Steam ยืนยันไม่สามารถมอบเกมผ่านพินัยกรรม ‘ในกรณีเจ้าของไอดีเสียชีวิต’
หลังจากมีการตั้งคำถามสุดแปลกไปยังกระดานพูดคุยกับทีมงาน
ปัจจุบันนี้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนได้เปลี่ยนไปในหลายๆ ทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเป็นเจ้าของทรัพย์สินในรูปแบบดิจิทัลเช่นการสมัครบัญชีของบริการร้านค้าเกมบนอินเทอร์เน็ตอย่าง Steam หรือ PlayStation Store ที่ทำให้ทุกคนสามารถเล่นเกมได้โดยที่ไม่ต้องออกไปซื้อเกมรูปแบบแผ่นอีกต่อไป ทว่าในเมื่อหลายคนมีความเข้าใจที่ตรงกันว่าสิ่งเหล่านี้นับเป็นทรัพย์สินแล้ว ในกรณีที่เจ้าของจะส่งมอบให้บุคคลใดๆ เมื่อเกิดเหตุถึงชีวิต แล้วสิ่งสถานะของสิ่ง ‘ออนไลน์’ นี้จะเป็นอย่างไรต่อ?
ล่าสุด ผู้ใช้งาน Pirat_Nation ได้ออกมาเปิดเผยถึงบทสนทนาระหว่างผู้ใช้งานที่ส่งคำถามไปยังทีมงานฝ่ายสนับสนุนบนกระดานพูดคุยของชุมชนเกมว่าด้วยความสงสัยของเขาที่ถึงแม้ว่าตนไม่ได้กำลังจะเสียชีวิต แต่ถ้าในกรณีที่มีเหตุใดๆ เกิดขึ้น พวกเขาจะสามารถถ่ายโอนวิดีโอเกมต่างๆ ในบัญชี Steam ผ่านทางพินัยกรรมได้หรือไม่ และ Steam เองก็ยังได้ตอบกลับมาด้วย ทว่ามันกลับทำให้เกิดเป็นการพูดคุยกันอีกหลายต่อเลย เพราะคำตอบที่พวกเขาได้รับนั้นก็คือ ‘ไม่สามารถทำได้’ นั่นเอง
Steam ให้เหตุผลว่าบัญชีของการใช้งานบริการร้านค้าออนไลน์ของพวกเขา รวมไปถึงวิดีโอเกมในบัญชีนั้นไม่สามารถถ่ายโอนได้โดยข้อกำหนดการใช้งานอยู่แล้ว และทางผู้ให้บริการก็ไม่สามารถมอบสิทธิ์สำหรับการเข้าถึงบัญชีหรือคอนเทนต์ใดๆ ได้ นั่นหมายความว่าวิธีการที่จะรวม ‘เกม’ เข้าไปจากบัญชีหนึ่งสู่อีกบัญชีหนึ่ง จึงถูกปัดตกลงไป ต่อให้จะมีการระบุเอาไว้ในพินัยกรรมชัดเจนก็ตาม ทำเอาหลายคนรู้สึกฉงนกันเป็นยกใหญ่ และบางคนยังได้ออกมากล่าวว่าหากต้องการถ่ายโอนบัญชีโดยทั่วไปน่าจะไม่ใช่เรื่องยากเพราะสำหรับ EA Games ใน Origin ก็เคยทำมาแล้ว
แน่นอนว่าเสียงได้แบ่งออกเป็นสองฝั่ง โดยฝั่งแรกที่ไม่เห็นด้วยกล่าวว่าเจ้าของควรมีสิทธิ์ที่จะชี้สถานะของเกมเหล่านั้นว่าควรถูกส่งมอบให้ใครต่อเพราะถ้าหากว่าใครสักคนไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้ว นั่นก็จะหมายความว่าเกมจะต้องตกค้างอยู่กับบัญชีนั้นเพียงบัญชีเดียวหรือ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไอเทมจำพวก DLC หรือสกินของตกแต่งหายากที่เจ้าของเดิมอาจมีความประสงค์ที่จะมอบให้ใครใช้งานต่อ
ขณะอีกฝั่งมองว่าความจริงถ้าเกิดว่าต้องการเข้าถึงบัญชีมากนักก็เพียงแค่จดรหัสและชื่อบัญชีให้แค่นั้นก็จบ ทว่านั่นก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ชัดเจนถ้าเกิดเจ้าของต้องการมอบ ‘สิทธิ์การเป็นเจ้าของ’ ให้ผู้เล่นอีกคน แถมฝ่ายแรกยังโจมตีต่อด้วยว่าแบบนี้ก็หมายความว่าพวกเขาไม่ใช่เจ้าของเกมหรืออย่างไร!? พอเห็นแบบนี้เลยมีคนยื่นข้อกำหนดที่เทียบแบบภาพว่า ‘เราเป็นเพียงคนที่เข้ามาใช้บริการและซื้อตั๋วในการเข้าเล่นเกมๆ นั้น’ ไม่ได้เป็นเจ้าของแบบแผ่นที่จับต้องได้จริงๆ ว่าแล้วคงต้องรอดูกันไปว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แต่ถ้า ThisIsGame Thailand พบเจอข่าวสารน่าสนใจอย่างไรก็จะนำมาแบ่งปันที่นี่อีกครั้ง
อีกด้านหนึ่ง Steam เป็นบริการร้านค้าออนไลน์ที่เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2003 โดยมีจุดประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อจัดแจงการอัปเดตเกมก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้ให้บริการร้านค้าจริงจังในภายหลัง มีการรองรับระบบออนไลน์ การป้องกันการโกง และเว็บบอร์ดให้แลกเปลี่ยนความคิด เช่นเดียวกับการสนับสนุนระบบ Mod ปัจจุบัน Steam ยังได้พัฒนาระบบปฏิบัติการณ์เพื่อใช้งานบนอุปกรณ์ PC รวมไปถึงมีการผลิตเครื่องเล่นเกมของตัวเองแล้วเช่นกัน