5 ความประทับใจจากการทดลองเล่น Death Note Killer Within รอบ Hands-on
กราฟิกสวยงาม, เกมเพลย์เข้าถึงง่าย, คอนเซปต์โดดเด่น, การตกแต่งหุ่นนิ้ว และความสร้างสรรค์
ในการเยี่ยมเยียน Bandai Namco ครั้งล่าสุดนี้ ต้องบอกเลยว่าเซอร์ไพรส์ที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการที่ทีมงานได้มีโอกาสทดลองเล่นเกม Death Note Killer Within ด้วยมือของตนเอง และเมื่อได้เล่นแล้วก็ต้องบอกเลยว่าไม่ผิดหวังเลยทีเดียว และในวันนี้เราจะพาทุกคนมาพบกับ 5 ไฮไลท์เด่นของเกมนี้กันว่าทำไมเราถึงไม่ควรพลาดเกมนี้กันครับ
5 ความประทับใจจากการทดลองเล่น Death Note Killer Within รอบ Hands-on
1. กราฟิกสวยงาม เล่นได้ลื่นไหล
ประเด็นแรกที่ต้องพูดถึงเลยก็คือกราฟิกของเกมที่เราได้ทดลองเล่นกันในวันนี้ เพราะถ้าหากกราฟิกไม่งามคงทำให้เกมนี้มีความน่าเล่นน้อยลงไปในระดับหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าทางผู้พัฒนาเกม Death Note Killer Within ก็ไม่ยอมให้ประเด็นนี้หลุดรอดสายตาไปได้ โดยดีไซน์ของเกมนี้ไม่ได้ถูกนำเสนอด้วยตัวละครแบบสมจริง แต่ตัวละครทุกตัวจะถูกนำเสนอในรูปแบบของหุ่นนิ้วที่ N ใช้ในการ์ตูน และเกมเพลย์ก็จะเกิดขึ้นบนแผนที่บนโต๊ะราวกับเรากำลังเล่นหมากกระดานอยู่นั่นเอง โดยทั้งหมดนี้ทำให้กราฟิก และดีไซน์ของเกมนี้ลงตัวมาก ๆ
นอกจากนี้ความลื่นไหลในการเล่นเกมนี้ก็เรียกได้ว่าลื่นปรื๊ด ๆ เลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าเกมเพลย์ที่จะต้องชิงไหวชิงพริบกันในเสี้ยววินาทีนี้หากมีอาการกระตุกแม้แต่เล็กน้อยก็คงไม่ดีอย่างแน่นอน ซึ่งเกมดังกล่าวก็ไม่มีปัญหาดังกล่าวมากวนใจเลยครับ
2. เกมเพลย์ Social Deduction ที่เข้าถึงง่าย
เมื่อพูดถึงเกม Social Deduction หลาย ๆ คนก็คงกำลังรอคอยว่าซีรีส์ในตำนานอย่าง Death Note Killer Within เมื่อไหร่จะมีเกมประเภทนี้ให้เราได้เล่นกัน และล่าสุดทุกคนก็สมหวังกันแล้ว โดยเกมนี้จะยังคงคอนเซปต์เกมเพลย์ประเภท Social Deduction ที่ต้องตามหาให้ได้ว่า “ใครคือคนร้าย” ซึ่งแน่นอนว่าเกมเพลย์ของเกมนี้ก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่ายมาก ๆ
เริ่มต้นเกมผู้เล่นทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายด้วยกัน นั่นก็คือฝ่าย Kira และผู้ร่วมขบวนการ (ฝั่งฆาตกร) และ L พร้อมกับนักสืบคนอื่น ๆ (ฝั่งตำรวจ) โดยทุกคนจะได้คุมหุ่นนิ้วของตัวเองเดินไปรอบ ๆ แผนที่เพื่อทำหน้าที่ของตนเอง
โดยแต่ละฝ่ายมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป นั่นก็คือ ฝ่าย Kira จะมีเป้าหมาย 2 อย่างหลัก ๆ ก็คือ ฆ่าผู้เล่นทุกคน หรือ ฆ่า L ให้ได้ ในขณะที่ฝั่ง L นั้นจะต้องทำการตามไล่ล่าจับ Kira ให้ได้ หรือทำการสืบสวนให้สำเร็จตามที่กำหนดนั่นเอง แน่นอนว่าการแข่งขันนี้จะต้องแข่งกับเวลาและต้องระมัดระวังผู้เล่นคนอื่น ๆ ให้ดี เพราะฝั่งตำรวจไม่อาจทราบได้เลยว่าใครคือฆาตกร ในขณะที่หากฝั่งฆาตกรผลีผลามเกินไปก็อาจจะทำให้ถูกจับได้นั่นเอง
จากตรงนี้ถือว่าคอนเซปต์ของเกมก็เป็นที่เข้าใจได้ง่ายมาก ๆ อย่างไรก็ตามเกมนี้ก็จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมเข้ามาให้สมกับที่ใช้ชื่อ Death Note ซึ่งจะขอพูดถึงในหัวข้อต่อไปครับ
3. เกมเพลย์ดึงเอกลักษณ์ของ Death Note ออกมาได้ดีเยี่ยม
มาขยายความกันต่ออีกสักหน่อยดีกว่าครับ เพราะหากเกมเพลย์หลัก ๆ ที่พูดไปด้านบนคือทั้งหมดแล้วก็คงจะเรียกเกมนี้ว่าเป็น Death Note ได้ไม่เต็มปาก ทำให้ทางผู้พัฒนาเกมใส่ความเป็น Death Note เข้ามาพอสมควร ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกมนี้โดดเด่นขึ้น และน่าประทับใจขึ้นอย่างมาก โดยผู้เขียนขออธิบายแยกเป็นข้อ ๆ ดังนี้
การตามหาชื่อ-นามสกุลจริง – ในตอนแรกนั้นทุกคนที่เข้าร่วมเกมจะไม่มีใครรู้ชื่อ-นามสกุลจริงของผู้เล่นคนอื่น ๆ เลย แน่นอนว่าการที่ Kira จะฆ่าคนอื่น ๆ ผ่านโน๊ตมรณะได้ก็จะต้องรู้ชื่อนามสกุลจริงเสียก่อน ซึ่งนี่คือที่มาของเกมเพลย์ “ขโมยบัตรประจำตัว” ซึ่งผู้ที่สามารถขโมยบัตรประจำตัวได้นั้นก็คือฝั่ง Kira ทั้งหมด ซึ่งหาก Kira ขโมยเองได้ก็จะรู้ชื่อ-นามสกุลจริงทันที แต่ถ้าเป็นผู้ร่วมขบวนการขโมยมาได้ ก็จำเป็นที่จะต้องส่งต่อบัตรประจำตัวให้ Kira ให้ได้เสียก่อน ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นการเล่นกิมมิกที่น่าประทับใจเป็นอย่างมาก
การส่งต่อ Death Note – แน่นอนว่าโน๊ตมรณะเป็นเพียงอุปกรณ์ และเราจะได้เห็นในการ์ตูนว่าผู้เล่นสามารถส่งต่อโน๊ตได้ ซึ่งทางผู้พัฒนาเกมก็ได้ใส่ระบบนี้มาด้วย ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามหากผู้เล่นคนใดที่คิดว่าตัวเองเป็น Kira ก็สามารถส่งต่อโน๊ตให้ผู้เล่นที่เป็นผู้ร่วมขบวนการได้ทันที และเมื่อทำแบบนี้แล้ว ต่อให้โดนจับก็จะยังไม่ทำให้เกมแพ้นั่นเอง ซึ่งจุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งการประยุกต์ใช้ไอเดียจากการ์ตูนได้ดีมาก ๆ
การใช้โน๊ตฆ่าผู้เล่นคนอื่น ๆ – อีกหนึ่งจุดเด่นที่สุดของเกมเพลย์ของเกมนี้ก็คือ การที่ Kira สามารถใช้โน๊ตเขียนฆ่าฝั่งตำรวจได้ ซึ่งในการเขียนโน๊ตฆ่านั้นเราสามารถกำหนดได้ว่าให้ไปตายที่ไหน และเพราะสาเหตุอะไร ซึ่งเป็นกิมมิกที่โดนใจสาวก Death Note อย่างผู้เขียนมาก ๆ (ซึ่งตรงนี้จะมีข้อมูลที่ข้อขยายเพิ่มเติมในหัวข้อต่อไป)
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ก็ชัดเจนเลยว่าเกมเพลย์ของเกมนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว ทำให้เกมนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเกม Social Deduction ที่น่าเล่นเป็นอย่างมาก
4. ลดความรุนแรงได้อย่างสร้างสรรค์
มาถึงหัวข้อที่ 3 ที่จะขออธิบายถึงความประทับใจเพิ่มเติมในส่วนของ การใช้โน๊ตฆ่าผู้เล่นคนอื่น ๆ ในหัวข้อก่อนหน้าอีกสักนิดครับ แน่นอนว่าตลอดซีรีส์เราจะได้เห็นการสังหารด้วยโน๊ตมากมายหลายวิธี ทั้งแบบเบสิคคือหัวใจวายตาย และแบบอื่น ๆ ที่มีความโหดเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามภายในเกมนี้ได้มีการดัดแปลงให้ความโหดร้ายนั้นลดลงได้อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกมนี้อยู่ในเรตที่เข้าถึงได้ทุกคน
สำหรับตัวอย่างการลดความรุนแรง เช่น หากเราสั่งให้ตัวละครยิงตัวตาย เราก็จะได้เห็นฉากหุ่นนิ้วของเราโดนปืนของเล่นยิงใส่จนล้มลงไป หรือถ้าหากเราโดนสั่งให้รถชนตาย เราก็จะได้เห็นหุ่นนิ้วของเราเดินไปกลางถนนแล้วรถก็วิ่งมาทับให้หุ่นนิ้วของเราแบนแต๊ดแต๋ เป็นต้น ซึ่งฉากเหล่านี้อาจจะดูไม่ฮาร์ดคอร์เท่าไหร่ แถมออกฮาเสียด้วยซ้ำ แต่สำหรับผู้เขียนเองกลับรู้สึกประทับใจในการลดเรตอย่างสร้างสรรค์ของทีมพัฒนามาก ๆ
5. ตกแต่งหุ่นนิ้วของตัวเองได้เต็มที่
องค์ประกอบสุดท้ายที่ผู้เขียนแอบประทับใจเช่นกันก็คือเกมนี้ได้นำระบบ สกิน (หรือบางคนอาจจะเรียกว่า คอสตูม) มาให้เราได้ใช้งานด้วย ฉะนั้นหุ่นนิ้วของเราจะไม่ได้เป็นแค่หุ่นนิ้วโล้น ๆ ทั่ว ๆ ไป แต่เราสามารถตกแต่งได้มากมาย ตั้งแต่หัวแอฟโฟร, ผ้าปิดตานอน, ปีกปีศาจ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งระบบตกแต่งนี้ก็ทำให้เกมนี้มีสีสันมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง ซึ่งตอนทดลองเล่นเกมนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสใช้งานของตกแต่งเพียงไม่กี่ชิ้น แต่ผู้เขียนก็แอบเห็นของตกแต่งแจ่ม ๆ ที่รอให้ผู้เล่นได้ปลดล็อคอยู่อีกเพียบเลยล่ะครับ!
DEATH NOTE Killer Within คือเกมออนไลน์สุดมันส์ที่ท้าทายให้ผู้เล่นสูงสุด 10 คน มาลับสมองและทักษะการสังเกตและไล่ล่า โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีม ได้แก่ทีมฆาตกรที่เราจะต้องปกป้อง Kira และกำจัด L ด้วยสมุดโน้ตความตาย ในขณะที่ทีมนักสืบจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดทีมฆาตกรให้ได้ ภายในเกมนี้ผู้เล่นจะต้องใช้ไหวพริบและความสามารถในการสังเกตพฤติกรรมของผู้อื่น เพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริงของคู่ต่อสู้ และวางแผนเพื่อให้ทีมของตนได้รับชัยชนะในโลกของการลับคมความคิดและการหักเหลี่ยมเฉือนคมที่น่าตื่นเต้น!