คอนโซล / พีซีสกู๊ปพิเศษเปิดกรุเกมเก่า

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

พาย้อนวันวานกับซีรีส์ยอดฮิตของเหล่าแฟนยูกิ

ถ้าพูดถึงเกมแล้ว ปัจจุบันนี้ก็มีเกมมากมายหลายรูปแบบจริง ๆ นะครับ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกม การ์ดเกม บอร์ดเกม ซึ่งถ้าให้พูดถึงการ์ดเกมแล้วก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ประเทศเลยนะครับ แน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย สำหรับคนชอบการ์ดเกมส่วนใหญ่คงต้องรู้จักกับ Yu-Gi-Oh! เป็นอันดับต้น ๆ เลยใช่มั้ยล่ะครับ? ปัจจุบันเกม Yu-Gi-Oh! ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็เห็นจะเป็น Duel Links กับ Master Duel ที่มีรูปแบบการเล่นใกล้เคียงกับการเล่นการ์ดจริง และสามารถทำความเข้าใจการเล่นได้ไม่ยากนัก แล้วเกม Yu-Gi-Oh! ในสมัยก่อนล่ะ? ในบทความนี้ผมจะขอพาย้อนเวลากลับไปยังช่วงเวลาของเกม Yu-Gi-Oh! สมัยแรก ๆ ให้ได้อ่านกันครับ โดยผมจะยกเกม Yu-Gi-Oh! ในซีรีส์ Duel Monsters มาให้ทุกคนได้รู้จักเพิ่มเติมกันครับ

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

ซีรีส์ Duel Monsters คืออะไร?

ก่อนอื่นผมจะมาขออธิบายให้ทราบกันก่อนว่าซีรีส์ Duel Monsters ที่พูดถึงนี้คืออะไร แถมมีชื่อเดียวกับตัวการ์ดเกมอีกด้วย จึงอาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกสงสัยกันได้ สำหรับเกม Yu-Gi-Oh! Duel Monsters นั้นเป็นเกมที่มีพื้นฐานการสร้างมาจากมังงะเรื่อง Yu-Gi-Oh! หรือที่แฟน ๆ รู้จักกันในชื่อไทยว่า “เกมกลคนอัจฉริยะ” ซึ่งมี ‘มุโต้ ยูกิ’ และ ‘ยูกิร่างมืด’ (อาเทม) เป็นตัวเอก เกมซีรีส์นี้จะถูกสร้างในยุคของเครื่องเกมยุคแรก ๆ อย่างเครื่อง Game Boy วิธีการเล่นการ์ดจะมีกฏคล้ายกับมังงะและอนิเมะมากกว่าการเล่นการ์ดแบบ OCG (ซึ่งก็ไม่ได้ใช้กฏนี้ซะทุกภาคเลยทีเดียว) หลังจากที่ตัวการ์ดเกมและอนิเมะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก็ได้มีการทำวิดีโอเกมเป็นซีรีส์ต่าง ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย และมีการแบ่งเกมที่สร้างออกมาด้วยชื่อต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจของรูปแบบการเล่นเกม Yu-Gi-Oh! ครับ เช่น True Duel Monsters, Capsule, Tag Force เป็นต้น

Yu-Gi-Oh! Duel Monsters [Game Boy]

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

เริ่มกันด้วยเกม Yu-Gi-Oh! Duel Monsters ภาคแรกครับ โดยถ้าให้นับลำดับของเกมต้องบอกเลยว่าเกมนี้เป็นเกมลำดับที่ 2 ของ Yu-Gi-Oh! (เกมแรกคือ Yu-Gi-Oh! Monster Capsule: Breed and Battle) นอกจากจะเป็นเกมแรกของซีรีส์ Duel Monsters ที่ลงบนเครื่อง Game Boy แล้ว เกมนี้ยังเป็นเกมที่มีการจำหน่ายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วยครับ

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

ภายในเกมนี้จะมีการ์ดอยู่ด้วยกันทั้งหมด 365 ใบ ซึ่งการ์ดส่วนใหญ่จะเป็นการ์ดที่ถูกสร้างขึ้นมาจากมังงะตั้งแต่เริ่มมีเรื่องราวของการ์ดเกมเข้ามาเกี่ยวข้องไปจนถึงตอนที่ 91 (ฉบับญี่ปุ่นในช่วงนั้น) และจะมีการ์ด 15 ใบในเกมที่เป็นการ์ดลับ ส่วนกฏการเล่นพื้นฐานของเกมจะคล้ายกับในมังงะช่วงต้น โดยจะแตกต่างกับการเล่นการ์ด OCG ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาในภายหลังและมีความซับซ้อนในการเล่นที่มากกว่า

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

เราจะได้รับบทเป็นดูเอลลิสท์คนหนึ่งที่เดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันยังดูเอลลิสท์คิงด้อม ผู้เล่นต้องทำการดูเอลกับตัวละครภายในเรื่องซึ่งจะถูกแบ่งเป็นด่าน ๆ ไว้ และต้องชนะตัวละครในด่านให้ได้ตัวละ 5 ครั้งจึงจะสามารถเปิดด่านใหม่ให้เล่นได้ ผู้เล่นจะได้รับเด็คที่มีการ์ดมอนสเตอร์ 33 ใบ และการ์ดเวทมนตร์อีก 7 ใบ รวมเป็น 40 ใบ สำหรับหนึ่งเด็ค (สุ่มจากการ์ด 100 ใบที่ตัวเกมกำหนดไว้)

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

สำหรับการเล่นนั้น ผู้เล่นจะมีไลฟ์พ๊อยท์อยู่ 8,000 การ์ดบนมือสามารถมีสูงสุดได้แค่ 5 ใบ ในแต่ละเทิร์นจะสามารถเลือกใช้การ์ดจากบนมือได้เพียง 1 ใบเท่านั้น ไม่สามารถหมอบการ์ดเวทมตร์ได้ และในเกมจะไม่มีการ์ดกับดัก ผู้เล่นจะสามารถเรียกมอนสเตอร์ได้ตามปกติโดยไม่ต้องใช้การบูชายัญ (มอนสเตอร์ในเกมนี้จะไม่มีเลเวล) และสามารถนำการ์ดบนมือไปรวมร่างกับมอนสเตอร์ที่อยู่บนสนามได้ ซึ่งการที่จะรวมร่างกันได้นั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการรวมร่างของเกม และการ์ดนั้นจะไม่ถูกนับเป็นฟิวชั่นมอนสเตอร์ ตัวเกมจะบังคับให้ในแต่ละเทิร์นใช้การ์ดจากบนมือ 1 ใบ และบังคับให้ใช้มอนสเตอร์ทั้งหมดบนสนาม (ออกคำสั่งโจมตีหรือไม่ก็ป้องกัน) จึงจะสามารถทำการจบเทิร์นได้โดยอัตโนมัติครับ

สรุปคือตัวเกมนั้นไม่ได้มีกฏอะไรมากมาย ไม่มีความซับซ้อน ไม่มีการ์ดสำหรับพลิกแพลงได้ในหลาย ๆ สถานการณ์เหมือนกับเกมภาคใหม่ ๆ เป็นเกมที่เน้นการรุกและรับแบบตรง ๆ เพื่อให้ได้ชัยชนะมา ซึ่งพูดได้ว่าเป็นเกมที่ค่อนข้างใช้เวลาในการเล่นช่วงแรกนานมาก หากเรายังไม่มีการ์ดมอนสเตอร์ที่มีพลังโจมตีสูงพอก็ต้องเล่นกันหลายเทิร์นเลยทีเดียว และด้วยข้อจำกัดของประสิทธิภาพบนเครื่อง Game Boy ทำให้การประมวลผลค่อนข้างช้าไปหน่อยตามสไตล์เกมยุคเก่า แต่สำหรับเกมเมอร์ในสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นเกมที่มีความสนุกสนานและสามารถพกติดตัวไปเล่นแก้เบื่อได้ในยามว่างเป็นอย่างดีเลยทีเดียวนะครับ


รู้หรือไม่? : หากนำเกมนี้ไปเล่นผ่านโปรแกรมจำลอง (Emulator) จะทำให้ตัวละครที่เป็นคู่แข่งในเกมทุกตัวมีการ์ด ‘บลูอายส์ ไวท์ดราก้อน’ อยู่ในเด็คคนละหนึ่งใบ แน่นอนว่าถ้า NPC สามารถสุ่มหยิบการ์ดนี้ออกมาได้ก่อน ผู้เล่นก็แทบจะไม่สามารถชนะได้ในเกมนั้น ๆ เลยล่ะครับ

Yu-Gi-Oh! Duel Monsters II: Dark Duel Stories [Game Boy Color]

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

ภาค 2 ของซีรีส์ Duel Monsters โดยมีชื่อตามท้ายภาคมาด้วยว่า Dark Duel Stories ตัวเกมได้มีการเพิ่มการ์ดจากภาคแรกขึ้นมาอีก 355 ใบ รวมทั้งหมดเป็น 720 ใบ และได้มีการเพิ่มการ์ดประเภทกับดักและพิธีกรรมเข้ามาในเกมเป็นครั้งแรกอีกด้วย

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

สำหรับรูปแบบการเล่นจะยังคงเหมือนกับภาคก่อน ผู้เล่นจะต้องเอาชนะตัวละครในด่านให้ได้ตัวละ 5 ครั้งเพื่อที่จะเปิดทางสู่ด่านถัดไป การจัดเด็คจำกัดอยู่ที่ 40 ใบเหมือนเดิม แต่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการจัดเด็คเพิ่มขึ้นมาคือ ‘ค่าความจุ’ (Capacity) ครับ ผู้เล่นจะมีค่าความจุเด็คเริ่มต้นที่ 400 โดยความจุที่ว่านี้คือค่าสำหรับใส่การ์ดใช้งานในเด็คของเราครับ การ์ดแต่ละใบจะมีเลเวลอยู่ ซึ่งเลเวลในที่นี้ไม่ได้หมายถึงระดับของมอนสเตอร์ แต่จะหมายถึงระดับของการ์ดแต่ละใบที่สามารถใส่ใช้งานในเด็คได้ครับ เช่น มอนสเตอร์ ‘เดวิล แฟรงเกน’ มีเลเวล 12 ก็จะมีค่าเท่ากับ 12 เมื่อใส่ลงในเด็คเป็นใบแรกแล้วก็จะเป็น 12/400 พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การจัดเด็คของเราต้องใช้การ์ด 40 ใบ โดยไม่ให้เกินค่าความจุของเด็คครับ ยิ่งเป็นการ์ดแข็งแกร่ง เลเวลในการใช้งานก็จะสูงตามไปด้วย แต่เราก็สามารถเพิ่มเลเวลของดูเอลลิสท์และค่าความจุนี้ได้จากการดูเอลต่าง ๆ ภายในเกมครับ

ส่วนพื้นที่บนสนามดูเอลก็จะถูกเพิ่มขึ้นมาเป็น 6 ช่องครับ มี 5 ช่องสำหรับลงมอนสเตอร์ กับอีก 1 ช่องสำหรับวางการ์ดกับดัก ตัวเกมจะไม่บังคับให้เราต้องออกคำสั่งกับมอนสเตอร์ทุกตัวบนสนามเพื่อทำการจบเทิร์นเหมือนกับภาคก่อนแล้ว (สามารถเลือกจบเทิร์นได้เอง) และในหนึ่งเทิร์นเราสามารถใช้การ์ดบนมือได้มากกว่า 1 ใบแล้วครับ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องเป็นไปตามกรณีที่ถูกกำหนดไว้ คือ กรณีที่มีมอนสเตอร์อยู่บนสนามแล้วเราใช้การ์ดบนมือส่งไปรวมร่างสำเร็จ ในเทิร์นนั้นเราจะยังสามารถลงมอนสเตอร์เพิ่มได้อีกหนึ่งใบครับ

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

นอกจากนี้ยังมีกฏที่เพิ่มเข้ามาใหม่ด้วยนั่นก็คือ ‘การแพ้ทาง’ มอนสเตอร์สามารถถูกทำลายได้โดยความเหนือชั้นของเผ่าที่ต่อสู้ด้วย โดยไม่ต้องสนค่าพลังโจมตีหรือค่าพลังป้องกันเลย เมื่อมอนสเตอร์ที่เป็นเผ่าแพ้ทางทำการโจมตีมอนสเตอร์ที่เป็นเผ่าได้เปรียบในขณะตั้งรับ มอนสเตอร์ที่แพ้ทางจะถูกทำลายลงในทันที หรือมอนสเตอร์ที่เป็นเผ่าได้เปรียบแต่พลังโจมตีน้อยกว่ามอนสเตอร์ที่เป็นเผ่าแพ้ทาง กรณีนี้ก็สามารถทำการโจมตีได้เช่นกันครับ มอนสเตอร์เผ่าที่แพ้ทางก็จะถูกทำลายลงในทันทีโดยไม่ส่งผลไปยังไลฟ์พ้อยท์ของผู้เล่นครับ โดยแต่ละเผ่าจะมีระบบแพ้ทางกันดังนี้

ดำ > ขาว > ปิศาจ > มายา > ดำ

ไฟ > ป่า > ลม > ดิน > สายฟ้า > น้ำ > ไฟ

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

ข้อยกเว้นสำหรับกฏนี้ก็คือ มอนสเตอร์ที่เป็นเผ่าได้เปรียบที่มีพลังโจมตีสูงทำการโจมตีมอนสเตอร์เผ่าแพ้ทางที่ตั้งโจมตีและมีพลังโจมตีน้อยกว่า หรือโจมตีมอนสเตอร์เผ่าแพ้ทางที่ตั้งป้องกันอยู่ ผลลัพธ์ของการต่อสู้จะถูกคำนวณตามเกมปกติครับ

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

สำหรับภาคนี้ก็นับว่ามีความแปลกใหม่ และทำให้การเล่นเกมมีโอกาสโต้กลับคู่ต่อสู้ที่มีการ์ดแข็งแกร่งกว่าเราได้ครับ ตัวเกมที่ลงให้กับ Game Boy Color นอกจากจะเพิ่มสีสันให้กับภาพดูสดใสมากขึ้น ระบบการต่อสู้ของการ์ดก็ประมวลผลได้รวดเร็วมากกว่าภาคแรก และยังมีการเพิ่มส่วนเสริมต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น ระบบเปลี่ยนชื่อ การใส่รหัสผ่าน การแลกเปลี่ยนการ์ดผ่านได้ทั้งตัวเกมภาค 1 และภาค 2 นอกจากนี้ตัวออพชั่นก็ยังมีความลับซ่อนไว้ให้ค้นหาอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาเกมของซีรีส์ Duel Monsters อย่างจริงจังเลยครับ


รู้หรือไม่? : เช่นเดียวกับตัวเกมภาคแรก หากใครที่เล่นเกมนี้ผ่านโปรแกรมจำลองก็จะได้พบกับคู่ต่อสู้ทุกคนที่มี “บลูอายส์ ไวท์ดรากอน” อยู่ในเด็คกันคนละ 1 ใบ ซึ่งตามปกติจริง ๆ แล้ว คู่ต่อสู้ที่จะมีการ์ดใบนี้อยู่ในเด็คได้จะมีเพียงแค่ “ไคบะ เซโตะ”, “ยามิยูกิ” และ “ยามิบาคุระ” 3 คนเท่านั้น

Yu-Gi-Oh! Duel Monsters III: Tri-Holy God Advent

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

มาต่อกันด้วยภาค 3 ของซีรีส์ Duel Monsters โดยภาคนี้เป็นภาคแรกของซีรีส์ที่ได้มีการจำหน่ายนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นภาษาอื่นด้วย ส่วนรูปแบบของเกมก็ยังคงการเล่นเอาไว้แบบภาคที่ผ่านมา ผู้เล่นต้องชนะคู่ต่อสู้ให้ได้ตัวละ 5 ครั้งในด่านเพื่อเปิดทางสู่ด่านถัดไป ระบบการดูเอลหรือแลกเปลี่ยนการ์ดกับเพื่อนก็ยังคงมีให้ใช้อยู่เช่นเคย (โดยการใช้สายลิงก์เป็นสื่อ)

ระบบของเกมได้มีการพัฒนาต่อยอดขึ้นจากภาคก่อน ทำให้สามารถเล่นได้ง่ายขึ้น ส่วนการ์ดของเกมก็ยังคงมีรูปแบบตามกฏเดิมของซีรีส์ ไม่ได้อ้างอิงการเล่นจาก OCG หรือ TCG แต่อย่างใด สำหรับส่วนแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงเลยคือรายละเอียดของ ‘การ์ด’ ครับ ตัวเกมจะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของการ์ดเพื่อให้มีความเข้าใจง่ายขึ้น ในส่วนของ ‘Level’ ภาคนี้ก็จะเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘Cost’ แทน และส่วนของ ‘Level’ ก็จะถูกนำไปใช้งานตามเดิมในรูปแบบของการ์ดครับ โดยในภาคนี้มอนสเตอร์เลเวลสูงจะต้องเรียกโดยการบูชายัญแล้วครับ (เลเวล 5 ขึ้นไป) การ์ดมอนสเตอร์บางใบในภาคนี้ก็จะมีความสามารถพิเศษเพิ่มเข้ามาให้ใช้งานได้ แต่ก็ไม่ได้อ้างอิงตามกฎของ OCG หรือ TCG เช่นกัน จึงอาจทำให้ผู้เล่นเกิดความสับสนกันได้เล็กน้อยครับ

ในส่วนของการดูเอลก็จะมีคำสั่งต่าง ๆ เพิ่มเข้ามา อย่างเช่น การทิ้งการ์ดบนมือ คำสั่งกดใช้ความสามารถพิเศษ กดบูชายัญ นอกจากนี้การฟิวชั่นมอนสเตอร์ก็ยังคงทำได้เหมือนเดิมโดยไม่ต้องมีการ์ดฟิวชั่นครับ แต่ว่าในภาคนี้เมื่อผู้เล่นทำการฟิวชั่นมอนสเตอร์แล้ว มอนสเตอร์ฟิวชั่นที่ลงมาในสนามครั้งแรกจะไม่สามารถออกคำสั่งใด ๆ ได้ครับ และระบบ ‘แพ้ทาง’ ของพวกมอนสเตอร์ในเกมก็ยังคงมีให้ใช้งานได้เหมือนเช่นเคยครับ

ความพิเศษอีกอย่างที่เพิ่มเข้ามาในภาคนี้ก็คือระบบ ‘สร้างการ์ด’ ครับ ผู้เล่นจะสามารถสร้างการ์ดมอนสเตอร์ได้เอง โดยสามารถหาชิ้นส่วนได้หลังจากการเอาชนะดูเอลมาได้ครับ มอนสเตอร์การ์ดที่สร้างได้จะถูกแบ่งออกเป็นชิ้นส่วนล่างกับชิ้นส่วนบน ผู้เล่นสามารถรวบรวมชิ้นส่วนและนำมาสร้างการ์ดได้หลากหลายรูปแบบเลยทีเดียวครับ แน่นอนว่าสามารถนำการ์ดดังกล่าวมาใช้งานในการดูเอลภายในเกมได้อีกด้วย

จากการปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบของเกมในภาคนี้ ทำให้ตัวเกมมีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก ผู้เล่นสามารถสนุกไปกับการดูเอลในรูปแบบที่แตกต่างจากการเล่นการ์ด OCG / TCG ได้ ทั้งในด้านของการดูเอล หรือการสะสมการ์ด และการรวบรวมชิ้นส่วนต่าง ๆ ในการสร้างการ์ดครับ

Yu-Gi-Oh! Duel Monsters 4: Battle of Great Duelist

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

เกมลำดับที่ 4 ของซีรีส์ Duel Monsters โดยมีความพิเศษอยู่ตรงที่ถูกสร้างออกมาเป็น 3 เวอร์ชั่น ได้แก่ ยูกิเด็ค, ไคบะเด็ค และ โจโนะอุจิเด็ค โดยแต่ละเวอร์ชั่นจะสามารถใช้การ์ดที่ถูกกำหนดไว้ได้บางส่วนจากจำนวนที่มีอยู่ 900 ใบ เช่น การ์ด “บลูอายส์ ไวท์ดราก้อน” จะสามารถใช้เล่นได้เฉพาะไคบะเด็คเท่านั้น ส่วนอีกสองเวอร์ชั่นจะไม่สามารถใช้การ์ดนี้ได้ นอกจากนี้การ์ดเทพแต่ละใบจะสามารถใช้ได้หลังจากจบเกม แต่การได้รับจะสามารถรับได้จากเวอร์ชั่นอื่นโดยการแลกเปลี่ยนเท่านั้น เช่น “มังกรฟ้าโอซิริส” จะสามารถใช้ได้เฉพาะใน “ยูกิเด็คเวอร์ชั่น” แต่จะสามารถหาการ์ดได้จาก “ไคบะเด็คเวอร์ชั่น” ด้วยการเอาชนะยามิยูกิ เป็นต้น

สำหรับรูปแบบการเล่นก็จะเหมือนภาคก่อน ๆ ผู้เล่นจะต้องเอาชนะคู่ต่อสู้ในแต่ละด่านให้ได้คนละ 5 ครั้ง (หรือมากกว่าในบางด่าน) กฎการดูเอลต่าง ๆ ก็จะเหมือน ๆ กับภาค 3 ทั้งหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นการฟิวชั่นโดยไม่ต้องใช้การ์ดเวทมตร์ ระบบแพ้ทางที่เอามาแทนที่เรื่องธาตุ และรวมไปถึงค่าความจุที่ยุ่งยากสำหรับการจัดเด็ค เรียกได้ว่าภาพรวมการเล่นของภาคนี้ค่อนข้างยุ่งยากสุด ๆ ไปในทุกส่วนเลยล่ะครับ หากใครไม่เคยเล่นสามภาคแรกมาก่อนแล้วมาจับภาคนี้ก็คงจะมึนงงไปกับกติกาของเกมอย่างแน่นอน

รู้หรือไม่? : ในเกมภาคนี้จะมีตัวละครรับเชิญขำ ๆ โผล่เข้ามาในเกมด้วย ได้แก่ “ยูกิ กอนบุโทริ” และ “ไคเซอร์อุมิอุมะ” แต่เด็คของพวกเขาที่ใช้สู้กับเรานี่แทบขำไม่ออกเลยล่ะ

*ทั้งสองคนเป็นตัวละครล้อเลียนยูกิกับไคบะที่มักจะโผล่มาให้เห็นในนิตยสาร V Jump

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

ยูกิ กอนบุโทริ

[เปิดกรุเกมเก่า] Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters

ไคเซอร์อุมิอุมะ

อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับกับข้อมูลของเกม Yu-Gi-Oh! ซีรีส์ Duel Monsters สี่ภาคแรกในยุคของ GameBoy – GameBoy Color พอมาย้อนดูแบบนี้แล้วก็รู้สึกว่า เป็นเกมที่ค่อนข้างยุ่งยากและต้องใช้ความอดทนในการเล่นเยอะเลยทีเดียวนะเนี่ย หากใครไม่เคยเล่นและอยากลองสัมผัสประสบการณ์แบบดูเอลลิสท์สุดทรหด ก็ขอแนะนำเกม Yu-Gi-Oh! Early Days Collection ครับ เป็นเกมที่รวมเกมยูกิภาคเก่าหลาย ๆ ภาคมามัดรวมกันขายในเกมเดียว แต่ด้วยยุคสมัยนี้แล้วก็มีการพัฒนาตัวเกมให้เล่นได้สะดวกสบายขึ้นครับ สำหรับ Yu-Gi-Oh! Duel Monsters ภาคอื่น ๆ ที่เหลือ ใครที่อยากอ่านเพิ่มเติมอีก หากมีโอกาสหน้าไว้ผมจะนำเรื่องราวมาเขียนให้อ่านเพิ่มเติมกันนะครับ (กลัวเขียนลงในบทความเดียวแล้วจะยาวเหยียดเกินไปแหละ) แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับผม

Back to top button