10 เทรนด์ดังที่ปังและพังแห่งวงการเกมประจำปี 2019
มาดูกันว่าอะไรรุ่งและอะไรร่วงในรอบปีที่ผ่านมา และปีหน้าเราจะคาดหวังอะไรจากวงการเกมได้บ้าง?
วันเวลาถือว่าผ่านไปรวดเร็วอย่างน่าใจหาย เพราะไม่ทันไร เราก็กำลังจะก้าวเข้าสู่ปี พ.ศ. / ค.ศ. ใหม่ นั่นก็คือปี 2563 หรือ ปี 2020 กันแล้ว ทว่าในรอบปีที่ผ่านมานี้ อุตสาหกรรมวงการเกมของเราก็มีเรื่องน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งบทความในวันนี้จะมาสรุปภาพรวมของ Trend หรือ กระแสเกมที่น่าสนใจ มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ ปัง และ มีอะไรบ้างที่ พัง ในรอบปีที่ผ่านมานี้
1. การปฏิวัติอย่างก้าวกระโดดของเกมอินดี้
แม้ว่าเราจะทราบกันไปแล้วว่า รางวัล Game of The Year หรือเกมยอดเยี่ยมประจำปี 2019 แห่งงาน The Game Awards นั่นได้แก่เกม Sekiro: Shadows Die Twice จากค่าย From Software ทว่า เกมที่เป็นกระแสที่เรียกได้ว่ามาแรงแซงโค้งสุดๆ คงไม่พ้นเกมอย่าง Untitled Goose Game หรือเกมห่านจอมเกรียน ที่ให้ผู้เล่นสามารถบังคับเป็นห่านเพื่อไปก่อกวนมนุษย์ทั้งหลาย และเกมอย่าง Disco Elysium เกมน้องใหม่จากค่าย ZA/UM ผู้พัฒนาสัญชาติเอสโตเนียที่สร้างผลงานเกมเป็นครั้งแรก และมันก็กวาดรางวัลงาน The Game Awards ไปเยอะที่สุดถึง 4 รางวัลด้วยกัน ทั้ง Best Narrative, Best RPG, Best Indie Game และ Fresh Indie Game ซึ่ง 2 รางวัลแรกนั้นเข้าชิงชนกับเกม AAA ระดับบิ๊กอย่าง Death Stranding, Control, Final Fantasy XIV และ Kingdom Hearts III แม้ว่าเกมอินดี้จะได้รับความสนใจในรอบหลายปีมานี้ แต่ปี 2019 เป็นปีที่เราสามารถเห็นได้อย่างเต็มตาว่าเกมเหล่านี้พัฒนาตัวเองไปอย่างก้าวกระโดดในแทบทุกองค์ประกอบ งานด้านภาพ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ไอเดีย หรือ ความคิดสร้างสรรค์ที่คือกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จนั่นเอง
2. บริการ Streaming ที่หวังยกระดับวงการเกม..แต่น่าจะต้องอาศัยเวลาขัดเกลา
Google บริษัทยักษ์ใหญ่เมืองลุง Sam ก็หันมาสนใจและจับตลาดวงการเกมกับเขาด้วย และมาพร้อมกับไอเดียชั้นเลิศอย่างบริการ Streaming Game ด้วย Google Stadia ที่จะสามารถทำให้คุณสามารถเล่นเกมได้บน TV, PC, โน๊ตบุ๊ค และสมาร์ทโฟนผ่าน Chromecast Ultra โดยไม่ต้องมีเครื่องเกมหรือ PC ราคาแพง อีกต่อไป ซึ่งสิ่งที่คุณใช้ก็คืออินเตอร์เน็ตนั่นเอง แม้จะเป็นไอเดียและแนวคิดที่ดี ที่มีเกม AAA ชื่อดังรองรับมากมาย อาทิเช่น Assassin’s Creed Odyssey, Destiny 2, Tomb Raider Trilogy, Mortal Kombat 11 และ ฯลฯ ทว่าเมื่อวางจำหน่ายออกมาแล้วก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ค่อยเป็นบวกเท่าไหร่นัก ทั้งในเรื่องของอาการแลคและดีเลย์แม้จะใช้อินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงก็ตาม หรืออาการเฟรมเรตตกในการแสดงผลระดับ 4K รวมถึง Features มากมายที่ขาดไปยังไม่พร้อมใช้งานในวันวางจำหน่าย ที่เมื่อดูๆ ไปแล้วแม้จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่น่าจะต้องอาศัยเวลาในการขัดเกลาพักใหญ่ๆ กว่าจะเข้าที่เข้าทาง
3. เมื่อแฟรนไชส์ใหญ่ค่าย AAA หันมาทำ Spin-off เจาะตลาดมือถือ
ปี 2019 ต้องเรียกได้ว่ามีความคึกคักในแทบทุกตลาดของวงการเกม ทั้งบนคอนโซล, PC และ Mobile หนึ่งในเหตุผลหลัก ๆ ก็คือ ค่าย AAA จำนวนมาก เริ่มหันมาจับตลาดเกมมือถือแบบจริงจัง โดยการนำซีรี่ส์ชื่อดังที่วางจำหน่ายให้กับคอนโซลและ PC ทำการ Port มาลงให้กับมือถือหรือสร้างเป็นเกม Spin-off ใหม่ไปเลย แถมหลายๆ เกมก็ทำออกมาได้ดีมากเสียด้วย อาทิ Call of Duty: Mobile และ Black Desert Mobile และเกมอีกหลาย IP จากแฟรนไชส์ชื่อดัง The Elder Scrolls: Blades, Injustice 2 Mobile / Mortal Kombat Mobile รวมถึงเกมที่มีแผนจะวางจำหน่ายในอนาคตอย่าง Diablo Immortal อาจเรียกได้ว่า เกมเหล่านี้ต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถเป็นเกมที่ดีและมีคุณภาพได้ แม้ว่าจุดประสงค์ใหญ่คือการขยายตลาดและเพื่อเม็ดเงินของตลาดเกมมือถือ แต่หากตัวเกมมีคุณภาพแล้ว เราอาจจะได้เห็นเกมจากค่ายยักษ์ใหญ่ทยอยนำมาลงมากยิ่งขึ้นในอนาคต รวมถึงความเปิดกว้างของผู้เล่นฝั่ง PC และคอนโซลต่อตลาดเกมมือถือในภาพรวม
4. การควบคุมที่เข็มงวดขึ้นของระบบ Microtransaction ทั้งภาคประชาชนและรัฐบาล
หากย้อนไปสัก 2-3 ปีก่อน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงสำคัญจากภาคฝั่งผู้บริโภคหรือฝั่งเกมเมอร์อย่างเราๆ ถึงความไม่เป็นธรรมของระบบ Microtransaction หรือที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง Loot Boxes กล่องกาชา ที่ลุกลามเข้าไปสู่วงการเกม AAA ที่แม้ว่าคุณจะจ่ายเกมในราคาเต็ม 2,000 บาท หรือมากกว่าแล้วก็ตาม คุณก็ยังจะต้องจ่ายยิบย่อยด้วยระบบสุ่มอีก เกมที่น่าจะเป็นกระแสจุดฉนวนคงไม่พ้นเกม Star Wars Battlefront II ที่ทำให้แฟนเกมจำนวนมากออกมาต่อต้าน ซึ่งนั่นนำมาสู่สิ่งดี ๆ มากมายในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการถอยหลังยอมพบกันครึ่งทาง โดย EA ได้ออกเกม Star Wars Jedi: Fallen Order ซึ่งเป็นเกม Single Player ที่เน้นเนื้อเรื่องแบบเพียว ๆ โดยไม่มีการขาย Microtransactions ใด ๆ ทั้งสิ้น หรือการที่ฝั่งภาครัฐบาลเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ อาทิ เบลเยียมที่ประกาศชัดเจนว่า Loot Boxes คือสิ่งที่ผิดกฎหมาย และค่ายเกมยักษ์ใหญ่จำนวนมากต้องนำระบบดังกล่าวออกไปจากเกมของตน ไม่ว่าจะเป็น NBA 2K, Overwatch, Counter-Strike: Global Offensive และบางเกมก็ต้องถอดตัวเองออกจากร้านค้าไปเลยก็มีเช่น Animal Crossing: Pocket Camp ของ Nintendo ประเทศอื่น ๆ ก็พยายามผลักดันที่จะออกกฎหมายออกมาควบคุมมากขึ้น อย่าง PEGI หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและแบ่งประเภทเกมที่จัดจำหน่ายผ่านแห่งสภาพยุโรปเองก็ออกเรตติ้งใหม่อย่าง in-game purchase เพื่อเตือนผู้บริโภคให้รับทราบก่อนจะซื้อวิดีโอเกมนั้น ๆ หลังจากนี้คาดว่าค่ายเกมต่าง ๆ คงจะมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการจะออก Model ธุรกิจ IAP ออกมา เพราะหากโดนกระแสต่อต้านจากภาคสังคมแล้วมันจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูชื่อเสียงที่ค่อนข้างนานพอสมควร เรื่องนี้ EA น่าจะให้คำตอบได้ดีที่สุด
5. CROSS-PLATFORM PLAY
สิ่งที่หลาย ๆ คนฝันไว้ว่ามันจะเกิดขึ้น ในที่สุดมันก็เกิดขึ้นจริง ๆ ในปี 2019 ที่เราได้เห็นหลายต่อหลายเกม อาทิ เกมชื่อดังอย่าง Minecraft สามารถ Cross-Platform การเล่นระหว่างแต่ละเครื่องของแต่ละค่ายได้ มันเป็นวินาทีแห่งประวัติศาสตร์ที่สวยงามมาก ๆ ที่ผู้เล่นจากแต่ละค่ายสามารถมาพบเจอกันได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับเครื่องเกมของตนอีกต่อไป การ Cross-Platform ยังลงลึกไปถึงการ Cross ที่หมายถึงการเล่น Progress เกมเดิมแบบต่อเนื่องใน Platform อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่ามันจะเป็นระบบที่ได้รับการใส่เข้ามามากขึ้นในวิดีโอเกมสำหรับปีหน้า 2020 ที่จะมาถึงนี้
6. ยุคทองของ E-SPORTS
ในปีนี้น่าจะเรียกได้ว่ามันเป็นปีที่รุ่งเรืองมาก ๆ ของวงการ อีสปอร์ต หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งของประเทศไทย และ สากลโลก ไม่ว่าจะเป็นเงินรางวัลที่แตะพุ่งสูงไปถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจำนวนผู้ชมที่มากกว่า 433 ล้านคนทั่วโลก วงการเกมในประเทศไทยก็มีข่าวน่ายินดีอย่างทีมอีสปอร์ตไทยที่คว้าเหรียญทองเกม ROV ประจำซีเกมส์ เอาชนะทีมจากอินโดนีเซียไปได้ 3 เกมรวด และเกมอย่าง Tekken 7 ที่เป็นเหรียญทองที่ 2 ของไทย หรือการที่ Xiaomeng Li หรือที่รู้จักกันในฉายา VKLiooon นักกีฬาอีสปอร์ตสาวจากประเทศจีนสามารถคว้าแชมป์โลกเกม Heartstone ไปครองอย่างสมศักดิ์ศรี ลบคำสมประมาทที่ว่าพื้นที่กีฬาแห่งนี้ไม่ใช่ที่สำหรับผู้หญิง ปัจจุบันกีฬาอีสปอร์ตได้รับการยอมรับในระดับวงกว้าง ทั้งในแง่ของภาคประชาชนคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เล่นเกมและในแง่ของภาครัฐ / เอกชน ที่เข้ามาสนับสนุนนักกีฬาอีสปอร์ตมากยิ่งขึ้น น่าจับตามองว่าปีหน้าจะมีอะไรดี ๆ รอคอยนักกีฬาไทยและวงการอีสปอร์ตระดับโลกกันอยู่บ้าง
7. Retro และ เกม IP เก่าจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ในรอบหลายปีมานี้ เราเห็นค่ายดังอย่าง Nintendo ทยอยออกเครื่องเกมยุคเก่าอย่างยุค แฟมิคอม และ ซุปเปอร์แฟมิคอม อย่าง Mini Famicom หรือ Sony ที่ออกเครื่อง PlayStation Classic และค่ายเกมจำนวนมาก ทยอยออกเครื่องเกมยุค Retro ที่เคยโดงดังเมื่อ 10-30 ปีก่อนหน้านี้ อาทิ SNK กับ NEO GEO Mini, SEGA กับ SEGA GENESIS MINI ยังไม่นับเกมเก่าจำนวนมากที่ถูกนำปัดฝุ่นมา Remake ใหม่สมใจการรอคอยของแฟน ๆ อย่าง Resident Evil 2 Remake ของ Capcom ที่ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและคำชมถึงขนาดได้เข้าชิง Game of The Year ในปี 2019 และประกาศอย่างเป็นทางการแล้วกับ Resident Evil 3 ที่จะวางจำหน่ายในปีหน้า หรือเกมระดับตำนานอย่าง Final Fantasy VII Remake ที่จะวางจำหน่ายในปีหน้าเช่นเดียวกัน ในปี 2020 เราน่าจะได้เห็นเกมระดับตำนานที่เป็นเกมเก่าถูกนำมาปัดฝุ่นสร้างใหม่มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเครื่องเกมในอดีตที่ค่ายดังอาจนำกลับมาผลิตวางจำหน่ายใหม่ในเวอร์ชั่น Mnini อีกครั้ง
8. Netflix วิดีโอเกมเวอร์ชั่น บุฟเฟ่ต์เหมาจ่ายรายเดือนที่น่าจับตามอง
เพื่อน ๆ หลายคนน่าจะเคยใช้บริการ Netflix ในการรับชมภาพยนตร์แบบจุใจโดยการจ่ายค่าบริการรายเดือน / ปี เพื่อที่จะสามารถเข้าถึง Content จำนวนมหาศาลที่มีให้เลือกดูมากมาย ในวงการเกมเองเราก็เริ่มที่จะมีบริการบุฟเฟ่ต์เหมาจ่ายที่น่าสนใจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบริการ Xbox Game Pass ของ Microsoft ที่คุณสามารถเล่นเกม Exclusive ออกใหม่ชนิด Day 1 ได้เมื่อเป็นสมาชิกรายเดือน และ สามารถเข้าถึงคลังเกมระดับคุณภาพจำนวนมหาศาลนับ 100 เกม บริการใหม่อย่าง Apple Arcade ที่คัดเกมดี ๆ จำนวนมากมาให้คุณเล่นแบบจุใจแบบรายเดือน แถมยังมีเกม Exclusive ที่มีเฉพาะบน Apple Arcade อีกด้วยเช่นกัน ค่ายอื่น ๆ อย่าง EA ได้ทำบริการ EA Origin และ EA Access มาสักพักแล้ว ซึ่งจะเหมาะอย่างมากหากคุณไม่อยากซื้อเกมนั้น ๆ แบบราคาเต็ม ก็สามารถทดลองใช้บริการรายเดือนเล่นทดลองเล่นดูก่อน Ubisoft เองก็ออกบริการที่เรียกว่า Uplay+ ซึ่งเมื่อคุณจ่ายรายเดือนก็จะสามารถเข้าถึงคลังเกมชื่อดังของ Ubisoft ได้เช่นกัน ถือว่าเป็นบริการที่น่าจับตามองที่น่าจะมีผลต่อวงการเกมอย่างยิ่งในปี 2020 มากยิ่งขึ้นแน่นอน
9. EPIC ที่น่าจะ EPIC ยิ่งขึ้นในปี 2020
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสีสันส่วนหนึ่งของวงการเกมประจำปี 2019 ก็คงไม่พ้น Epic Games Store คู่แข่งขันที่สามารถท้าชนกับ Steam ของ Valve ได้อย่างถึงพริกถึงขิง ไม่ว่าจะเป็นการแจกเกมฟรีจำนวนมาก และการกว้านซื้อเกมอินดี้รวมไปจนเกม AAA อาทิอย่าง Control ที่รายงานว่า Epic ยอมจ่ายเงินถึง 10.45 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยราว 330 ล้านบ้าท เพื่อนำให้มาเป็นเกม Exclusive ที่ร้านค้าของตน แม้จะมีการต่อต้าน หรือ การโจมตีกันของแฟน Platform ที่อาจจะชอบ Steam หรือ อาจจะชอบ Epic มากกว่า แต่มันก็ถือเป็นเรื่องดีที่เราจะได้มีการแข่งขันและได้ประโยชน์กับการเข้ามาร่วมลงสนามของ Epic ต้องรอดูกันว่าปีหน้า 2020 Epic จะยังคงใช้กลยุทธ์เดิมและจะมีระบบตระกร้า เอ้ย! พัฒนา Feature สำหรับร้านค้าของตนให้สามารถแข่งขันกับ Steam ได้อย่างสูสีสักทีหรือไม่ ต้องมารอติดตามกัน
10. Hollywood in Video Game
วงการเกมนั้นมีการเติบโตที่เรียกได้ว่าก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก ในปี 2018 ตลาดอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่าสูงถึง 138 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเติบโตขึ้นถึง 150 พันล้านเหรียญในปี 2019 คาดว่าในปี 2022 จะมีมูลค่าสูงถึง 196 พันล้านเหรียญ ตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 1 คือตลาดเกมมือถืออยู่ที่ 54 พันล้านเหรียญ และตลาดคอนโซลที่ 47 พันล้านเหรียญ ซึ่งด้วยมูลค่ายจำนวนเงินระดับนี้ จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นการเข้ามาของดารานักแสดงชื่อดังระดับ Hollywood เข้ามาเป็นตัวละครในวิดีโอเกมมากยิ่งขึ้น เกม Death Stranding ของ Hideo Kojima ถือเป็น 1 ในเกมทีรวมดาราดังแทบจะทั่วโลก อาทิ Norman Reedus, Mads Mikkelsen, Léa Seydoux และ Lindsay Wagner ในปีหน้าเราจะมีเกมอย่าง Cyberpunk 2077 ที่ได้ดาราระดับแม่เหล็กอย่าง Keanu Reeves เข้ามาทำให้วงการมีสีสันขึ้นอีกเช่นกัน และมั่นใจว่าเราจะได้เห็นดาราดังตบเท้าเข้ามาสู่วงการเกมมากยิ่งขึ้นอีกแน่นอน