เทคโนโลยี

คำศัพท์ที่ควรรู้ก่อนเริ่มต้นเล่นเกม NFT

เพิ่มความเข้าใจในภาพรวมของตลาดในส่วนนี้มากยิ่งขึ้น

ในตอนนี้ความสนใจของหลาย ๆ คนพุ่งเป้ามาที่กระแส NFT และเกมแนว P2E กันค่อนข้างมาก จากเดิมที่เป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่ามันจะกลายเป็นกระแสหลักที่ใคร ๆ ต่างก็พูดถึงกันด้วยเหตุผลต่าง ๆ ในครั้งนี้เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับคำศัพท์หรือเราจะพูดว่าระบบที่แต่ละเกมมักจะมีการหยิบมาใช้งานภายในเกมของตัวเอง

มาเริ่มต้นกันที่ NFT กันก่อน หากจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คำว่า NFT หรือที่ย่อมาจาก Non-Fungible Token คือสิ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของ ที่มีคุณลักษณะในตัวเองไม่สามารถที่จะหาอะไรมาทดแทนได้ เช่นสัตว์เลี้ยงคู่ใจของเราที่ต่อให้จะมีตัวอื่นที่มีสายพันธุ์เดียวกัน แต่มันก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกันไป หรือถ้าหากเป็นในเกมก็ให้นึกถึงภาพเกมที่มีความหลากหลายของค่าสถานะคุณสมบัติของไอเทมมาก ๆ ไอเทมแบบเดียวกันแต่ก็มีคุณสมบัติที่ต่างกันนั่นเอง

image 1793

อย่างไรก็ตาม NFT เป็นเพียงแค่การแสดงความเป็นเจ้าของรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ใช่ว่ามันจะไม่สามารถเปลี่ยนมือการเป็นเจ้าของได้หากมีการซื้อขายเกิดขึ้นก็สามารถที่จะเปลี่ยนมือได้ และที่สำคัญในบางครั้งก็ไม่ได้ถูกจำกัดว่าจะต้องมีชิ้นเดียว เนื่องจากในปัจจุบันมีบางเกมที่ออกบัตรเข้าเล่นเกมในรูปแบบ NFT บางช่วงเวลา ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษตามมา ต่างจากคนที่เข้าเล่นทั่ว ๆ ไป

ต่อมากับคำว่า P2E ที่ไม่ใช่ PVE เพราะมันย่อมาจาก Play-to-Earn หรือแปลตรงตัวก็คือเล่นเพื่อสร้างรายได้ เป็นหนึ่งในคำที่เรามักจะได้เห็นอยู่เสมอในเกมที่เปิดตัวมาในปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากตัวเกมจะถูกพัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยี Blockchain เดิมทีระบบการเล่นดังกล่าวมีมาสักพักใหญ่แล้ว แต่ที่พึ่งจะกลายมาเป็นกระแสเนื่องจากการมาถึงของ NFT และค่าเงินคริปโตในปัจจุบันที่พุ่งสูง ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ตามแต่ละคนจะหาเหตุผลมารองรับ 

image 1794

โดยที่ปกติแล้วรายได้ที่จะเกิดขึ้นภายในเกมจะมาในรูปแบบของเงินภายในเกมที่สามารถแปลงไปเป็นเงินตัวอื่น ๆ ได้ ไอเทมในรูปแบบ NFT เช่นเดียวกันยังมีการนำระบบอื่น ๆ มาใช้งานภายในเกมไม่ว่าจะเป็น Stake, Liquidity, Farm และอื่น ๆ เพื่อเสริมรายได้ให้กับผู้ที่ต้องการ

Stake หรือถ้าจะเอาให้ถูกก็ต้อง Staking เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการทำเงินที่อาจจะพอบอกได้ว่าเป็นแนวคิดแบบ Passive Income นั่นก็คือการที่เรานำเหรียญที่เรามีจำนวนหนึ่งไปล็อคเอาไว้ไม่ใช้งาน และผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่งก็จะได้เหรียญหรือสิ่งตอบแทนที่เราเลือกกลับมา นึกภาพที่เห็นชัดที่สุดคงเป็นการลงเงินกับกองทุนแล้วเมื่อถึงเวลาก็ได้รับผลตอบแทน หรือใครจะมองว่ามันเป็นแชร์ก็มองได้เช่นกัน เพราะมีปัจจัยเรื่องของความเสี่ยงที่มูลค่าจะลดลง แพลตฟอร์มผู้เปิดให้บริการปิดตัว และอื่น ๆ

image 1795

การสร้างรายได้ในรูปแบบนี้เป็นอีกหนึ่งกระแสที่เกิดขึ้น ด้วยความที่ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่ดูไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ลงเงินไปและทำเพียงแค่รอเวลาเท่านั้นไม่ต้องมาทำการดูราคารายวันให้ปวดใจเล่น ในแง่ของระบบภายในเกมเรามักจะได้เห็นการสร้างสกุลเงินขึ้นมาหนึ่งตัวแล้วนำเงินตัวนั้นไปทำการ staking เพื่อที่จะได้รับไอเทมภายในเกมและจำนวนเงินที่จะได้กลับคืนมา ซึ่งเมื่อเป็นการทำภายในเกมมันดูน่าสนใจกว่าไม่น้อย เพราะอย่างน้อย ๆ ก็จะได้ของอะไรบ้างอย่างคืนมาด้วย

ตามมาด้วยคำว่า IDO หรือ Initial Dex Offering ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ เวลาที่มีเกมใหม่ ๆ เปิดตัว แม้เราจะยังไม่เห็นระบบของตัวเกมหรือภาพจริงเลยก็ตาม ซึ่งพูดให้เข้าใจได้ง่ายมันก็คือการที่ทางทีมงานพัฒนาเกม เปิดขายเหรียญที่จะใช้งานให้กับผู้ที่สนใจล่วงหน้า ซึ่งข้อดีอย่างแรกคือราคาที่จะเป็นราคาซื้อยืนพื้นที่ค่อนข้างถูก ทำให้ผู้ที่สนใจสามารถตีดสินใจซื้อและรอวัน To Da Moon ได้ กลับกันถ้าตัวเกมไม่ได้ไปอย่างที่คาดหวังเอาไว้ เหรียญที่ซื้อเอาไว้ก็อาจจะกลายเป็นเพียงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปในทันที

Airdrop เป็นความหมายตามตัวที่ไม่ต้องการความเข้าใจใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมันคือช่วงที่ตัวเกมมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะสามารถทำให้ผู้ที่เข้าร่วมสามารถได้รับสิ่งตอบแทนไม่ว่าจะเป็นเหรียญ ไอเทมในเกม หรือสิทธิ์พิเศษก่อนใคร

image 1796

ซึ่งหลังจากที่มีการเปิดขาย IDO ไปแล้วสิ่งที่ตามมาแบบที่ผู้เล่นควรจะศึกษาก่อนนั่นก็คือการจัดการเหรียญหรือ Tokenomics เพราะมันจะช่วยบอกให้เราได้เห็นกลไกลของตัวเกม ว่าเหรียญตัวนี้จะถูกจัดแบ่งออกเป็นกี่ส่วน ซึ่งจำนวนเหรียญรวมของตัวเกมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับทางทีมงานเป็นผู้กำหนดเลย แต่ที่สำคัญคือต้องเข้าใจสัดส่วนในการแบ่งเหรียญว่าจะถูกแยกย่อยไปอย่างไร ถามว่ามันสำคัญที่จะต้องดูก่อนเข้ามาเล่นหรือไม่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเลยว่าจะมองในมุมใด และยึดมั่นกับสิ่งที่ถูกกำหนดออกมาหรือไม่

อีกหนึ่งสิ่งที่หลาย ๆ คนมักจะมองข้ามไปและไม่ค่อยได้เข้าไปเยี่ยมชมกันสักเท่าไหร่คือ Whitepaper หรือก็คือเอกสารที่ทางทีมงานเตรียมเอาไว้เพื่อที่จะแนะนำสิ่งต่าง ๆ ของตัวเกมพวกเขาว่ามีทิศทางในรูปแบบใด ก็เหมือนกับการนำเสนองานให้อาจารย์ของเราได้รับรู้ในตอนที่เราเรียนนั่นเอง ซึ่งสิ่งนี้ส่วนตัวของผู้เขียนมองว่าเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาว่าตัวเกมมีความเอาใจใส่มากน้อยเพียงใด ถ้าแค่การทำเอกสารแนะนำเบื้องต้นยังอธิบายไม่เข้าใจและไม่มีความชัดเจน การจะไว้วางใจในอนาคตคงเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก

นี่คือการอธิบายคำศัพท์เบื้องต้นและสิ่งที่ควรจะพิจารณาหากจะเข้ามาลองสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าเกม NFT หรือจะเรียกว่า P2E ก็คงไม่ผิดอะไร แท้จริงแล้วคำศัพท์ในวงการนี้เป็นอะไรที่มีมาก และมักจะมีคำใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาอยู่เสมอ หากเป็นคนทั่ว ๆ ไปที่อยากจะลองเข้ามาสัมผัสสิ่งเหล่านี้ดูคำเหล่านี้ที่เราได้ยกมาน่าจะพอตอบโจทย์อยู่บ้าง ก็อยากจะฝากทุกคนเอาไว้ว่าการลงทุนในตลาดนี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แม้จะมีการออกคลิปหรือบทความสอนใด ๆ หากตลาดมันอยากที่จะพังมันก็สามารถพังได้โดยที่ไม่ต้องการเหตุผลใด ๆ มารองรับทั้งสิ้น

Artherlus

แค่คนทั่วไปที่หลงใหลในวงการไอที
Back to top button