพัฒนาทักษะจากเกมที่หลายคนมองข้าม

การเรียนภาษาอังกฤษที่พวกเราคุ้นเคยกันดีก็คือการเรียนในห้องเรียนธรรมดาทั่วไป ในขณะเดียวกันผู้เขียนเชื่อว่ามีผู้อ่านหลายคนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง หรือแม้กระทั่งเกม ใช่ไหมครับ? ในวันนี้ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปพบกับคุณครูภาษาอังกฤษท่านหนึ่งที่ได้พานักเรียนของเขาสร้างบอร์ดเกม (การ์ดเกม รวมถึงเกมอื่นๆ) เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนครับ

คุณครูท่านนี้มีชื่อว่า ครูพศิน คงภัคพูน (ครูแบงค์) เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ จากโรงเรียนฤทธิณรงค์รอน (ปัจจุบันปฏิบัติการสอนอยู่ที่โรงเรียนเบญจมราชาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์) ที่เป็นครูดูแลกิจกรรมชุมนุมเกมภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นผู้ดูแลนักเรียนในการสร้างบอร์ดเกมจากเกมชื่อดังอีกด้วย ในวันนี้ผมจะพาทุกท่านมารู้จักคุณครูสุดแหวกแนวคนนี้ครับ

07807370015498512875544 1
คุณครูแบงค์ (เสื้อเขียว) กับนักเรียนที่ดูแลซุ้มกิจกรรมในครั้งนี้

ทีมงาน TIG: สวัสดีครับคุณครู ก่อนอื่นต้องขออนุญาตถามก่อนว่า อะไรที่ทำให้ครูตัดสินใจนำเกมมาใช้ในการเสริมภาษาอังกฤษของนักเรียนครับ?

ครูแบงค์ : ต้องบอกก่อนว่าผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เล่นเกม และเป็นคนที่ได้ภาษาอังกฤษจากการดูหนัง ฟังเพลง รวมถึงเล่นเกมครับ แล้วผมเองก็เห็นนักเรียนเล่นเกมเหมือนที่ผมเคยเล่น แต่สิ่งที่ต่างไปคือเกมในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีภาษาไทยอยู่แล้ว ผมเลยรู้สึกว่า ถ้าเราทำเกมที่เด็กสนใจมาเป็นเกมภาษาอังกฤษบ้าง คงจะมีประโยชน์ไม่น้อย

0576879001549851205719 2

ทีมงาน TIG : ขออนุญาตถามเพิ่มเติมครับ ไม่ทราบว่าเกมที่ครูแบงค์พูดถึง คือเกมใดบ้างครับ แล้วเกมเหล่านี้ช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูแบงค์ยังไงบ้างครับ?

ครูแบงค์ : พูดถึงเกมที่เล่นต้องบอกว่าเอาจริงๆ ก็เยอะมากเลยนะครับ แต่ถ้าหลักๆ เลยก็จะมี Suikoden 2, Grandia แล้วก็ Final Fantasy VII ครับ โดยเกมเหล่านี้จะเป็นเกม RPG ทั้งหมดเลย เนื้อเรื่องของเกมทั้งหมดนี้ก็จะน่าติดตามมาก อีกทั้งการแก้ปริศนาในเกมเหล่านี้ก็ต้องอาศัยการอ่านเนื้อเรื่อง หรือคำใบ้ต่างๆ ที่มีในเกม ซึ่งผมเองเคยเล่นเกม Suikoden 2 แล้วเกิดติด ไปไหนไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าต้องไปเมืองไหนต่อ หรือไปคุยกับใครต่อ ทำให้ผมยอมเริ่มเล่นใหม่ แล้วพยายามอ่านเนื้อเรื่องมาเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้ว่าจริงๆ แล้วต้องไปทางไหนต่อ แต่สิ่งที่ผมได้นอกเหนือจากการที่ผมเล่นผ่านด่านได้ ก็คือการได้รู้ว่าเนื้อเรื่องในเกมมันสนุกขนาดไหน และการอ่านเนื้อเรื่องเกมจริงๆ ก็ไม่ได้ยากเลยครับ

03446850015498514237263 3

ทีมงาน TIG : เอาล่ะครับ ผมขอกลับมาที่เรื่องของบอร์ดเกมต่อนะครับ ไม่ทราบว่าในซุ้มกิจกรรมของครูแบงค์มีเกมอะไรบ้างครับ?

ครูแบงค์ : ในซุ้มกิจกรรมของผมจะมีทั้งหมด 4 เกมด้วยกันครับ โดยเกมแรกก็คือบอร์ดเกม ROV ที่ถอดแบบมาจากเกม ROV ในมือถือครับ เกมต่อมาก็คือบอร์ดเกม Overwatch ที่ถอดแบบมาจากเกม Overwatch ในคอมพิวเตอร์ เกมที่สามก็คือการ์ดเกม Werewolf เวอร์ชั่นโรงเรียนผีสิง ที่ดัดแปลงมาจากการ์ดเกม Werewolf ครับ และสุดท้ายก็คือเกม Hello World ที่นักเรียนนำเสนอไอเดียเอง ด้วยการเขียนโค้ดเกม แต่ก็มีการเอาตัวละครจากเกม การ์ตูน รวมถึงความรู้รอบตัวต่างๆ มาใช้ในเกมครับ

08784390015498512053386 4

ทีมงาน TIG : การสร้างเกมของนักเรียน มีการเชื่อมโยงระหว่างเกมต้นฉบับกับภาษาอังกฤษอย่างไรครับ

ครูแบงค์ : เริ่มต้นก่อนเลยก็คือผมจะให้นักเรียนได้ศึกษากติกาของตัวเกมจริงๆ ก่อนว่ากติกาของเกมนี้เป็นอย่างไร เป้าหมายของเราคือใคร แล้วเมื่อนำมาเป็นบอร์ดเกมเราจะทำให้กติกาเหมาะสมกับเป้าหมายได้อย่างไร จากนั้นเมื่อเราตัดทอนกติกาพื้นฐานเสร็จแล้ว ผมค่อยให้นักเรียนเสริมกติกาพิเศษที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษเข้าไป อย่าง ROV ก็คือมีข้อกำหนดว่าหากจะโจมตี หรือใช้สกิล ผู้เล่นจะต้องจั่วบัตรคำศัพท์ 1 ใบ แล้วบอกคำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรนั้นให้ได้ภายใน 10 วินาที ในขณะเดียวกันหากผู้เล่นจะใช้ท่าอัลติเมต ผู้เล่นจะต้องจั่วบัตรคำศัพท์ 2 ใบ แล้วบอกคำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรนั้นให้ได้ภายใน 15 วินาที โดยคำศัพท์ที่พูดออกมาจะต้องไม่ซ้ำกันเลยครับ

03988700015498512068167 6

ทีมงาน TIG : ถือว่าแทรกภาษาอังกฤษเข้ามาได้เนียนๆ เหมือนกันนะครับ แล้วหากมีน้องๆ ที่นึกคำศัพท์ไม่ออกจริงๆ จะทำอย่างไรดีครับ

ครูแบงค์ : ผู้ดำเนินรายการ (กรรมการ – นักเรียนที่เป็นรุ่นพี่ที่ดูแลการเล่นเกม) อาจจะมีการใบ้ช่วยเหลือน้องๆ เพื่อไม่ให้น้องๆ รู้สึกเบื่อได้ครับ แต่ก็ต้องดูความเหมาะสม เพราะหากช่วยมากไปอีกฝ่ายอาจจะเบื่อได้ ถ้าจะช่วยก็ต้องช่วยเท่าๆ กันเพื่อให้เกมเดินไปได้ครับ

06315040015498512065615 7

ทีมงาน TIG: ไม่ทราบว่าการทำบอร์ดเกมเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนอย่างไรครับ

ครูแบงค์ : ผมขอแบ่งเป็น 2 ส่วนนะครับ ประโยชน์สำหรับทีมพัฒนาเกมก็คือพวกเขาได้ฝึกการอ่านภาษาอังกฤษ เพราะการที่พวกเขาจะสร้างเกมต่างๆ ขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวละคร ฉายา ชื่อสกิล หรือคำอธิบายสกิลต่างๆ พวกเขาจะต้องไปอ่านจากต้นฉบับที่เว็บไซต์ต่างประเทศก่อน ในขณะเดียวกัน เมื่อพวกเขาอ่านเสร็จแล้ว พวกเขาจึงจะสามารถนำมาเขียนเป็นภาษาตัวเองได้ หลายๆ ครั้ง เขาจะพบว่าสิ่งที่พวกเขาเข้าใจมาตลอดคือผิด เช่น “สร้างความเสียหาย” นักเรียนจะแปลตรงตัวว่า “Do Damage” แต่ในความเป็นจริง ประโยคในภาษาอังกฤษก็คือ “Deal Damage” นั่นเองครับ นอกจากนี้พวกเขายังได้เรียนรู้การเขียนประโยคพื้นฐาน วลีต่างๆ จากการเขียนกติกา รวมถึงได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ด้วยครับ

ในขณะเดียวกันสำหรับเด็กที่เข้ามาเล่น พวกเขาจะได้ฝึกการค้นคืนคำศัพท์ (Vocabulary Retrieval) จากการเล่นเกมเหล่านี้ เพราะเกมทั้งหมดนี้จะต้องมีการสร้างเงื่อนไขทางภาษาอย่างที่ได้บอกไปในข้างต้นแล้วว่านักเรียนจะต้องบอกคำศัพท์ให้ได้ในเวลาที่กำหนดโดยไม่ซ้ำกัน นอกจากนี้ผู้เล่นจะได้เรียนรู้จากกติกาที่เป็นภาษาอังกฤษ (มีภาษาไทยควบคู่ให้ โดยทำสีเพื่อบ่งบอกศัพท์สำคัญ) เรียนรู้ประโยคจากคำอธิบายสกิลที่เขียนไว้

08810970015498512065888 8


ทีมงาน TIG : ผลตอบรับจากการทำกิจกรรมล่ะครับ น้องๆ ชอบกันมากไหม?

ครูแบงค์ : ต้องบอกว่าเกินความคาดหมายครับ น้องๆ บางคนก็จะวนมาเล่นเรื่อยๆ บางคนก็เล่นจนครบ 4 กิจกรรมที่เตรียมไว้ให้เลยครับ ถือว่าประสบความสำเร็จมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ครับ

01542450015498512071392 9

ทีมงาน TIG : คุณครูท่านอื่นคิดเห็นอย่างไรบ้างกับการนำเกมเหล่านี้มาเป็นสื่อการสอนครับ?

ครูแบงค์ : ครูที่ผมคุยด้วยส่วนใหญ่ หรือเดินมาชมกิจกรรมตอนแรกหลายๆ ท่านก็อาจจะมีข้อสงสัยครับว่ามันจะมีประโยชน์มากแค่ไหน แต่เมื่อครูทุกคนได้เห็นกระบวนการเล่นเกมทั้งหมดจริงๆ (รวมถึงบางคนที่ได้ลองเล่นเอง) ทุกคนก็บอกว่าช่วยทำให้พวกเขานึกถึงคำศัพท์ที่หายไปมานานได้มากขึ้น รวมถึงได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ จากกติกาด้วยครับ แถมยังสนุกด้วยแม้ว่าบางคนอาจจะไม่ได้เล่นเกมก็ตาม

03833520015498512078516 10

ทีมงาน TIG : มีการวางแผนสำหรับปีหน้าอย่างไรบ้างครับ?

ครูแบงค์ : ก็คงจะพัฒนาบอร์ดเกม หรือเกมการ์ดอื่นๆ ต่อครับ ปี 2561 มี 1 เกม ปี 2562 มี 4 เกม ในปี 2563 ผมก็จะมีอยู่ 2 แผนก็คือ แผนการที่หนึ่ง เพิ่มเกมขึ้นมาเป็น 6 เกม หรือแผนที่สองก็คือมี 4 เกมเท่าเดิม แต่มีการพัฒนาเกมใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่เกมที่อาจจะเริ่มไม่เป็นที่นิยมในปีหน้าครับ

09316880015498515384809 11

ทีมงาน TIG : ครูแบงค์คิดอย่างไรกับการที่ยังมีหลายคนมองว่าเกมคือสิ่งขัดขวางความก้าวหน้าของนักเรียน?

ครูแบงค์ : ไม่เสมอไปครับ สาเหตุเพราะว่าไม่ใช่แค่เกมหรอกครับ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีโทษ และขัดขวางการเรียน หรือความก้าวหน้าของทุกคนอยู่แล้วหากคนเราติดมันมากจนเกินไป ตัวอย่างเช่นคนติดบอลดูบอลดึกจนทำงานไม่ไหว คนติดงานที่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว คนติดเกมที่เล่นเกมจนแบ่งเวลาไม่เป็นจนเสียงานเสียการ ฉะนั้นที่ผมบอกว่าเห็นด้วยแต่ไม่ทั้งหมด เพราะว่าหากนักเรียนสามารถแบ่งเวลาในการเล่นเกมเป็น ล้วนแต่จะเกิดประโยชน์ทั้งสิ้น เพราะเกมก็คือสื่อบันเทิงที่ทำให้นักเรียนผ่อนคลาย สนุกสนาน และมีความสุข หรือบางคน อย่างผมเองก็ได้พัฒนาภาษาอังกฤษจากเกม โดยมีข้อตกลงกับครอบครัวก็คือต้องแบ่งเวลาเล่นให้ได้ การบ้านต้องเสร็จ ทบทวนหนังสือก่อนเล่น ใกล้สอบห้ามเล่น เตรียมตัวสอบให้ดี หลังจากนั้นปิดเทอมก็แบ่งเวลาเล่น กับช่วยงานบ้านให้ได้ครับ สรุปได้ว่าเกมไม่ใช่ตัวขัดขวางความก้าวหน้าของนักเรียน แต่การควบคุมตนเองไม่ได้ และการแบ่งเวลาไม่เป็นต่างหากที่ทำให้นักเรียน (และคนทุกคน) ไม่สามารถก้าวหน้าไปได้ครับ

06039230015498514239212 5

ทีมงาน TIG : แล้วสมมติถ้าเกิดครูแบงค์เห็นนักเรียนเล่นเกมในระหว่างคาบเรียน ครูแบงค์จะมีวิธีจัดการอย่างไรครับ?

ครูแบงค์ : ผมจะทำการสอนให้สนุกกว่าเกมที่นักเรียนเล่นครับ เพราะยิ่งเราทำในห้องเรียนได้สนุกมากเท่าไหร่ นักเรียนจะสนใจขึ้นมากเท่านั้น นอกจากนักเรียนจะสนใจเรียน ไม่เล่นเกมมือถือในห้องแล้ว นักเรียนยังได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วยครับ

01518830015498515396121 12


ทีมงาน TIG : สุดท้ายนี้ขอให้ครูแบงค์ฝากอะไรไว้ให้นักเรียนเกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษหน่อยครับ

ครูแบงค์ : ก็คงต้องฝากว่าอย่าไปท้อกับการเรียนภาษาอังกฤษครับ พยายามทำให้ภาษาอังกฤษอยู่ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด ใครที่ชอบร้องเพลงก็ร้องเพลง อ่านเนื้อ แล้วแปลเพลงไปด้วย ใครชอบดูภาพยนตร์ ก็ลองดูพากย์ภาษาอังกฤษซับไทยบ้าง ใครที่ชอบเล่นเกมก็ลองเปลี่ยนภาษาของเกมเป็นภาษาอังกฤษ หรือเล่นเซิร์ฟเวอร์นอกบ้าง ใครที่ชอบเล่น Facebook ก็ลองเปลี่ยนหน้าจอจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ตอนแรกอาจจะรู้สึกอึดอัดครับ แต่พอผ่านไปเรื่อยๆ พอเราเริ่มคุ้นชินกับคำศัพท์ที่มี เราก็จะเริ่มเรียนรู้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันจนเกิดเป็นความเคยชินครับ ถ้านักเรียนทำได้ บอกเลยว่าภาษาอังกฤษของนักเรียนจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

เอาล่ะครับ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์ครูแบงค์ในการนำเกมชื่อดังมาดัดแปลงเป็นบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาภาษาอังกฤษครับ แต่เราจะยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ครับ เพราะเราแอบทราบมาว่านอกจากบอร์ดเกมในงานวันวิชาการของโรงเรียนแล้ว ครูแบงค์ยังมีวิธีการสอนที่แหวกแนวไปจากห้องเรียนปกติอีกด้วย ส่วนจะแปลกแค่ไหน อย่าลืมมาติดตามการสัมภาษณ์ครั้งต่อไปครับ

ประมวลภาพกิจกรรมทั้งหมดที่มีในซุ้มกิจกรรมของครูแบงค์

0398458001549851539102 13
06166660015498515397649 14
08666020015498515399171 15
01013530015498515408631 16
03467210015498515405419 17
01991870015498515429865 24
04681570015498515422604 25
00386530015498515415438 20
03566750015498515419986 21
06246820015498515419494 22
09229440015498515419317 23

>> เข้ากลุ่มคนไทยพูดคุยเกี่ยวกับ <<

Youryu

นักผจญเกมที่ไม่จำกัดประเภทและแพล็ตฟอร์ม
Back to top button