งานวิจัยเผยเกรียนคีบอร์ดตัวจริงล้วนมีนิสัยแย่
ไม่ต่างจากพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ที่เลวร้ายไม่แพ้กัน

เชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกคนในยุคนี้จะต้องเคยเจอกับเหล่า “นักเลงคีย์บอร์ด” หรือ Online Trolls ที่คอยปลุกปั่นหาเรื่องชวนตีกับชาวบ้านไปทั่ว และผมเชื่อว่าเพื่อนๆ น่าจะเคยคิดสงสัยกันบ้างแหละว่าจริงๆ แล้วสาเหตุที่เหล่าเกรียนคีบอร์ดทำตัวห้าว (ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) ขนาดนี้คงเป็นเพราะพวกเขาอยู่หลังจอคอมหรือมือถือกระมัง ซึ่งสำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังสงสัยอยู่ว่าสาเหตุของพฤติกรรม Online Troll มันมาจากการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์จริงๆ หรือ ผมก็ขอยกผลการวิจัยที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัย Aarhus มาให้เพื่อนๆ ได้ไขความกระจ่างกัน
สำหรับงานวิจัยในครั้งนี้ถูกเผยแพร่ใน American Political Science Review โดยกลุ่มนักวิจัยได้มีการรวบรวมกลุ่มตัวอย่างในประเทศเดนมาร์กและอเมริกา ด้วยการปล่อยแบบสอบถามและการศึกษาพฤติกรรมเพื่อทราบว่าเหตุใด การมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์จึงมีความขัดแย้งและความเกลียดชัง มากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริง (สามารถเอกสารฉบับ Pre Print ได้ที่นี่)

ทางทีมวีจัยได้มีการตั้งสมมติฐานว่าผู้คนจะมีโอกาสทำตัวดีกับคนอื่นๆ เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กันแบบซึ่งหน้าตรงกันข้ามกับโลกออนไลน์ ถึงกระนั้นทางทีมวิจัยยังไม่สามารถหลักฐานมายืนยันได้ แต่จากข้อมูลที่ทีมวิจัยได้รวบรวมมาก็สามารถบ่งบอกเราได้ว่า การมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์จะมีความคล้ายคลึงกับในโลกความเป็นจริง กล่าวคือรูปแบบในการสื่อสารหรือแพลตฟอร์ม ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวกับผู้อื่น (หรือก็คือคนๆ นั้นมันนิสัยเสียอยู่แล้วนั่นเอง)
Alexander Bor นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Aarhus และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าวกับ Engineering & Technology ว่ามันมีเหตุผล “ทางจิตวิทยาอีกมากมาย” ที่กระตุ้นให้ผู้คนรู้สึกโกรธในโลกออนไลน์ตั้งแต่การไม่เห็นหน้าของคู่สนทนา รวมถึงธรรมชาติในการสื่อสารที่รวดเร็ว ที่อาจส่งผลให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดขึ้น จนกลายเป็นต้นตอของการทะเลาะเบาะแว้ง

นอกจากนั้น Michael Bang Petersen อาจารย์รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Aarhus และผู้ร่วมเขียนงานวิจียอีกคนได้เผยกับทาง Engineering & Technology ว่าสาเหตุที่การพูดคุยเรื่องการเมืองบนโลกออนไลน์ถูกมองในแง่ลบอย่างมากก็มีส่วนมาจาก ”ความชัดเจนของพฤติกรรมก้าวร้าวทางออนไลน์” ที่เนื่องด้วยธรรมชาติของโลกอินเทอร์เน็ตที่มีความเป็นสาธารณะมากกว่าช่องทางอื่นๆ ส่งผลให้พฤติกรรมก้าวร้าวหรือการคุกคาม สามารถพบเห็นได้บ่อยและชัดเจนมากกว่าในชีวิตจริงและทาง Bor ได้ทิ้งท้ายว่าการพูด Hate Speech ไม่ได้เกิดขึ้นจากความไม่รู้และพวกเขาทุกคน (เกรียนคีบอร์ด) ล้วนทราบถึงผลกระทบที่จะตามเสมอ