รีวิว

[รีวิว] Pathfinder: Wrath of the Righteous

ออกผจญภัยในเกม CRPG สุดละเอียดเพื่อปกป้องโลกแห่ง Sarkoris

Pathfinder: Wrath of the Righteous เป็นเกมภาคต่อของ Pathfinder: Kingmaker ซึ่งจะชูโรงด้วยระบบการเล่นแบบ CRPG มุมมองจากด้านบนคล้ายกับ Baldur’s Gate และ Fallout เวอร์ชั่นดั้งเดิม ซึ่งเรื่องราวภายในเกมนี้จะเกี่ยวกับโลกแห่ง Sarkoris ที่ล่มสลายหลังจากนักปราชญ์ Areelu Vorlesh ได้ทำการร่ายศาสตร์มืดเพื่อเปิดประตูมิติจนกลุ่มปีศาจบุกเข้ามารุกราน เหตุผลนี้จึงทำให้บนโลกมนุษย์เกิดสงครามที่กินเวลายาวนานกว่า 100 ปี และเราจะได้เป็นตัวแปรสำคัญเพื่อที่จะหยุดศึกระหว่างมนุษย์และปีศาจนี้ให้ได้

ในวันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเล่นเกม Pathfinder: Wrath of the Righteous และก็ไม่พลาดที่จะนำรีวิวมาให้ได้อ่านกันครับ

อนึ่ง… การรีวิวนี้เกิดขึ้นบน PS5 ระหว่างวันที่ 12-15 กันยายน 2565 หากผู้อ่านกลับมาอ่านในภายภาคหน้า ข้อสังเกตบางข้ออาจมีการแก้ไขเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้

ผจญภัยในโลกที่ล่มสลายในกราฟิกที่สวยงาม ลื่นไหลไม่สะดุด

image 103

เกม Pathfinder: Wrath of the Righteous เป็นอีกหนึ่งเกมที่ผู้เขียนมองว่าเป็นเกมที่มีกราฟิกอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี แม้ว่าในขั้นตอนการสร้างตัวละครจะทำให้ผู้เขียนรู้สึก “เอ๊ะ” เล็กน้อย ด้วยโมเดลตัวละครที่แสดงผลออกมายังไม่คมชัดเท่าที่ผู้เขียนคาดหวังไว้ ทำให้รูปร่างหน้าตาของตัวละครที่ผู้เขียนสร้างจะดูแปลกตาออกไปพอสมควร อย่างไรก็ตามเมื่อผู้เขียนเข้าสู่โลกแห่ง Sarkoris ผู้เขียนก็ได้พบว่าหน้าตาของตัวละครนั้นไม่ใช่ประเด็นใหญ่เลยแม้แต่น้อย เพราะบรรยากาศโดยรวมภายในเกมนี้ถือว่าทำออกมาได้ดีมาก ๆ องค์ประกอบภายในฉากต่าง ๆ ถูกทำออกมาได้อย่างละเอียดน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นโมเดลของมอนสเตอร์ , โมเดลของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมไปถึงเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ที่มีให้เราได้เห็นตลอดการเล่นเกมนี้ก็ทำออกมาได้สวยงามในระดับที่น่าพอใจ

image 104

แต่สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจมากที่สุดก็คือ ความลื่นไหลในการเล่นเกมนี้ครับ เพราะตลอดกาลเล่นเกมผู้เขียนไม่พบอาการหน่วงหรือเฟรมเรตตกจนทำให้หงุดหงิดใจเลย ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก ๆ ซึ่งจริง ๆ ต้องบอกก่อนว่าตอนแรกผู้เขียนค่อนข้างรู้สึกประทับใจแต่ไม่สุดกับกราฟิกภายในเกม เพราะผู้เขียนคาดหวังว่าน่าจะทำออกมาได้สวยงามกว่านี้ แต่เมื่อได้ลองเล่นเกมจริง ๆ ก็พอจะเข้าใจได้ว่าองค์ประกอบภายในฉากค่อนข้างเยอะและมีความละเอียดอยู่พอสมควร การที่อัดกราฟิกมาเยอะเกินไปอาจจะทำให้การเล่นเกมนี้เกิดอาการกระตุกหรือเฟรมเรตตกได้ ผู้เขียนเลยมีมุมมองว่าการที่ผู้พัฒนาอาจยอมลดคุณภาพกราฟิกลงไปสักเล็กน้อย ก็เพื่อแลกกับการที่ทุกคนสามารถเล่นเกมนี้ได้อย่างลื่นไหลไม่มีเฟรมเรตตกนั่นเอง

เกมเพลย์ RPG สุดละเอียด ที่อาจจจะทำให้มึนช่วงต้น แต่ถ้าเข้าใจก็มันส์ได้ยาว ๆ

image 105

ต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า Pathfinder: Wrath of the Righteous ไม่ใช่เกม RPG ธรรมดา ๆ แต่เป็นเกม CRPG (Computer Role Playing Game) ที่มีความละเอียดสูง (ซึ่งถ้าหากผู้อ่านคนใดนึกภาพไม่ออกก็ขอให้นึกถึงเกมประเภท Dungeon & Dragon) ทำให้ตั้งแต่ตอนเริ่มเกมนั้นผู้เล่นจะต้องพบเจอกับการสร้างตัวละครที่ละเอียดแบบสุด ๆ ซึ่งถ้าหากใครไม่เคยชินกับการเล่นเกมประเภทนี้ก็อาจจะเลิกเล่นเกมนี้ไปเลยตั้งแต่ต้น โดยผู้เล่นสามารถเลือกได้ตั้งแต่เผ่าพันธุ์ของตัวละคร , อาวุธที่จะใช้ , สกิลพิเศษต่าง ๆ (ทั้งแบบติดตัวและแบบเรียกใช้งาน) , คลาสของตัวละครที่มีมากกว่า 20 คลาสหลัก (ยังไม่รวมคลาสย่อยอีกมากมาย) ทำให้เกมนี้มีคลาสให้เราเลือกเล่นจริง ๆ นับกว่า 100 คลาส , ภูมิหลังของตัวละคร ไปจนถึงความเชื่อที่เรานับถือ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เลือกเพื่อให้ตัวละครมีรายละเอียดเฉย ๆ เท่านั้น แต่รายละเอียดเหล่านี้จะส่งผลต่อตัวละครทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากผู้อ่านคนใดไม่ถนัดการสร้างตัวละครในรูปแบบของตัวเองจริง ๆ เพราะรายละเอียดเยอะเกินไป เกมก็จะมีตัวละครที่สร้างสำเร็จมาให้เราได้เลือกใช้งานด้วย เรียกว่าเป็นการอำนวยความสะดวกที่น่าประทับใจอยู่พอสมควรเลยครับ

image 106

นอกจากนี้ในการออกสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ภายในเกมผู้เล่นจะได้รวมทีมตัวละครได้มากถึง 6 คนด้วยกัน โดยตัวละครแต่ละตัวก็จะมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ทำให้การจัดทีมของผู้เล่นในแต่ละครั้งจำเป็นที่จะต้องวางแผนการเลือกตัวละครเข้าทีมให้ดี เพราะในการเข้าถึงพื้นที่บางอย่างต้องใช้ค่าสถานะตัวละครที่เหมาะสม ซึ่งหากผู้เล่นไม่มีตัวละครที่มีค่าสถานะดังกล่าวอยู่ในทีมก็ไม่สามารถที่จะเข้าพื้นที่ที่กำหนดได้ ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นมักจะมีมอนสเตอร์พิเศษหรือว่ามีไอเทมที่น่าสนใจแอบซ่อนอยู่นั่นเอง

image 107

แต่สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจมากที่สุดก็คือ ในการต่อสู้ผู้เล่นสามารถเลือกควบคุมได้ว่าต้องการต่อสู้แบบ Real Time หรือ Turn Based  โดยรูปแบบการต่อสู้นี้สามารถเลือกได้ตั้งแต่ต้นเกมซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นที่ไม่ถนัดการต่อสู้แบบ Real Time ได้ต่อสู้แบบผลัดตากันโจมตีเหมือนเกม JRPG หลาย ๆ เกม  อีกทั้งหากผู้เล่นเกิดรู้สึกเบื่อในรูปแบบการต่อสู้ที่เล่นอยู่ก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องเริ่มเกมใหม่ ซึ่งจุดนี้ผู้เขียนมองว่าเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ค่อนข้างละเอียด และน่าจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาอยู่พอสมควรเพราะเกมส่วนใหญ่จะเลือกรูปแบบเกมแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แต่เกมนี้กลับทำมาให้ครบทั้ง 2 แบบ ซึ่งจุดนี้เองผู้เขียนขออนุญาตยกนิ้วให้เลยครับ

ระบบศีลธรรม อีกหนึ่งองค์ประกอบหลักชูโรงของเกม

image 108

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาภายในเกม Pathfinder: Wrath of the Righteous ก็คือระบบศีลธรรม (Mythic) ที่ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นเป็นพระเอกนิสัยดีหรือพระเอกจอมชั่วร้ายก็ได้ ซึ่งรูปแบบของตัวละครนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามการตอบคำถาม รวมไปถึงการเลือกตัดสินใจจากการกระทำของผู้เล่นระหว่างการเล่นเกมนี้ ซึ่งระบบศีลธรรมนี้จะส่งผลต่อองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างภายในเกม เช่นการที่ NPC จะมีปฏิสัมพันธ์กับเรารวมไปถึงรูปลักษณ์ของตัวละครในอนาคต แต่หนึ่งในนั้นที่เห็นชัดเจนก็คือระบบคลาสที่ทำให้คลาสของผู้เล่นนั้นเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่นหากผู้เล่นเป็นจอมเวทย์ และอยู่ในเกณฑ์คนดี ก็ทำให้ผู้เล่นกลายเป็นจอมเวทย์ขาวผู้ปกปักษ์เพื่อนร่วมทีม หรือถ้าหากผู้เล่นเลือกที่จะเป็นนักเวทย์สายชั่วช้า ก็จะกลายเป็นอสูรผู้ทำลาย เป็นต้น ซึ่งระบบนี้ก็ยังส่งผลให้ผู้เล่นเข้าถึงคลาสพิเศษที่เรียกว่า Mythic Class ด้วยเช่นกัน

สรุปรีวิว

image 109

Pathfinder: Wrath of the Righteous เป็นเกม RPG ที่อาจจะเข้าถึงยากไปเสียหน่อยสำหรับแฟนเกม RPG ที่ไม่ใช่สายฮาร์ดคอร์ แต่ถ้าผู้อ่านคนใดชื่นชอบเกม RPG ประเภทบอร์ดเกมอยู่แล้ว หรือหาเกม RPG สไตล์เข้มข้นก็ไม่ควรพลาดเกมนี้ครับ และในองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นกราฟิก , ดนตรี และเกมเพลย์ ก็เรียกว่าทำออกมาได้ดีไม่ผิดหวังแน่นอน

ส่วนตัวผู้เขียนขออนุญาตให้คะแนนเกมนี้ที่ 8.5 เต็ม 10 ครับ ผู้เขียนขอย้ำว่า รีวิวนี้ รวมถึงคะแนนนี้เป็นมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น แฟนเกมคนอื่น ๆ อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันก็ได้ครับ

จุดเด่น

  • กราฟิกสวยงามในระดับดี เล่นได้ลื่นไหลไม่มีสะดุด
  • เกมเพลย์ต่อสู้ที่เลือกได้ระหว่าง Real Time และ Turn Based
  • เนื้อเรื่องที่เข้มข้น มีการบรรยายที่ครบถ้วน
  • ระบบ Mythic ที่ล้ำลึกอย่างมาก

ข้อสังเกต

  • โมเดลตัวละครขัดตาพอสมควร
  • เกมเพลย์ฮาร์ดคอร์เอาเรื่อง อาจจะเข้าถึงยากเกินไปสำหรับผู้เล่นทั่ว ๆ ไป

สุดท้ายนี้ ทีมงาน This is Game Thailand ต้องขอขอบคุณทาง Ripples ที่เอื้อเฟื้อเกมดีๆ เกมมันส์ๆ มาให้พวกเราได้รีวิวกันในครั้งนี้ด้วยนะครับ ส่วนครั้งหน้าจะเป็นเกมอะไรนั้น โปรดติดตามกันได้เลย…

เว็บไซต์ทางการ : https://wrath.owlcat.games

image

ภาพ Screenshots เพิ่มเติม

image 115
image 116
image 117
image 118
image 119
image 120
image 121

Youryu

นักผจญเกมที่ไม่จำกัดประเภทและแพล็ตฟอร์ม
Back to top button