สกู๊ปพิเศษเกมมือถือ

7 ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับเกมมือถือที่สร้างจากอนิเมะชื่อดัง

อุปสรรคและความกวนใจที่หลายคนต่างพบเจอ

สวัสดีเพื่อน ๆ ชาวเกมเมอร์ทุกท่าน เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเป็นผู้เล่นเกมมือถือกัน และถ้าคุณเล่นเกมมาเยอะก็น่าจะรู้ว่าเกมมือถือที่ถูกสร้างจากอนิเมะชื่อดังนั้นมีค่อนข้างหลายเกม บางเกมถูกสร้างขึ้นมาจากเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรง แต่บางเกมก็ถูกสร้างโดยผู้ให้บริการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ เลยอาจทำให้มีปัญหาจุกจิกตามมาหลายอย่าง เรามาดูกันดีกว่าว่าเกมมือถือเวลาถูกสร้างจากอนิเมะดังแล้วมันจะมีปัญหาต่อผู้เล่นหรือแฟนอนิเมะยังไงบ้าง

1. ส่วนใหญ่ไม่มีภาษาไทย คนไม่เก่งภาษาเล่นลำบาก

แน่นอนว่าไม่ใช่อนิเมะทุกเรื่องที่ดังในไทยแล้วจะมีภาษาไทย ถึงแม้ว่าในบ้านเราจะมีผู้ให้บริการใจดีหลายเจ้านำเอาเกมมือถือจากอนิเมะดังมาแปลไทยให้เราได้เล่น แต่ไม่มีทางที่จะมาครบทุกเกม ถ้าเกมไหนเข้าไทยแล้วเราชอบก็โชคดีไป แต่ถ้าเกิดว่าเราอยากเล่นเกมจากอนิเมะเรื่องอื่นแต่ไม่ได้เข้าไทยล่ะก็ ส่วนใหญ่ก็มักจะต้องเล่นแบบ ENG ไม่ก็ JP อย่างแน่นอน ซึ่งบอกเลยว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่ในวัยกดมั่วแล้วจะเล่นได้เหมือนช่วงเด็ก ๆ อีกแล้ว การอ่านไม่ออกหรือไม่เก่งด้านภาษานั้นเป็นปัญหาในการเล่นเกมสำหรับบางคนอย่างมาก และส่วนใหญ่การเล่นเกมจากอนิเมะดังที่ไม่ได้เปิดให้บริการในไทยจะต้องเจอปัญหานี้แน่นอนครับ

2. เกมอนิเมะหลายเกมเริ่มจากเซิร์ฟญี่ปุ่นแล้วค่อยเปิด Global / SEA

เกมอนิเมะส่วนใหญ่มักจะเป็นอนิเมะญี่ปุ่น และญี่ปุ่นคือประเทศชาตินิยมอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เกมของเขาจะถูกเปิดให้บริการยังประเทศของเขาก่อนเป็นอันดับแรก และแน่นอนว่ามันจะมีแต่ภาษาญี่ปุ่นล้วน เพราะคนญี่ปุ่นไม่นิยมอ่านภาษาอังกฤษกันเหมือนที่เราชอบภาษาไทยมากกว่านั่นแหละ แล้วถ้าคุณอยากเล่นขึ้นมามาก ๆ คุณก็ต้องเล่นเซิร์ฟ JP ถ้าคุณอยากเล่นแบบ ENG คุณก็ต้องรอเซิร์ฟ Global ไม่ก็ SEA แต่กว่าจะเปิดก็มีดีเลย์ประมาณ 1-2 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้นแล้วแต่เกม มันเลยเป็นปัญหาว่าต้องฝืนเล่น JP ไปก่อน แล้วพอเซิร์ฟ Global เปิดก็ต้องมาชั่งน้ำหนักอีกทีหนึ่งแล้วล่ะ ว่าจะเล่น JP ต่อไป หรือย้ายหา Global เพื่อเอาภาษาแต่ว่าต้องเล่นใหม่หมด อันนี้หนักใจมากครับ

3. ถ้าอยากเล่นก่อน มีหลายเกมที่ต้องมุด VPN เล่น

ยังไม่พ้นจากปัญหาของข้อ 2 ถ้าคุณอยากเล่นเกมนั้นมาก ๆ จนยอมเล่นเซิร์ฟ JP ต่อให้เป็นภาษาญี่ปุ่นก็ไม่เป็นไร ปัญหาต่อไปที่คุณจะเจอก็คือเกมญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่ทุกเกมที่จะสามารถเล่นได้แบบสบาย ๆ อย่างที่บอกว่าความเป็นชาตินิยมของเขานั้นแรงมาก แรงพอที่จะไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปเล่นได้ง่าย ๆ ดังนั้นคนที่อยากเล่นจริง ๆ ก็ต้องโหลด VPN เพื่อมุด IP เข้าไปเล่น ซึ่งการใช้ VPN ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายถ้าเกิดอยากจะเล่นอย่างมีประสิทธิภาพ อันนี้ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกันแล้วล่ะว่าความอยากเล่นของคุณนั้นมากพอที่จะจ่ายราคา VPN ไหวไหม หรือจะใช้แบบฟรีแล้วเจอปัญหาจุกจิกของแพลตฟอร์มแทนก็ตามเห็นสมควรครับ

4. ระบบเกมไม่ค่อยแข็งแรง เอาชื่อเสียงของอนิเมะมาแบกเกม

มีหลายเกมเลยที่สร้างจากอนิเมะชื่อดังแล้วเกมเพลย์เล่นไม่สนุก กรณีแบบนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปเปิดเอง ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์แท้ ๆ อาจมองแค่มุมมองของการตลาดว่าถ้าอนิเมะมีชื่อเสียงโด่งดัง เกมเป็นยังไงแฟนอนิเมะก็ต้องเล่น ซึ่งนั่นอาจไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะทุกวันนี้แฟนอนิเมะกับเกมเมอร์เป็นกลุ่มเดียวกันไปแล้ว คนดูอนิเมะก็เล่นเกมจริงจัง ถ้าเกมที่สร้างขึ้นมามีระบบที่ไม่ดีพอ ไม่ต่างจากเกมอื่น ๆ เล่นแล้วไม่สนุก ปัญหาในการเล่นเยอะ หรือเกมมันดูกลวงจนรู้สึกว่าไม่มีอะไร ผู้เล่นที่เป็นแฟนอนิเมะก็อาจจะเลิกเล่นได้เหมือนกันครับ เพราะงั้นความดังของอนิเมะเพียงอย่างเดียวนั้นแบกเกมไม่ได้แน่ ๆ มันต้องมีระบบที่เล่นแล้วสนุกด้วย

5. ตัวละครที่ผู้เล่นชอบและเก่ง มักจะหามาครอบครองได้ยากถ้าไม่เติม

เชื่อเถอะครับว่าเกมมือถือที่สร้างจากอนิเมะดังส่วนใหญ่มักจะเป็นเกมกาชา และการเปิดกาชาก็จะเกี่ยวข้องกับตัวละครในอนิเมะ ถ้าตัวละครตัวไหนมีชื่อเสียงมาก ๆ เรตติ้งสูง คนชอบเยอะ แน่นอนว่าตัวละครเหล่านั้นจะถูกตั้งค่าให้เป็นตัวละครระดับ SSR ไม่ก็ UR ไปเลย ซึ่งมันถือว่าหายากและผิดจุดประสงค์ของแฟนอนิเมะที่มาเล่นเกมนี้เพราะอยากเล่นตัวละครที่ชอบ แม้ว่าบางเกมจะมีแจกตัวละครดังในหลาย ๆ แง่ เช่น ล็อคอินครบ 7 วัน หรือเติมเงินครั้งแรก 35 บาทรับไปเลยตัวละครดัง แต่เชื่อเถอะครับว่ามีไม่กี่เกมหรอกที่ใจดีแจกตัวดังแล้วตัวนั้นมันจะดี ส่วนใหญ่ตัวที่แจกมักจะเป็นตัวที่พอเล่นได้มากกว่าตัวเมต้า เพราะถ้าแจกตัว Top Tier มาตั้งแต่แรกบาลานซ์เกมก็อาจจะเสียได้ ก็เลยกลายเป็นว่าตัวที่ชอบดันไม่เก่ง ส่วนตัวที่เก่งด้วยชอบด้วยก็จะหายาก ต้องเติมสู้หรือดองเพชรไว้เปิดการันตีแต่ก็ต้องข้ามบางตู้ไปเหมือนกัน

6. เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเหมือนกับอนิเมะ เพราะเอา Ref. มา

สำหรับเกมมือถือที่สร้างจากอนิเมะชื่อดังนั้น ผู้เล่นที่เป็นแฟนอนิเมะส่วนใหญ่จะมีความคาดหวังอยู่ 2 อย่าง คือ เนื้อเรื่องจะเหมือนกับที่เรารู้จักไหม และรายละเอียดจะมีอะไรเพิ่มเติมจากที่เรารู้ไหม ดังนั้นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดของการทำเกมมือถือคือ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่มีเหมือนเดิมแต่เพิ่มรายละเอียดด้านบทสนทนาหรือว่าให้ตัวละครแสดงบุคลิกในมุมมองอื่น ๆ บ้าง เพื่อให้แฟนอนิเมะเก่าไม่รู้สึกเบื่อจนเกินไป หรืออาจจะมีการเพิ่มอีเวนท์ที่ไม่มีในอนิเมะเข้ามาด้วย แล้วควบคุมอุปนิสัยของตัวละครให้ไม่ออกนอกกรอบเดิมมากนักเพื่อคงคาแรคเตอร์ไว้ได้ แต่ส่วนใหญ่เกมมือถือที่สร้างจากอนิเมะดัง ก็มักจะมี Story Mode ที่เหมือนกับการดำเนินอนิเมะปกติ แทบจะไม่แตกต่างเลยครับ มีน้อยมากที่จะออกนอกกรอบได้ เพราะถ้าไม่เหมือนในอนิเมะคนก็จะบ่นกันอีก

7. ภาพจะมีแค่ลายเส้นเดียว

ถ้าเกมนี้ถูกสร้างมาจากอนิเมะดังก็มักจะมีลายเส้นเดียวที่เหมือนกันหมดทั้งเกม อาจจะมาจากอาจารย์เจ้าของลายเส้นในอนิเมะมาวาดเอง หรือไม่ก็เป็นทีมงานกลุ่มเดียวกันที่ฟิกซ์ลายเส้นให้เหมือนกัน ซึ่งจะแตกต่างจาก Original Game ที่อาจมีลายเส้นหลากหลายในเกม ๆ เดียว ยกตัวอย่างเช่น Fate/Grand Order ที่มีลายเส้นของอาจารย์ผู้วาดหลายคน ทำให้ตัวละครแต่ละตัวรู้สึกมีมิติในการบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้เล่นสามารถอินกับงานอาร์ตได้มากขึ้นครับ แต่พอมาเป็นเกมอนิเมะบนมือถือทีไรก็มักจะไม่พ้นลายเส้นที่เหมือนกันหมด เพราะว่าอนิเมะจริงมันก็เป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ครับ

และนี่ก็คือ “7 ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับเกมมือถือที่สร้างจากอนิเมะดัง” เป็นยังไงบ้างครับ ตรงกับประสบการณ์ที่เพื่อน ๆ เคยพบเจอกันมาบ้างรึเปล่าเอ่ย ปัญหาบางข้ออาจจะไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกคนนะครับ เช่น เรื่องลายเส้นผมเองก็ไม่ค่อยสนเท่าไหร่ แต่สำหรับบางคนที่ชอบงานอาร์ตก็อาจจะมองเป็นความจำเจก็ได้เช่นกัน เรื่องนี้อยู่ที่มุมมองเลยครับ เพราะถ้าคุณรับได้กับเรื่องเหล่านี้ ทั้ง 7 ข้อก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับคุณเลยก็ได้ 🙂

ที่มา
digitaloceanspaces.comgstatic.comytimg.comduniagames.coytimg.com2bandainamcoent.euaptoide.com

MakinoJou

คนธรรมดาผู้ชื่นชอบ Japanese Culture, Games, Anime และ Vtuber
Back to top button