สกู๊ปพิเศษ

7 โมเมนต์ที่ดูเอลลิสต์ยุคบุกเบิกต้องเคยทำ

สมัยเล่นการ์ดยูกิกับเพื่อนที่โรงเรียน ก่อนมีกฎและวิดีโอเกมให้เล่น

สวัสดีเพื่อน ๆ ชาวดูเอลลิสต์ทุกท่าน เชื่อว่าสมัยเด็ก ๆ หลายคนน่าจะเคยเล่นการ์ดยูกิกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน ก่อนที่จะมาเป็นวิดีโอเกมอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ยิ่งในช่วงยุคบุกเบิกเกมการ์ดเมื่อหลายสิบปีก่อน กฎและกติกาต่าง ๆ ของการเล่นการ์ดก็ยังไม่ชัดเจนและยังไม่ลงตัวเท่าไหร่นัก แต่การ์ดก็ถูกผลิตขึ้นมาให้เราเล่นกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการ์ดจริงการ์ดปลอม ขอแค่อ่านหนังสือการ์ตูนเรื่อง “เกมกลคนอัจฉริยะ” ก็สามารถเล่นการ์ดยูกิได้ง่าย ๆ และนี่คือสิ่งที่ดูเอลลิสต์ยุคบุกเบิกต้องเคยทำในอดีต แม้จะไม่ตรงกฎก้ตาม แต่พอมองย้อนกลับไปก็ฮาดีเหมือนกัน

image 302

1. ตกลง Life Point ตามที่ชอบ

image 301


คนที่เล่นการ์ดยูกิด้วยกฎกติกาสากลก็จะรู้กันดีว่า Life Point ที่เราใช้กันจะเป็น 8,000 แต้ม เนื่องจากว่าในยุคปัจจุบันการ์ดต่าง ๆ ก็มีพลังโจมตีเยอะขึ้น เรียกง่ายขึ้น โดน Direct Attack ง่ายขึ้น แถมการ์ดเวทย์หรือกับดักบางใบยังเน้น Cost Life Point อีกด้วย การมี Life Point 8,000 แต้มจึงไม่ใช่เรื่องที่เวอร์วังเกินจริงสำหรับการเล่นในปัจจุบัน แต่อดีตไม่ใช่แบบนั้น เพราะแรกเริ่มการเล่นการ์ดยูกิด้วยกติกา “เมจิกแอนด์วิซาร์ด” จะมีไลฟ์พอยต์เริ่มต้นเพียงแค่ 2,000 แต้มเท่านั้น และนอกจากนี้กติกา “ดูเอลมอนสเตอร์” ของการ์ตูนยังมีเพียงแค่ 4,000 แต้มเพื่อไม่ให้การ์ตูนมีความยืดยาวจนเกินไป แต่สำหรับผู้เล่นยุคบุกเบิกนั้นจะเล่น Life Point เท่าไหร่ ด้วยกติกาแบบไหน เราจะมีการตกลงกันก่อนเล่นเสมอครับว่าจะจัดเท่าไหร่ดี บางครั้งก็ 2,000 บางครั้งก็ 4,000 ตามการ์ตูน หรือบางครั้งก็ 8,000 ตามกติกาสากลครับ

2. มั่วเอฟเฟคการ์ดตามภาพบนการ์ด

image 300


อย่างที่เราทราบกันดีว่าการ์ดยูกิก็ยังคงเป็นสินค้าที่มีต้นแบบจากประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นภาษาที่เขียนไว้อยู่บนหน้าการ์ดก็มักจะเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย ขนาดว่าภาษาอังกฤษยังหายากกว่าการ์ดญี่ปุ่นมาก แถมสมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ตมาเสิร์ชหาข้อมูลการ์ดเหมือนอย่างปัจจุบัน ดังนั้นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้จึงมีเพียงการ์ดที่ปรากฎอยู่ในหนังสือการ์ตูนเท่านั้น (ขนาดเล่นตามหนังสือเอฟเฟคยังไม่ตรงเลย) แต่ถ้าเกิดว่าเพื่อน ๆ คนไหนที่โรงเรียนเริ่มเอาการ์ดแปลกประหลาดเข้ามาก็จะมีการขี้โม้เอฟเฟคการ์ดจากรูปภาพ ภาษาญี่ปุ่นก็อ่านไม่ออก ในการ์ตูนก็ไม่มี ดูภาพแล้ววิเคราะห์ตามแบบมั่ว ๆ ถ้ามีตัวเลขกำกับหน่อยก็จะคิดไปเองว่ามันคือ Life Point ซึ่งส่วนใหญ่เอฟเฟคที่คิดเองเออเองแบบนี้จะโกงจนออกนอกหน้า แล้วเพื่อน ๆ ก็ไม่ค่อยอยากจะเล่นด้วยเท่าไหร่ครับ

3. ประกาศโจมตีเพื่อบังคับให้กับดักทำงาน

image 299


ในสมัยก่อนการเล่นการ์ดยูกิมันไม่ได้ซับซ้อนแบบในปัจจุบัน มันเป็นกติกาง่าย ๆ และเล่นกันอย่างตรงไปตรงมา เช่น มอนสเตอร์ก็ใช้โจมตีหรือตั้งรับ เวทมนตร์ก็ใช้เพื่อสนับสนุนการ์ดเล่น กับดักก็ใช้ดักทางตอนศัตรูโจมตี ดังนั้นการใช้การ์ดกับดักในสมัยก่อนจึงมักจะมีเงื่อนไขว่า “เมื่ออีกฝ่ายประกาศโจมตี” ถึงจะใช้ได้ ซึ่งในการ์ตูนเองก็มักจะเล่นแบบนั้นเหมือนกัน มีหลายครั้งที่เราเห็นว่าตัวละครในเรื่องสั่งโจมตีเพื่อบังคับให้กับดักทำงาน ในขณะที่การเล่นการ์ดจริงนั้นทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะกับดักจะใช้หรือไม่ใช้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้เล่น ถ้าผู้เล่นมองว่าใช้แล้วไม่คุ้มจะเก็บไว้ใช้รอบหน้าก็ยังได้ แต่ดูเอลลิสต์ยุคบุกเบิกเมื่อ 20 ปีก่อน เราจะมีการใช้วิธีนี้ดักทางกันบ่อยมาก และก็จะทะเลาะกันเพราะอีกฝ่ายไม่ยอมใช้กับดักครับ

4. เล่นแบบ Tag Team สามารถเอามอนสเตอร์ไปป้องกันเพื่อนได้

image 298


อีกหนึ่งกติกาที่ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ในยุคแรกเริ่มนั้นก็คือกติกา Tag Team ครับ ซึ่งถ้าเอาตามกติกาสากลในเกมการเล่นแบบ Tag Team คือการให้ผู้เล่น 2 คนใช้สนามเดียวกัน แต่เล่นคนละเด็ค ซึ่งในยุคบุกเบิกของการ์ตูนเรื่องนี้ยังไม่มีกติกานี้ออกมาอย่างชัดเจน แต่มันกลับมีฉากที่ตัวละครในการ์ตูนเล่นคู่กัน มีทั้งแบบอยู่ทีมเดียวกันและมีทั้งแบบ Battle Royale กัน 4 คน พอมันมีให้เห็นแบบนั้นเด็กนักเรียนก็เล่นตามการ์ตูนสิครับ แทนที่เราจะเล่นแบบ 1-1 ไปตลอด การเปลี่ยนไปเล่น 2-2 หรือ Battle Royale ก็สนุกขึ้นเป็นกอง แต่หนึ่งในวิธีเล่นสุดฮิตตามการ์ตูนคือการเอามอนสเตอร์ที่เราควบคุมอยู่ไปป้องกันให้เพื่อนที่กำลังถูกโจมตีได้ ซึ่งในกติกาจริงมันไม่มีแบบนี้ (555) แล้วเวลาช่วยเพื่อนให้รอดตายได้มันก็จะยืดอกหน่อย ๆ จริงไหมครับ

5. ลงมอนสเตอร์หงายหน้าตั้งป้องกันจากบนมือ

image 297


กติกาสากลในปัจจุบัน การลงมอนสเตอร์แบบปกติจากบนมือ หากต้องการจะตั้งป้องกันจะต้องคว่ำหน้าตั้งป้องกันเท่านั้น แต่สำหรับในการ์ตูนสมัยก่อนนั้น การลงมอนสเตอร์ตั้งป้องกันนั้นสามารถหงายหน้าให้เห็นเลยว่ามอนสเตอร์ตัวนั้นมีพลังป้องกันเท่าไหร่ ซึ่งมันอาจจะง่ายต่อการเขียนการ์ตูน แต่สำหรับการเล่นมันอาจจะตึงมือหน่อยสำหรับคนเล่นเด็คสายป้องกัน ซึ่งแน่นอนว่ามีเพื่อนที่โรงเรียนไม่น้อยเลยที่เกลียดการคว่ำหน้าตั้งป้องกันแล้วบังคับให้อีกฝ่ายหงายหน้าตั้งป้องกันตามการ์ตูน เพราะจะได้รู้ว่าพลังป้องกันเท่าไหร่แล้วจะได้เลือกโจมตีถูก ซึ่งก็เป็นโมเมนต์หนึ่งในช่วงยุคแรก ๆ เท่านั้น เพราะในสมัยนี้คงไม่ค่อยมีการลงมอนสเตอร์ตั้งป้องกันแบบหงายหน้าให้เห็นแล้วครับ เพราะมันเสียเปรียบมาก

6. เปิดหนังสือการ์ตูนอ้างอิงเอฟเฟคการ์ด

image 296


อย่างที่กล่าวไปในข้อแรก ๆ ว่า สื่อเดียวที่อ้างอิงเอฟเฟคของการ์ดได้คือหนังสือการ์ตูน เพราะเราไม่มีอินเทอร์เน็ตให้หาข้อมูลแบบเรียลไทม์ขณะเล่น หนังสือการ์ตูนจึงเป็นของที่อยู่คู่ดูเอลลิสต์ยุคบุกเบิกมาเสมอ เพราะถ้าคุณจะเล่นการ์ดยูกิเป็นก็ต้องเคยอ่านหนังสือการ์ตูนมามากพอที่จะจำกติกาการเล่นได้ เวลาที่มีเพื่อนเถียงว่าเอฟเฟคการ์ดมันจริงหรือเปล่า เราโกหกหรือขี้โม้เกินไปหรือเปล่า กฎแบบนี้มันใช้ได้จริงหรอ เราก็มาพร้อมกองหนังสือการ์ตูนเรียงเล่ม สามารถรู้ได้ทันทีว่าการ์ดใบนี้อยู่ในเล่มไหน ใครเป็นคนใช้ มีเอฟเฟคยังไงในการ์ตูน แล้วก็เปิดหนังสือการ์ตูนนั่นแหละใส่หน้าเพื่อน แล้วบอกว่าดูซะ เห็นไหมมันเป็นแบบนี้ (ทั้งที่ในการ์ตูนก็ไม่ได้ตรงกับการ์ดจริงในปัจจุบันนะ 555) ถือเป็นโมเมนต์ขิง ๆ อีกโมเมนต์นึงที่นึกถึงแล้วก็ตลกดีครับ

7. ถ้าชนะการดูเอลส์ สามารถยึดการ์ดอีกฝ่ายได้ 

image 295


ข้อนี้เป็นเรื่องที่อาจจะทำได้ยากหน่อยเพราะมันก็ถือว่าเข้าข่ายการพนันในโรงเรียนได้เหมือนกัน แต่เพราะการ์ตูนมันถูกออกแบบมาแบบนั้นจริง ๆ ว่าคนแพ้ต้องมอบการ์ดที่ดีที่สุดให้กับผู้ชนะเสมอ ดังนั้นในการ์ตูนคือตัวละครหลักที่ชนะมาได้ก็จะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ตัวโกงก็จะดูเป็นตัวร้ายจัด ๆ แต่ในชีวิตจริงที่เราเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนอาจจะต้องมีการตกลงกับเพื่อนนิดนึงว่าเล่นยึดการ์ดหรือเล่นขำ ๆ แน่นอนว่าเพื่อน ๆ ที่กลัวแพ้เขาก็จะไม่กล้าเสียงเล่นยึดการ์ด แต่ถ้าใครอินกับการ์ตูนมาก ๆ แล้วมั่นใจในฝีมือพอสมควรก็มักจะเล่นแข่งแบบมีการ์ดเป็นเดิมพันตามการ์ตูนครับ ใครชนะก็จะได้การ์ดดี ๆ ไปใช้เพิ่ม ใครแพ้ก็ต้องไปฟาร์มการ์ดมาขอแข่งใหม่เพื่อเอาการ์ดตัวเองคืนก็มี ซึ่งวิธีฟาร์มที่ว่าก็มีทั้งซื้อเพิ่ม หรือไปเล่นเขี่ยการ์ดกับคนที่ไม่รู้เอฟเฟคการ์ดมาใช้นั่นแหละครับ 

และนี่ก็คือ “7 โมเมนต์ที่ดูเอลลิสต์ยุคบุกเบิกต้องเคยทำ” เป็นยังไงกันบ้างครับ ตรงกับประสบการณ์ที่เพื่อน ๆ เคยเล่นการ์ดยูกิในอดีตกับเพื่อน ๆ ไหมครับ พออ่าน ๆ ดูก็แอบคิดถึงโมเมนต์เก่า ๆ เหมือนกันนะครับ ในยุคที่การเล่นการ์ดยูกิยังไม่ได้มีกฎกติกาที่ชัดเจนเหมือนอย่างปัจจุบัน ตอนนั้นทั้งขี้โม้บ้าง เล่นผิด ๆ ถูก ๆ บ้าง เถียงกันกับเพื่อนบ้าง ก็เป็นโมเมนต์สมัยเด็กที่ชวนนึกถึงมากเลยนะครับเนี่ย 🙂

ที่มา
apkpure.comshopee.ph/yugioh.fandom.com

Jou Thunder

Content Creator สายเกมที่อยากทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ โปรดติดตามช่อง youtube.com/@JouThunder
Back to top button