7 เหตุผลที่ทำให้เกมมือถือของ Square Enix “ร่วง” มากกว่า “รุ่ง”
เกม PC / Console ก็พอมีของ แต่พอเป็นเกมมือถือทีไรไปไม่รอดทุกที

สวัสดีเพื่อน ๆ ชาวเกมเมอร์ทุกท่าน หลายคนคงจะรู้จักกับค่ายเกมระดับโลกอย่าง Square Enix กันใช่ไหมครับ ซึ่งพี่เหลี่ยมของเรานั้นก็มีเกมยักษ์ใหญ่ดัง ๆ อยู่หลายซีรีส์เลย ไม่ว่าจะเป็น Final Fantasy, Nier, Kingdom Heart, Dragon Quest และอื่น ๆ ที่เกิดจากค่ายนี้และมีอายุยืนยาว ขายยังไงก็ออกเพราะมีแฟนเกมทั่วโลก แต่นั่นคือเกม PC หรือ Console เท่านั้นครับ แต่พอมาเป็นเกมมือถือกลับมีหลายเกมเลยที่พี่แกทำแล้วต้องปิดตัวลงหลายเกมเพราะไม่ได้รับกระแสตอบรับเท่าที่ควร มันเป็นเพราะอะไรกัน เราจะไปดูกันทีละข้อครับ
1. เกมปิดตัวเร็วจนผู้เล่นไม่กล้าเสี่ยง

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกมมือถือของ Square Enix ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ก็คือ “ขาดความต่อเนื่องในการซัพพอร์ต” แม้จะเปิดตัวด้วยความหวังสูง แต่เมื่อกระแสเริ่มซาลง หลายเกมกลับไม่ได้รับการอัปเดตหรือปรับปรุงต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็น จนทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่า “เกมนี้ไม่มั่นคง” และไม่กล้าลงทุนระยะยาว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Final Fantasy VII: The First Soldier เกมแนว Battle Royale ในจักรวาล FF7 ที่เปิดให้บริการในปี 2021 ด้วยกระแสตอบรับที่ดีในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นเนื้อหาใหม่กลับถูกปล่อยช้า ระบบไม่สมดุล และไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องการจับคู่อย่างจริงจัง ส่งผลให้จำนวนผู้เล่นลดลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายต้องปิดตัวในเวลาไม่ถึงปีครับ
2. ระบบกาชาที่ไม่เป็นมิตร

เกมมือถือของ Square Enix หลายเกมมักมีระบบกาชาที่ “ไม่เป็นมิตร” กับผู้เล่นสายฟรีหรือแม้แต่สายเติมเบา ๆ เรทการออกตัวละคร SSR หรือตัวละครระดับสูงมักต่ำจนน่าหงุดหงิด บางเกมไม่มีระบบสะสมแต้มเพื่อการันตี ทำให้ผู้เล่นหมดเงินจำนวนมากโดยไม่การันตีอะไรเลย เช่น SINoALICE หรือ Brave Exvius: War of the Visions ที่ขึ้นชื่อเรื่อง “กาชาดุ” จนผู้เล่นหลายคนเลิกเล่นกลางทาง เพราะรู้สึกว่าเกมไม่แฟร์และเอาเปรียบเกินไปครับ
3. เกมดี แต่ขาดการตลาด

Square Enix มีเกมมือถือที่คุณภาพดีหลายเกม ทั้งด้านกราฟิก เนื้อเรื่อง และระบบการเล่น แต่กลับ “ขาดการตลาด” ที่ชัดเจน ทำให้เกมดี ๆ ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เช่น Voice of Cards ที่มีคอนเซปต์น่าสนใจมาก หรือ Takt Op. Symphony ที่งานภาพและเสียงระดับอนิเมะ แต่กลับเปิดตัวแบบเงียบ ๆ แทบไม่มีแคมเปญโปรโมตในตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้คนเล่นไม่รู้ว่าเกมมีจุดเด่นอะไร หรือบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกมเปิดแล้ว ความน่าเสียดายคือ เกมที่น่าจะเติบโตได้ดี กลับต้องจบลงเพราะ “ไม่มีคนเล่นมากพอ” ไม่ใช่เพราะคุณภาพของตัวเกมเลย
4. จำเจและขาดความแปลกใหม่

แม้ Square Enix จะมีทรัพยากรและแฟรนไชส์ระดับตำนานอยู่ในมือ แต่หลายเกมมือถือกลับใช้สูตรเดิมซ้ำไปซ้ำมา ทั้งระบบกาชา การต่อสู้แบบออโต้ และ UI ที่แทบไม่ต่างกันเลยจากเกมก่อนหน้า เช่น Final Fantasy Brave Exvius กับ War of the Visions ทั้ง 2 เกมนี้แม้จะมีความแตกต่างกันในระบบต่อสู้ แต่โดยรวมยังใช้โครงสร้างและโมเดลการให้บริการที่ใกล้เคียงกัน จนหลายคนรู้สึกซ้ำซาก หรือแม้แต่เกมใหม่บางเกม ก็ยังยึดแนวทางเดิมที่ไม่มีนวัตกรรมอะไรใหม่ให้ตื่นเต้น ผู้เล่นหลายคนจึงรู้สึกว่า “เปลี่ยนแค่เกม แต่แก่นเหมือนเดิม” ทำให้เบื่อเร็วและไม่รู้สึกผูกพันกับเกม ยิ่งในยุคที่ตลาดเกมมือถือมีคู่แข่งมากมาย การไม่กล้าเสี่ยงสร้างอะไรใหม่ ๆ ก็เท่ากับเดินถอยหลังไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัวครับ
5. พึ่งพาชื่อของซีรีส์ใหญ่เกินไป

Square Enix มักเลือกใช้ชื่อแฟรนไชส์ดังอย่าง Final Fantasy, Dragon Quest หรือ NieR มาเป็นจุดขายหลักของเกมมือถือหลายเกม แม้จะช่วยเรียกกระแสได้ในช่วงแรก แต่การพึ่งพาชื่อแบรนด์มากเกินไปโดยไม่มีไอเดียใหม่ ๆ รองรับ กลับกลายเป็นดาบสองคม เพราะเมื่อเข้าไปเล่นจริงแล้วเกมไม่สนุก หรือคุณภาพไม่สมกับชื่อที่แบกไว้ ผู้เล่นจะรู้สึกผิดหวังมากกว่าปกติ เช่น NieR Re[in]carnation ที่มีภาพสวย เพลงดี แต่มุมเกมเพลย์กลับซ้ำซาก และหลายคนมองว่า “ไม่ใช่ NieR อย่างที่คาดหวัง” การยืนด้วยชื่อซีรีส์อย่างเดียวจึงไม่พออีกต่อไป ถ้าภายในเกมไม่มีเสน่ห์เฉพาะตัวพอที่จะตรึงผู้เล่นให้อยู่ได้ยาว ๆ ครับ
6. การแปลภาษาและ UX/UI ไม่ได้มาตรฐาน

เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เกมมือถือของ Square Enix ขาดความน่าสนใจ หลายเกมมักเจอปัญหาการแปลที่อ่านแล้วงง หรือใช้คำผิด ทำให้ผู้เล่นเสียอรรถรสและสับสน เช่น Final Fantasy XV: A New Empire ที่เคยโดนวิจารณ์เรื่องคำแปลแปลก ๆ หรือประโยคไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ UX/UI ที่ซับซ้อน ไม่เป็นมิตรกับผู้เล่นใหม่ ก็ทำให้หลายคนเลิกเล่นตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เพราะระบบเมนูเยอะเกินไป การวางปุ่มไม่เหมาะสม และฟีเจอร์มากเกินจำเป็น ยิ่งเกมมือถือยุคนี้เน้นความรวดเร็วและเข้าใจง่าย การออกแบบ UX/UI ที่ไม่ดีถือเป็นข้อเสียใหญ่ที่กระทบทั้งภาพลักษณ์และยอดผู้เล่น
7. ขาดการฟังเสียงผู้เล่น

หนึ่งในปัญหาหลักที่ทำให้เกมมือถือของ Square Enix ไปไม่รอดคือไม่ฟังเสียงผู้เล่นครับ หรือฟังแล้วก็ปรับช้าเกินไป จนเสียผู้เล่นไปก่อน เช่นในเกม Echoes of Mana ที่ตอนเปิดตัวมีเสียงชมเรื่องภาพและเพลง แต่กลับโดนวิจารณ์หนักเรื่องระบบซ้ำซากและรางวัลน้อยมาก แม้ผู้เล่นจะเสนอให้ปรับปรุง แต่ทีมงานใช้เวลานานกว่าจะตอบสนอง และบางประเด็นก็ไม่เคยแก้เลยจนเกมปิดตัว ผู้เล่นยุคนี้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมมากขึ้น การไม่รับฟังจึงกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ความไว้ใจลดลง และเลือกจะไปอยู่กับเกมที่ให้ความสำคัญกับเสียงของพวกเขามากกว่า
และนี่คือ 7 เหตุผลที่ทำให้เกมมือถือของ Square Enix “ร่วง” มากกว่า “รุ่ง” เพื่อน ๆ มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องนี้ เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยประการใด ก็สามารถคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นและพูดคุยกันได้นะครับ แต่เกมมือถือของ Square Enix นี่ก็เปิดหลายเกมและปิดตัวไปหลายเกมจริง ๆ นั่นแหละนะ ทั้งที่ใจเราเองก็อยากเล่นเกมมือถือของค่ายนี้มากกว่านี้แท้ ๆ