เทคโนโลยี

7 ข้อแตกต่างระหว่าง Threads และ Twitter

ถึงจะดูเหมือนกันแต่ยังมีรายละเอียดที่ต่างกันอยู่

เชื่อว่าในตอนนี้หลายคนน่าจะได้เข้าไปลองเล่นแพลตฟอร์มโซเชียลใหม่จาก Meta อย่าง Threads กันบ้างแล้ว แน่นอนว่านี่เป็นแพลตฟอร์มที่มีการพัฒนาและเปิดตัวออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างมาก เนื่องจาก Twitter กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาหนักหลายเรื่อง และจุดมุ่งหมายของการสร้างแอปใหม่ครั้งนี้ก็เหมือนเป็นความตั้งใจที่จะทำให้มีความคล้ายในกับของเดิมที่มีอยู่ก่อน แต่ในครั้งนี้เราจะพาทุกคนไปดูกันว่ามีจุดไหนบ้างที่ Threads และ Twitter มีความแตกต่างกัน

การลงทะเบียน

นี่เป็นความแตกต่างแรกที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่การเข้าใช้งานครั้งแรก เนื่องจาก Threads เราจำเป็นที่จะต้องมีบัญชีผู้ใช้งาน Instagram เสียก่อน ถึงจะสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานได้ โดยที่เมื่อเราทำการลงทะเบียนแล้วระบบจะมีการดึงข้อมูลจาก Instagram มาให้ในทันที หรือว่าจะตั้งค่าด้วยตัวเองก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังสามารถเลือกได้ว่าจะตั้งค่าโปรไฟล์เป็นแบบ Public หรือ Private

image 1733

ขณะที่ Twitter สิ่งที่แตกต่างออกไปคือการที่เราสามารถลงทะเบียนได้หลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนโดยผูกกับ Google หรือ Apple นอกจากนี้หากใครที่ต้องการความเป็นเอกเทศ สามารถที่จะลงทะเบียนโดยไม่ต้องผูกอะไรกับแพลตฟอร์มอื่นได้เช่นกัน

image 1734

จำนวนตัวอักษร

เรื่องของจำนวนตัวอักษรต่อการเขียนหนึ่งครั้งเป็นอีกเรื่องที่แตกต่างกัน โดยที่ Threads ได้ให้โควต้าในส่วนนี้มามากกว่าอยู่ที่ 500 ตัวอักษร ขณะที่ Twitter ถ้าใครเป็นผู้ใช้งานทั่วไปจะสามารถใช้ได้สูงสุดเพียง 280 ตัวอักษร อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ของการมีทางเลือกพิเศษอย่างการสมัคร Twitter Blue จะสามารถใช้ได้สูงสุด 10,000 ตัวอักษร แต่ถ้าเทียบกันแบบใช้งานฟรีในส่วนนี้ก็ต้องบอกว่าแพลตฟอร์มใหม่ให้ขอบเขตในการพิมพ์ที่มากกว่า

image 1735

จำนวนรูปภาพที่ลงได้ต่อหนึ่งครั้ง

เรื่องของรูปภาพต่อหนึ่งครั้งที่สามารถอัปโหลดได้อาจดูไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาหลักอะไรสำหรับแพลตฟอร์ม ที่เน้นไปในเรื่องของการอ่านข้อความเป็นหลัก แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำมาพูดถึงกัน สำหรับ Threads ให้ทางเลือกในการอัปโหลดรูปภาพได้สูงสุดต่อหนึ่งครั้งที่ 10 รูป ขณะที่ Twitter ให้ตัวเลือกเพียงแค่ 4 รูปเท่านั้น ในแง่ของประโยชน์การใช้งานด้วยความที่ Threads คือส่วนที่ถูกขยายเพิ่มเติมจาก Instagram ทำให้การอัปโหลดรูปภาพได้มากกว่าจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก

ความยาวของวิดีโอที่อัปโหลดได้

หากเราเทียบกันในแง่ของความยาวของวิดีโอที่สามารถอัปโหลดได้ต่อหนึ่งครั้ง Threads สามารถทำได้ที่ 5 นาที ขณะที่ Twitter สามารถทำได้ 2 นาที 20 วินาที ที่น่าเสียดายคือเรายังไม่ทราบว่าขนาดของไฟล์ที่สามารถอัปโหลดได้ใน Threads อยู่ที่เท่าไหร่ แต่สำหรับ Twitter ถูกจำกัดที่ 512MB ขณะเดียวกันหากหากใครที่เป็นสมาชิก Twitter Blue จะสามารถทำได้ถึง 2 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 8GB

image 1736

ระบบ Hashtag

ด้วยความที่ Threads เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่พึ่งเปิดตัวและไม่แน่ใจว่าทางทีมพัฒนาหวังกับตัวแพลตฟอร์มเอาไว้มากน้อยเพียงใด แต่ตัวระบบไม่สามารถที่จะใส่ hashtag ได้ในตอนนี้ แตกต่างจาก Twitter ที่สามารถใช้งานระบบดังกล่าวและรวบรวมการใช้งาน hashtag เอาไว้มาได้อย่างยาวนาน แต่เชื่อว่าระบบดังกล่าวอาจจะมีการเปิดให้ใช้งานในอนาคต แต่ ณ เวลานี้ยังไม่สามารถที่จะใช้งานได้

ระบบสร้างรายได้

แม้จะไม่ได้มีผลต่อผู้ใช้งานกลุ่มใหญ่แต่ระบบการสร้างรายได้เป็นสิ่งที่ Threads อาจจะยังไม่ได้คิดถึงในตอนนี้ และทางหัวเรือใหญ่อย่าง Mark Zuckerberg เองก็ยืนยันว่ายังไม่มีแผนจะนำการสร้างรายได้หรือการแสดงผลโฆษณาในแพลตฟอร์ม ณ ตอนนี้ โดยที่อาจจะรอให้มีผู้ใช้งานถึง 1 พันล้านบัญชีไปก่อน แต่สำหรับ Twitter มีส่วนที่รองรับการสร้างรายได้แล้วทั้งการลงโฆษณาจากผู้ที่สนใจโดยตรง หรือจะเป็นการเปิดระบบสร้างรายได้ในรูปแบบของสมาชิกเรียบร้อยแล้ว

image 1737

เนื้อหา 18+

คงไม่ต้องพูดให้มากความเนื่องจากผู้ใช้งาน Twitter บางรายอาจจะทราบกันเป็นอย่างดีว่าตัวแพลตฟอร์มค่อนข้างที่จะเปิดอิสระในการลงเนื้อหาที่เป็นเชิง 18+ ได้ค่อนข้างที่จะเปิดกว้างพอสมควร อย่างไรก็ตาม Threads ที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่และมี Meta อยู่เหนืออีกทีเราทราบนโยบายของบริษัทเป็นอย่างดีว่าเรื่อง 18+ ที่ล่อแหลมมากจนเกินไปไม่สามารถที่จะทำได้ และนี่อาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บางคนยังให้ค่ากับ Twitter มากกว่าในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับผู้ใช้งานที่แท้จริง

นี่คือข้อแตกต่างที่เราสามารถเห็นได้ในตอนนี้ แน่นอนว่ายังมีรายละเอียดปลีกย่อยการใช้งานแพลตฟอร์มใหม่ที่มากกว่านี้ แต่นั่นจะเป็นการเจาะเข้าไปในรายละเอียดเชิงลึกที่ดูจะไม่ต่างกันมากนัก ต้องยอมรับว่า Threads เป็นแพลตฟอร์มทางเลือกใหม่ ที่ค่อนข้างจะได้แรงบันดาลใจจาก Twitter มาพอสมควร แต่เชื่อว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เองว่าเราในฐานะผู้ใช้งานจะเหมาะสมกับแพลตฟอร์มไหนมากกว่ากัน

Artherlus

แค่คนทั่วไปที่หลงใหลในวงการไอที
Back to top button