สกู๊ปพิเศษ

8 การปล้น (ผู้เล่น) สุดแสบแห่งวงการเกม

อีกหนึ่งบาดแผลที่ค่ายเกมยักษ์ใหญ่สร้างไว้แก่เกมเมอร์

ในยุคปัจจุบันวิดีโอเกมถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเภทสื่อบันเทิงที่กลายเป็นที่นิยมของผู้คนทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันอย่างแพร่หลายกว่าแต่ก่อนมาก นอกจากจะส่งผลให้ค่ายเกมยักษ์ใหญ่ทำเกมดีๆ ออกมาให้เราเล่นอย่างไม่หวาดไม่ไหวแล้ว บางบริษัทยังมีการเสาะหาวิธีต่างๆ นานาที่จะทำให้ตัวเกมของตนสามารถสร้างรายได้ให้เป็นกอบกำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนลืมความต้องการของผู้เล่นอย่างเราไป แต่กลับหันไปโฟกัสเรื่องกำไรและยอดขายอย่างไม่สนใจไยดี โดยวันนี้ผมได้ทำการรวบรวม 8 การปล้น (ผู้เล่น) สุดแสบแห่งวงการเกม มาฝากกันด้วย จะมีเรื่องราวอะไรบ้างนั้น ไปชมพร้อมๆ กันเลยดีกว่าครับ

1. ระบบเหรียญ VC จาก NBA 2K20

image 422

ผมเชื่อว่าถ้าใครเคยเล่นเกมซีรีส์ NBA 2K มาแล้วต้องรู้ถึงความโลภของค่ายเกมนี้เป็นอย่างดี ก่อนอื่นผมขออธิบายตัวเกมก่อนว่าจริงๆ แล้วการเพิ่มฟีเจอร์ของเกมในซีรีส์ NBA 2K ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการเปลี่ยน UI, Sounddtrack และการอัปเดตทีมให้เป็นปัจจุับัน แต่นอกเหนือจากที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว ตัวเกมทุกภาคก็แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย แถมในเกมภาคล่าสุดอย่าง 2K20 ก็ยังคงยึดติดกับโมเดลเหรียญ VC อีกเช่นเคย แต่สำหรับผู้อ่านท่านไหนที่คิดว่า “ ผมไม่เติม แต่เล่นฟาร์มเอาเองในเกมก็ได้ “ ขอบอกเลยว่าคุณคิดผิดแล้ว เพราะทุกการเล่นของเรา ไม่ว่าจะในโหมดอะไรก็ตาม โอกาสที่เราจะได้เหรียญ VC แต่ละครั้งมันช่างน้อยเสียเหลือเกิน ทำให้การอัปเกรดตัวละครผู้เล่นที่เราสร้างเองหรือ Myplayer ที่ต้องใช้เหรียญ VC ในการอัปเกรดทำได้ยากและใช้เวลานานเกินความจำเป็น ทำให้เกมซีรีส์นี้กลายเป็นที่ไม่พอใจของผู้เล่นอย่างไม่ต้องสงสัย (แค่อัปเกรดให้ผู้เล่นของเราเก่งก็ปาเข้าไปหลายชั่วโมงแล้ว 60 – 100 ชม. เลยก็ว่าได้ หากคุณไม่ซื้อ VC)


2. True Ending DLC จาก Dead Rising 4

image 5479


มาต่อกันที่ Dead Rising 4 เกมไล่หวดฝูงซอมบี้สุดมันส์จากค่าย Capcom ที่ในขณะนี้ทางค่ายการปล่อยผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง (Resident Evil 2 Remake, Monster Hunter World, DMC 5) แต่เชื่อหรือไม่ว่า ก่อนที่ Capcom จะกลับมายืนเด่นเป็นสง่าได้เหมือนทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเลือกเดินเส้นทางสายมืด นั่นคือการหั่นแยกคอนเทนต์เกมของตัวเองมาขายอีกที เป็นหนึ่งสิ่งที่ค่ายนี้ถนัด (พูดละขึ้น)

โดยในเกม Dead Rising 4 ที่เป็นเสมือนภาคคืนฟอร์มเดิมของเกมตระกูล Dead Rising แต่ผลที่ได้ก็คือตัวเกมไม่ได้รับฟีดแบ็กที่ดีจากผู้เล่นมากนัก แถมเนื้อเรื่องตอนจบดันจบแบบค้างคา (Cliffhanger Ending) อีกทั้งผู้เล่นอย่างเรายังโดนทาง Capcom มาหักหลังอีกครั้งกับการปล่อย DLC True Ending ให้เราต้องซื้อเพิ่มเพื่อให้เห็นตอนจบที่แท้จริงของเกม ส่งผลให้ผู้เล่นที่ซื้อเกมมาในราคาเต็มต้องพากันปาจอยและสวดส่ง Capcom ไปตามๆ กัน


3. Expansion Raid จาก Destiny 2

image 5482

อีกหนึ่งเกมยักษ์ใหญ่จากทาง Bungie และ Destiny 2 แต่ก่อนที่จะลงรายละเอียดในกรณี Expansion ผมขออนุญาตเท้าความก่อนว่าเกมนี้เป็นแนว Looter Shooter ที่มีการนำระบบเกมแนวยิง FPS มาผสมกับการเก็บเลเวลของตัวละครและระบบอื่นๆ ที่ได้กลิ่นอายแบบเกมแนว RPG ซึ่งระบบดังกล่าวพอมาผสมรวมกันทำให้ผู้เล่นต้องมีการเก็บเลเวลในระดับที่สูงพอที่จะเข้าเล่นในโหมด Raid ที่ถือว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของตัวเกม (ผู้เล่นจำเป็นต้องมีเลเวลประมาณ 300) และเมื่อตัวเกมมี Expansion ใหม่ๆ ออกมา นอกจากจะมีคอนเทนต์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาแล้ว ยังมีการเพิ่ม Raid ใหม่ๆ ให้ผู้เล่นอย่างเราอดใจไม่ได้ที่จะเข้าไปลองอีกด้วย แต่ประเด็นคือ Expansion เหล่านี้มันไม่ฟรีนี่สิ ทำให้ผู้เล่นที่ตั้งหน้าตั้งตารอเล่นของใหม่ต้องน้ำตาคลอกันไปตามระเบียบ แต่อย่างไรก็ตาม ทางทีมผู้พัฒนาอย่าง Bungie ก็รับรู้ฟีดแบ็กดังกล่าวและได้ทำการปล่อย Shadowkeep Expansion พร้อมกับแง้มว่าตัวเกมจะมีเวอร์ชั่นเล่นฟรีออกมาเพื่อกระตุ้นยอดผู้เล่นอีกด้วย เรียกได้ว่าพอหลุดมาจากใต้เงาของ Activision ก็ได้โชว์ป๋ากันเลยทีเดียว

4. ต้องซื้อ Monster และ Hunter จาก Evolve

image 5481

ยังมีใครจำชื่อเกมนี้ได้บ้างหรือเปล่าครับ คุณเชื่อหรือไม่ว่าเมื่อครั้งหนึ่งตอนที่เกมนี้เปิดตัว Evolve ได้กลายเป็นที่ฮือฮาในหมู่เกมเมอร์กันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม เกมนี้ก็มาพร้อม Microtansaction สุดโหด (เรียกว่าปล้นกันลยจะดีกว่า) กับการขายทั้งตัว Monster และ Hunter ที่ให้ผู้เล่นซื้อแยกเอง

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผย DLC ออกมาก่อนที่เกมจะวางจำหน่ายเสียอีก โดย DLC ทั้งหมดมีมูลค่ารวมกันถึง 136 USD (ประมาณ 4,148 บาท) เลยทีเดียว บอกเลยว่าตัว DLC แพงกว่าตัวเกมจริงๆ เสียอีก แต่ถ้าคุณคิดว่า “ซื้อเกมเต็มมาเล่นอย่างเดียวก็ได้ ไม่เห็นต้องง้อ DLC เลย“ จริงๆ มันก็ทำได้ครับ แต่ตัวเลือกในการเล่นของคุณจะจำกัดมากๆ ทั้งฝั่ง Hunter และ Monster ที่มีให้เล่นแค่หยิบมือ ถ้าต้องการเล่น Hunter หรือ Monster ตัวใหม่ก็ต้องควักเงินมาจ่ายเพิ่มเท่านั้น (ตกตัวละประมาณ 7 USD หรือ 213.29 บาท) ทำให้มันแลดูขัดแย้งกับเกมที่ในตอนแรกจะออกมาวางขายในราคาเกมระดับ AAA แต่กลับใช้โมเดลธุรกิจแบบเกมออนไลน์เล่นฟรี ทำให้ผู้เล่นอย่างเราต้องเอือมไปตามๆ กัน (แต่ตอนนี้เกมก็ปล่อยเล่นฟรีแล้วนะ แต่ก็ยังคงใช้วิธีหาเงินแบบเดิมอยู่)

5. Fatality Token จาก Mortal Kombat 11

image 5482

สำหรับข้อนี้ผมอาจจะอธิบายสั้นกว่าข้ออื่นสักเล็กน้อยนะครับ แต่ก่อนอื่นเลยผมขออธิบายตัวระบบหนึ่งที่มีเพียงแค่ในเกม Mortal Kombat  เท่านั้น นั่นก็คือระบบ Fatality ที่ตัวละครฝ่ายชนะจะทำการฆ่าตัวละครอีกฝ่ายอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งวิธีในการกดปุ่ม Fatality ของตัวละครแต่ละตัวก็จะมีไม่เหมือนกัน (วิธีการกดก็จะประมาณว่า ขึ้น, ลง , ซ้าย, ขวา ประมาณนั้นครับ) แต่ค่าย NetherRealm Studios ก็มีการใส่ Fatality Token เข้ามาในเกม ทำให้ผู้เล่นฝ่ายชนะสามารถกดท่า Fatality ได้เพียงแค่กดใช้เหรียญ Token เท่านั้น (จริงๆ การทำ Fatality มันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นนะครับ) บอกได้เลยว่าเป็นการนำ Microtransaction มาปรับใช้ได้ค่อนข้างจะน่าเกลียดใช้ได้เลย ชวนให้เกมเมอร์อย่างเราขมวดคิ้วไปตามๆ กันว่าใส่มาเพื่ออะไร?


6. ซื้ออาวุธด้วยเงินจริงๆ จาก Dead Space 3

image 5480


คุณคิดว่าเสน่ห์ของเกมแนว Survival-Horror หรือแนวเอาตัวรอดนั้นมีอะไรบ้าง ผมเดาว่าคำตอบของคุณผู้อ่านก็คงมีอยู่หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าต้องมีข้อนึงที่ผู้อ่านหลายคนต้องคิดเหมือนกันก็คือเกมแนวนี้ต้อง “ น่ากลัว “ เพราะถ้ามันไม่น่ากลัวมันก็คงไม่ Horror สมชื่อจริงไหมครับ แต่ทาง EA กลับไม่คิดเช่นนั้นและได้ทำการใส่ Microtransaction เข้ามาในเกม Dead Space 3 (ภาคสุดท้ายที่เราได้เล่นกัน) ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถซื้ออาวุธในเกมได้ด้วยเงินจริงๆ (นี่เป็นเกม Singleplayer นะครับอย่าลืม) แถมเจ้าอาวุธที่เราสามารถซื้อได้ มันก็มีทั้งความแรงและประสิทธิภาพที่สูงเอามากๆ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวนั้นแตกต่างไปจากกรณีอื่นๆ ก็คือตัวเกมไม่ได้บังคับให้เราต้องเติมเพื่อซื้ออาวุธดังกล่าวเพื่อเล่นให้จบ แต่ถึงอย่างนั้นการที่ทางผู้จัดจำหน่ายใส่ระบบซื้ออาวุธด้วยเงินจริงๆ เข้ามาในเกมแนว Singleplayer แบบนี้เนี่ย ดูกี่ครั้งมันก็เป็นการกระทำที่ไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับของเหล่าเกมเมอร์เอาเสียเลย (คงไม่มีใครยอมเติมเงินเพื่อให้เกมง่ายขึ้นและสนุกน้อยลงจริงไหมล่ะครับ)


7. ซื้ออาวุธด้วยเงินจริง (อีกหนึ่งข้อ) จาก Call of Duty: Modern Warfare Remastered

image 5483

อย่าเพิ่งสับสนเกมภาคนี้กับเกม Modern Warfare 2019 นะครับ เพราะภาคที่ผมหยิบยกมานี้เป็นเกมภาค Remaster หรือตัวเกมภาคต้นฉบับ Modern Warfare ในปี 2007 นั่นเอง และกรณีที่ผมจะหยิบยกขึ้นมา ก็เป็นหนึ่งประเด็นใหญ่ประเด็นร้อนที่มันส่งผลถึงเกมการเล่นในโหมดออนไลน์อย่างใหญ่หลวงในเกมภาคนี้ ปัญหาดังกล่าวก็คือการซื้อปืนในเกมด้วยเงินจริงๆ ทั้งๆ ที่ตัวเกมมันไม่ใช่เกมยิงแบบ Free-to-play ( แต่วิธีหาเงินกลับเหมือนกัน ) ทำให้ในการเล่นเกมเกิดความเหลื่อมล้ำมากๆ ระหว่างผู้เล่น เท่านั้นยังไม่พอ เกมยังมีการขาย Map Pack หรือการขายแผนที่แยกอีกต่างหาก คือนอกจากจะขายในราคาเต็มแล้ว ยังมีการบังคับให้เราจ่ายเงินเพื่อที่จะเข้าถึงคอนเทนต์ใหม่ๆ ภายในตัวเกมอีก เรียกได้ว่ากะจะเอาเงินในกระเป๋าของเราทุกเม็ดจริงๆ

8. Loot Chess จาก Middle-earth: Shadow of War

image 5482

จะว่าเป็นอีกหนึ่งเคส Microtransaction ที่น่าเกลียดที่สุดเลยก็ว่าได้กับเคส Loot Chess ของเกม Middle-earth: Shadow of War นั่นเองครับ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกมนี้กลายเป็นที่ขยาดของเกมเมอร์หลายๆ คนเนี่ยคงไม่พ้นการเติมเงินเให้เราสามารถจบเกมนี้ได้อย่างสมบูรณ์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือกบังคับให้เราต้องจ่ายเงินจริงๆ เพื่อลดเวลาการ Grinding ในช่วงท้ายของเกมให้น้อยลง (หรืออาจะสามารถข้ามช่วง Grinding ไปได้เลย) ซึ่งการนำ Mircrotransaction มาใช้ในกรณีนี้เนี่ย นอกจากมันจะเป็นโมเดลธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบจนน่าเกลียดแล้ว มันยังทำให้ความสนุกของตัวเกมลดน้อยลงไปด้วย ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นเกมที่ดีในตอนแรก แต่สุดท้ายต้องตกมาตายด้วยความโลภของผู้จัดจำหน่ายที่มัดมือชกบังคับให้ผู้เล่นอย่างเราต้องทนเล่นให้จบ แต่ถ้าไม่อยากทนก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้ฉากจบที่สมบูรณ์เร็วขึ้น แค่คิดแล้วก็ชวนให้เราเบือนหน้าหนีแล้วล่ะครับ


ก็จบกันไปแล้วนะครับกับ 8 การปล้น (ผู้เล่น) สุดแสบแห่งวงการเกม มีเหตุการณ์ไหนบ้างที่คุณเคยเจอมากับตัวแล้ว เคยเสียเงินไปกับสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากตัวเกมหลักบ้างไหมครับ คงมีผู้เล่นไม่น้อยเลยที่ต้องจำใจเติมเงินเพื่อให้ได้ประสบการณ์การเล่นเกมที่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่มันควรจะดีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ผมเชื่อว่าเทรนด์เกมในยุคปัจจุบัน การนำ Mircrotransaction เข้ามาในเกมอาจจะมีให้เห็นน้อยลงกว่าเดิม หรือถึงจะมีก็อาจจะไม่ได้ส่งผลกับประสบการณ์ในการเล่นของเรามากจนเกินพอดี (ส่วนมากก็จะเป็นของประดับ Cosmetic ซะมากกว่า) และถึงแม้เกมจะเป็นสินค้าทางธุรกิจก็ตาม แต่ทางผู้พัฒนาและผู้จัดจำหน่ายก็ควรจะคำนึงถึงความสนุกของเกมมาเป็นอันดับต้นๆ ควบคู่กับยอดขายด้วย เพราะถ้าเกมไม่สนุกก็คงไม่มีคนซื้อจริงไหมล่ะครับ

ที่มา
theverge
Back to top button