ข่าว

รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวเหตุ Assassin’s Creed ‘ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะมาพิจารณา’

แบบนี้ผู้พัฒนาเกมย่อมมีอิสระใช้ความสร้างสรรค์อย่างเต็มที่

ยังคงเป็นเรื่องราวที่มีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้งสำหรับกรณีของเกม Assassin’s Creed Shadows ซึ่งเป็นผลงานภาคใหม่ล่าสุดในแฟรนไชส์ภาคีนักฆ่าที่ในปลายปีนี้เราจะได้เดินทางสู่แดนปลาดิบกันเป็นครั้งแรกพร้อมนำทีมโดยสองตัวละครหลักอย่าง นาโอเอะ ชิโนบิหญิง และ ยาสึเกะ นักรบที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามก็เกิดเสียงวิจารณ์จากผู้ที่มองว่า ยาสึเกะ ไม่ควรอยู่ในชุดของซามูไร เช่นเดียวกับความไม่เที่ยงตรงตามประวัติศาสตร์ในส่วนของบรรยากาศตัวเกม

มีผู้เล่นจำนวนหนึ่งที่เป็นเดือดเป็นร้อนเสียเหลือเกินครับกับเรื่องราวเหล่านี้จนถึงขั้นพยายามที่จะให้มีการยุติวางจำหน่าย เช่นเดียวกับทาง Ubisoft เองที่ไม่นิ่งนอนใจและปล่อยแถลงการณ์ขนาดยาวถึงสถานการณ์ดังกล่าว กระนั้นก็ไม่มีท่าทีที่ไฟดราม่าของกลุ่มผู้เล่นนี้จะลดลง และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีนักการเมืองจาก ‘พรรคปกป้องประชาชนจากเอ็นเอชเค’ อย่างคุณซาโตชิ ฮามาดะ ที่พยายามนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเพื่อหาทางออกด้วย ซึ่งล่าสุดก็มีการเคลื่อนไหวจากฝ่ายรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

สำนักข่าวเดอะซังเคย์ชิมบุงรายงานว่า ตัวแทนของรัฐบาลดังต่อไปนี้คือรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีศึกษาธิการ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้ให้ความเห็นว่าพวกเขารับรู้ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางศึกษาธิการมองว่าในส่วนของการคัดกรองวิดีโอเกมเพื่อวางจำหน่ายในพื้นที่นั้นได้มีขั้นตอนตรวจสอบที่ละเอียดถี่ถ้วนและว่าจะต้องไม่ขัดแย้งกับหลักจริยธรรมหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อย ขณะที่ฝั่งกระทรวงต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจก็ให้ความเห็นในทางเดียวกันคือพวกเขาไม่ได้มีหน้าที่ในการออกความเห็นใดๆ

Assassin's Creed

จุดยืนการเมืองสัมพันธ์กับการให้อิสระทางความคิดฉันใด

แม้ซังเคย์ชิมบุงจะไม่ได้ระบุว่าใครคือผู้ที่ให้ความเห็นข้างต้นแต่ความน่าสนใจก็คือ ทั้งคุณโยโกะ คามิคาวะ, คุณมาซาฮิโตะ โมริยามะ และคุณเค็ง ไซโต้ ล้วนเป็นสมาชิกจากพรรคเสรีประชาธิปไตยของญี่ปุ่นหรือ LDP ที่มีจุดยืนทางการเมืองเป็นขวากลาง หากเทียบกับประเทศไทยบ้านเราก็จะคล้ายคลึงกับพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้ง LDP และ เพื่อไทย ล้วนให้ความสำคัญเสรีนิยมทางเศรษฐศาสตร์หรือทุนนิยม

ว่าด้วยทุนนิยม ปฏิเสธได้ยากว่าคำนี้อาจทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองจำนวนไม่น้อยต้องถึงกับหลอนหรือว่า ‘หนาวขี้’ ขึ้นมา แต่ผมมองว่ามันคือการมอบอิสระให้อุตสาหกรรมเกมสามารถพัฒนาเกมใดๆ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ออกมาได้อย่างไม่มีขอบเขต ทำนองเดียวกันเราจะเห็นว่ามีเกมอ้างอิงประวัติศาสตร์จำนวนมากที่ได้รับการดัดแปลงไม่ว่าจะเป็นการนำคนในประวัติศาสตร์หรือตัวละครในนิทาน นิยายใดๆ มาปรับแต่งให้กลายเป็นหุ่นรบเอย สาวโมเอะเอย ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นผลมาจากการใช้อิสระทางความคิดในการเนรมิตงานออกมาภายใต้บรรยากาศการแข่งขันเพื่อทำสินค้าที่โดดเด่นออกมา และ! ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นผลผลิตของสังคมทุนนิยมทั้งสิ้น

ในขณะเดียวกันครับ การจับจ่ายเลือกซื้อเกมที่ใครสักคนจะถูกใจมันก็คืออิสระที่ ‘ใครสักคน’ คนนั้นเป็นผู้ตัดสินอยู่แล้วว่าอยากได้เกมนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่อยากได้คุณก็แค่ไม่ซื้อ แต่การที่จะเรียกร้องให้ยุติการพัฒนานั้นเป็นเรื่องที่ดูผิดปกติมาก และยิ่งไปเรียกร้องให้รัฐบาลที่ ‘ตั้งใจไม่แทรกแซง’ กลไกการตลาดใดๆ (ในที่นี้คือการสร้างสรรค์ผลงานเกมที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมสำคัญในพื้นที่) มันก็ยิ่งขัดแย้งกับหลักการทำงานของทุนนิยมที่เป็น Priority หลักของรัฐบาลปัจจุบันอีกไม่ใช่หรือ?

Assassin's Creed

มีบ่อยครั้งที่หลายคนอ้างตนเองว่าเป็นผู้ที่มีจุดยืนเป็นคนขวาจัด (จะด้วยฐานะเกมเมอร์ หรือประชาชน) แต่น่าแปลกที่ตัวตนของพวกเขาเองก็ยังไม่ชัดเจนด้วยซ้ำ ครั้นจะใช้คำว่า Identity Crisis ก็เกรงจะถูกหาว่าใช้คำฟุ่มเฟือยเพราะมันไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมนำคำนี้มาจำกัดความลักษณะของบุคคลประเภทดังกล่าว เพราะมันน่าแปลกที่อนุรักษ์นิยมเหล่านี้ไม่ต้องการภาพเซนเซอร์, อนุรักษ์นิยมเหล่านี้ชอบพระถังซัมจั๋งในร่างผู้หญิง หรืออนุรักษ์นิยมเหล่านี้อาจจะเป็น Tech Savvy ก็ได้! เห็นไหมล่ะครับว่ามัน Identity Crisis ขนาดไหน

ท้ายที่สุดแล้ว แม้กระทั่งพรรคที่มีความขวาอย่าง IDP เองก็ยังมองว่าดราม่านี้มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะต้องมาพิจารณา หากถามผมในฐานะคนทำข่าวเกมจริงๆ ผมก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเพราะมันก็คืออิสระของผู้เล่น และอย่าลืมว่า Assassin’s Creed ไม่ใช่เกมที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ เล่นกันมานานก็น่าจะจารึกลงหน้าผากได้แล้วว่าแฟนตาซี ลองถามตัวเองดูว่าคุณอยากเห็นอะไรจากการออกมาโวยวายแบบนี้ ว่าแล้วมาแลกเปลี่ยนกันนะครับ

เกี่ยวกับ Assassin’s Creed Shadows

มีกำหนดวางจำหน่ายบน PlayStation 5, Xbox Series X|S และ PC ในวันที่ 15 พฤศจิกายน โดยเป็นภาคใหม่ของเกมแฟรนไชส์ภาคีนักฆ่าที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาคอื่นของซีรีส์นี้โดยตรง ซึ่งเรื่องราวจะให้เรารับบทเป็นตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริงตามประวัติศาสตร์คือ ‘ยาสึเกะ’ นักรบแอฟริกันที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ติดตามของไดเมียวมือฉกาจ โนบุนางะ โอดะ ถือว่าเป็นภาคที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ

ที่มา
Sankei

GantaroZX

นักเขียนข่าววิดีโอเกม ผนวกสังคม วัฒนธรรม ศิลปะ เพศ แบบคนไทยคนแรกของแทร่ ผู้ใหญ่บ้านแห่ง Animal Crossing | กินเก่ง | ปากร้ายแต่ใจดี น่ารักอ่อนหวานคิขุ
Back to top button