รีวิวรีวิว / พรีวิวเกม

[รีวิว] God of War Ragnarok – บทสรุปมหาสงครามของทวยเทพ

เข้าสู่สงคราม Ragnarök พร้อมภาษาไทยที่จะทำให้ความมันส์เพิ่มเป็นทวีคูณ

God of War Ragnarok เป็นเกม RPG ที่จะดำเนินเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลายปีให้หลังจากเหตุการณ์ภาคแรก โดยในภาคนี้เราจะได้เจอกับความเข้มข้นของเนื้อหาที่จะเป็นบทสรุปของ God of War ยุคนี้ รวมไปถึงเราจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครที่แตกต่างไปจากเดิมที่บอกได้เลยว่าแฟน ๆ ซีรีส์นี้ไม่ควรพลาด

และในวันนี้ผู้เขียนได้เข้าร่วมสงครามของทวยเทพใน God of War Ragnarok เรียบร้อยแล้วและก็ไม่พลาดที่จะนำรีวิวมาให้ผู้อ่านได้ติดตามกันครับ

อนึ่ง… การรีวิวนี้เกิดขึ้นบน PS5 ระหว่างวันที่ 24-31 ตุลาคม 2565 หากผู้อ่านกลับมาอ่านในภายภาคหน้า ข้อสังเกตบางข้ออาจมีการแก้ไขเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้

เข้าสู่สงคราม Ragnarok พร้อมภาษาไทยที่จะทำให้ความมันส์เพิ่มเป็นทวีคูณ

image 996

จะมีอะไรดีไปกว่าการเล่นเกม RPG เนื้อเรื่องเข้มข้นโดยเราสามารถเข้าใจเนื้อหาของเกมแบบ 100% โดยที่เราไม่ต้องแปลให้ปวดหัว ซึ่งเกม God of War Ragnarok เป็นอีกหนึ่งเกมระดับ AAA ที่ได้มีการแปลเนื้อหาเป็นภาษาไทยมาให้เราได้เล่นกันแบบไร้กำแพงทางภาษา โดยการเปรียบเทียบระหว่างภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่ได้ถูกปล่อยออกมา ผู้เขียนขอยก 2 นิ้วโป้ง ให้ทีมงานแปลภาษาไทยกับเกมนี้เลยว่า “แปลออกมาได้ดี และสะใจมาก ๆ” เพราะถ้าจะให้พูดจากใจจริงแล้ว… เกมนี้ไม่ได้เป็นเกมที่แปลภาษาไทยได้ง่ายเลยแม้แต่น้อย

เนื่องจากเกมนี้มีการอ้างอิงตำนานพระเจ้าในแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไป ทำให้การสะกดคำรวมไปถึงการอ้างอิงตำนานต่าง ๆ ที่จะมีให้เราได้อ่านกันภายในเกมต้องค่อนข้างละเอียดเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากแปลผิดไปเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ความหมายโดยรวมที่ต้องการจะสื่อนั้นผิดเพี้ยนไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งจุดนี้ทีมงานแปลก็ทำออกมาได้ดีแทบไม่มีที่ติเลยทีเดียว

image 995

นอกจากนี้ในบทสนทนาต่างๆที่เราจะได้เห็น Kratos , Atreus , Mimir และตัวละครอื่น ๆ  อีกมากมายพูดคุยกันตลอดการเล่นเกมนี้ ก็มีทั้งบทสนทนาที่มีการเล่นมุกตลกสุดฮาให้เราได้นั่งขำกัน , บทสนทนาทั่วไปที่น่าติดตาม , บทสนทนาที่จริงจังจนต้องลุ้นตาม รวมไปถึง บทสนทนาที่แสดงอารมณ์ออกมาผ่านตัวละคร ก็สามารถปล่อยออกมาได้ถูกต้อง สะใจ  และถ้าหากผู้อ่านคนใดประทับใจกับการแจกเกมที่ใช้ภาษาในระดับกันเอง (มีคำหยาบผสมอยู่บ้าง) เกมนี้ก็มีให้เราได้เห็นกันอยู่ไม่น้อย แต่ไม่ได้หยาบจนเกินงามครับ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเล็กน้อย นั่นก็คือการตัดคำภาษาไทยภายในเกมนี้ ที่นาน ๆ ครั้งเราจะเห็นการตัดคำที่ไม่ถูกหลักภาษาไทยไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่จนทำให้เกมนี้ด้อยคุณค่าลงไปแต่อย่างใดครับ

กราฟิกสวยงามสะใจ แต่โหมดความลื่นไหลก็ยังดีกว่า

image 996

คงไม่ต้องบรรยายให้มากความเพราะ Santa Monica Studio ได้พิสูจน์ฝีมือตนเองจากเกม God of War ภาคแรกมาแล้วว่าคุณภาพกราฟิกของเกมทำออกมาได้ดีน่าเหลือเชื่อขนาดไหน ซึ่งแน่นอนว่าในเกมภาคต่ออย่าง God of War Ragnarok ก็ไม่พลาดที่จะทำให้ผู้เล่นประทับใจในความอลังการของคุณภาพกราฟิกของเกมเช่นเคย ดูสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามานั่นก็คือการเลือกระบบการแสดงผล ที่ผู้เล่นจะเลือกได้ว่าจะให้แสดงผลเน้นไปที่ความละเอียดของกราฟิก  หรือจะเลือกแสดงผลไปที่ความลื่นไหลของ FPS ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้ทดลองใช้ 2 โหมดนี้ก็พบว่าคุณภาพกราฟิกไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก ทำให้การเลือกเล่นในโหมดความลื่นไหลของ FPS นั้นจะดีกว่าในมุมมองของผู้เขียน

image 996

และสิ่งที่ยังทำให้เกมนี้โดดเด่นกว่าเกมอื่น ๆ อีกหลายเกมก็คือ การใช้มุมกล้องแบบ Long Take ที่เราจะไม่ได้เห็นการตัดฉากเลยแม้แต่ครั้งเดียว (ยกเว้นหากเราตายจากการต่อสู้) ซึ่งการวางแผนการเปลี่ยนฉากของเกมนี้ก็ทำออกมาได้น่าประทับใจมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รูปแบบของการแทรกตัวไปในซอกหินเพื่อเพิ่มความเนียนในการเปลี่ยนฉาก หรือแม้กระทั่งการเชื่อมระหว่างฉากของความเป็นจริงและฉากในนิมิตที่ทำออกมาได้เนียนตาจนน่าประทับใจสุด ๆ

เข้าโรมรันกับศัตรูในเกมเพลย์ Action สะใจ เลือดสาดที่คุ้นตา พร้อมระบบที่คุ้นมือ

image 996

ผู้อ่านคนไหนที่ประทับใจกับเกมต่อสู้เลือดสาดตามสไตล์ซีรีส์เทพสงคราม บอกได้เลยว่า God of War Ragnarok ไม่ทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอน เพราะพื้นฐานเกมเพลย์หลัก ๆ แล้วยังเป็นเกม Action ที่ผู้เล่นจะได้ควบคุม Kratos เข้าต่อสู้ผ่านการใช้อาวุธต่าง ๆ โดยมีทั้งการโจมตีเบา , การโจมตีหนัก , การใช้สกิล (รูน) ต่าง ๆ รวมไปถึงท่วงท่าการต่อสู้มากมายที่ได้จากการอัปเกรดตัวละคร ผสมผสานออกมาเป็นสุดยอดคอมโบที่ผู้เล่นสร้างสรรค์เองได้ และแน่นอนว่าเกมนี้ไม่ใช่เกมเดินหน้าฆ่ามันเอาสะใจแต่เพียงเท่านั้น เพราะเกมนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นต้องศึกษาจังหวะการโจมตีของศัตรูให้ดี เพื่อทำการหลบหลีก หรือปัดป้องการโจมตีเพื่อช่วงชิงจังหวะการโจมตีให้เราได้เปรียบในการต่อสู้

และเช่นเดิมที่เกมนี้ผู้เล่นจะได้มีโอกาสควบคุมตัวละคร Atreus ในการช่วยเราต่อสู้ แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมตัวละครนี้ได้แบบ 100%  แต่อย่างน้อยการที่เราสามารถควบคุมตัวละครนี้เพื่อช่วยเหลือเราในการขัดจังหวะการโจมตีของศัตรู หรือสนับสนุนการใช้คอมโบของ Kratos ด้วยการยิงธนู เพียงเท่านี้ก็ทำให้ผู้เล่นสนุกไปกับการต่อสู้ภายในเกมนี้ได้พอสมควรแล้วเช่นกัน

image 997

และอย่างที่ได้บอกไปว่าเกมนี้ยังคงเป็นเกม Action เลือดสาดให้เราได้เห็นกัน ฉะนั้นตลอดการต่อสู้เราจะได้มีโอกาสใช้ Brutal Kills และ Finisher Moves กับศัตรูที่มึนงงด้วยการกดปุ่ม R3 ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นฉากสังหารศัตรูที่บอกได้เลยว่าสะใจแน่นอนเพราะเราจะได้เห็นทั้งเลือดสาด อวัยวะฉีกขาด แบบเต็ม ๆ ตาสมกับการที่เราได้ติดตามการต่อสู้ของเทพสงครามอย่างแน่นอน

image 997

และแน่นอนว่าเมื่อเป็นเกมภาคต่อ ระบบเกมที่คุ้นเคยก็ถูกนำกลับมาให้เราได้ใช้งานกันเช่นเดิมไม่ว่าจะเป็นระบบการอัปเกรดสกิลตัวละครเพื่อเพิ่มความสามารถในการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการโจมตีที่จะทำให้เราสร้างคอมโบได้หลากหลายและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น , ระบบการคราฟอุปกรณ์ให้กับตัวละครรวมไปถึงระบบการอัปเกรดอุปกรณ์ที่จะทำให้ผู้เล่นพร้อมลุยกับศัตรูที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น และอื่น ๆ อีกมากมายที่แฟนเกม God of War ไม่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ให้เสียเวลา ในขณะที่ผู้เล่นที่ไม่เคยเล่นภาคแรกมาก่อน ก็สามารถเรียนรู้ได้ในเวลาไม่นานเช่นกัน

เนื้อเรื่องที่พัฒนาขึ้น เผยให้เห็นการเติบโตของตัวละคร และสเกลของการผจญภัย

image 998

แม้ว่าในส่วนของเกมเพลย์มากกว่า 90% ยังคงมันส์สะใจไม่ต่างจากภาคแรก แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ การดำเนินเรื่องราวของภาคนี้ที่เข้มข้นขึ้นและเผยให้เราได้เห็นพัฒนาการของตัวละครรวมไปถึงความใหญ่ของเนื้อหาภายในเกมที่ไม่ใช่แค่เรื่องราวของคน 2 คนกับเทพไม่กี่องค์อีกต่อไป และแน่นอนว่าเราจะได้เห็นฉากที่น่าประทับใจเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว

image 999

อย่างไรก็ตามหากผู้อ่านคนใดที่ไม่เคยเล่นเกมภาคแรกในปี 2018 มาก่อนก็สามารถดูเรื่องราวในอดีต (Recap) ได้ในหน้าจอไตเติ้ล แต่ผู้เขียนยอมรับว่า Recap นั้นสรุปออกมาแต่เนื้อหาแก่นหลักจริง ๆ ทำให้รายละเอียดหลาย ๆ อย่างหายไป เช่นการผจญภัยในดินแดนอื่น ๆ หรือตัวละครที่เราได้พบเจอระหว่างทาง ทำให้ผู้เล่นใหม่อาจจะงงได้ว่า “มันพูดถึงใครเนี่ย!” เพราะในเกมภาคนี้จะมีการพูดถึงตัวละคร หรือเหตุการณ์จากปี 2018 อยู่บ้างครับ

การใช้องค์ประกอบของจอย DualSense ที่เสริมให้การทำสงครามระหว่างทวยเทพมันส์ขึ้น

image 1000

แน่นอนว่าเมื่อเกมวางจำหน่ายให้เราได้เล่นกันบน PS5  เราจะไม่พูดถึงระบบสำคัญที่ใช้ร่วมกับระบบของจอย DualSense เลยก็คงไม่ได้ เพราะเกม God of War Ragnarok ได้มีการใช้ระบบของจอยดังกล่าวที่สมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบ Haptic Feedback ที่จะสั่นตามจังหวะหลาย ๆ จังหวะ , การที่ทำให้เสียงบางอย่างออกมาจากจอยในหลาย ๆ ครั้ง เช่นเสียงโซ่ของลากเลื่อน รวมไปถึง Adaptive Trigger ที่จะมีมาให้เราได้ใช้งานกันบ้าง

สรุปรีวิว

image 994

God of War Ragnarok ยังคงเป็นเกมที่ทำออกมาได้สมศักดิ์ศรีกับคำว่า “God of War” แบบไม่มีข้อกังขาเลยทีเดียวด้วยระบบของเกมที่ยังมาแบบจัดหนักจัดเต็มเช่นเคย แถมยังมีพัฒนาการในเรื่องของเนื้อหาให้เข้มข้นยิ่งกว่าเดิมจนน่าประทับใจเป็นอย่างมาก

ส่วนตัวผู้เขียนขออนุญาตให้คะแนนเกมนี้ที่ 9.5 เต็ม 10 ครับ ผู้เขียนขอย้ำว่า รีวิวนี้ รวมถึงคะแนนนี้เป็นมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น แฟนเกมคนอื่น ๆ อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันก็ได้ครับ

จุดเด่น

– เกมเพลย์ Action เลือดสาดสุดมันส์สมกับคำว่า God of War

– เนื้อหาของเกมที่น่าติดตามมากยิ่งขึ้น

– การแปลภาษาไทยที่ทำออกมาได้น่าประทับใจ

– มีการใช้องค์ประกอบของจอย DualSense บ้าง

ข้อสังเกต

– การตัดคำภาษาไทย (ไม่ใช่ประเด็นใหญ่เลยแม้แต่น้อย)

– หากไม่ได้เล่นภาคแรกมาก่อนอาจจะงงได้ แม้ว่าจะมี Recap ให้ได้ชมก็ตาม เพราะระหว่างเล่นจะมีการอ้างอิงเนื้อหาภาคแรก (ปี 2018) อยู่บ้าง

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณSony Interactive Entertainment อีกครั้งสำหรับโอกาสดีๆ ในการรีวิวเกมในวันนี้ ส่วนคราวหน้าเราจะมีอะไรมาแบ่งปันอีกนั้นก็ขอเชิญติดตามที่นี่เช่นเคยที่ ThisIsGame Thailand ครับผม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อเกมได้ที่ : [คลิก]

ภาพ Screenshots เพิ่มเติม

image 1000
image 999
image 999
image 1007
image 1003
image 1005
image 1002
image 1004
image 1001
image 1009
image 1010
image 1006
image 1011
image 1008
image 1012
image 994

Youryu

นักผจญเกมที่ไม่จำกัดประเภทและแพล็ตฟอร์ม
Back to top button