เทคโนโลยี

[รีวิว] Linksys E9450 Dual-Band WiFi 6 EasyMesh Router (AX5400)

รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6 พร้อมขยายช่วงสัญญาณที่เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาเน็ตหลุดได้ชะงัด

ในยุคที่ความแรงของเน็ตเป็นตัวตัดสินสิ่งต่าง ๆ การมีอุปกรณ์เข้ามาเสริมแกร่งในด้านนี้จึงดูเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และทาง Linksys เองได้มองเห็นถึงโอกาสที่จะนำเสนอสัญญาณที่เสถียรและครอบคลุมทั่วทั้งบ้านในรูปแบบของ EasyMesh กับเจ้า Linksys E9450 AX5400 ว่าแต่มีอะไรที่น่าสนใจบ้างเราไปหาคำตอบกันเลย

image 1439

การออกแบบของ Linksys E9450 AX5400 เน้นการออกแบบที่ดูโดดเด่นตามแบบฉบับของเราเตอร์ที่เน้นการนำเสนอเทคโนโลยีล้ำ ๆ รูปทรงจึงออกมาในโทนยานอวกาศจากหนังไซไฟไม่น้อย

image 1440

สีที่ใช้งานเน้นไปที่สีขาวตัดสลับกับสีดำตรงกลางที่พร้อมไฟแสดงสถานะสีน้ำเงิน วัสดุที่ที่ใช้งานรอบตัวเป็นพลาสติกแบบด้าน ขณะที่ตรงกลางซึ่งเป็นสีดำจะใช้งานเป็นพื้นผิวแบบมันวาว

image 1441

หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าเสาที่ใช้สำหรับการส่งสัญญาณหายไปไหน ก็ต้องบอกว่าทาง Linksys ได้มีการออกแบบให้มีการฝังเสาเอาไว้ภายในตัวเครื่อง มีทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน คำถามที่ตามมาคือแล้วมันจะเพียงพอหรือปล่อยสัญญาณได้ดีหรือไม่ ในส่วนนี้เดี๋ยวมีคำตอบให้ได้ทราบกัน

image 1442

ด้านหลังของเครื่องมาพร้อมกับพอร์ตให้ใช้งานด้วยกันทั้งสิ้น 5 พอร์ตหลักที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อสัญญาณ ประกอบไปด้วย WAN 1 พอร์ตและ LAN 4 พอร์ต โดยที่ทุกพอร์ตจะมีความเร็วในระดับ Gigabit ขณะที่อีก 2 พอร์ตคือ USB 3.0 และช่องสำหรับเสียบสาย Power ขณะที่ปุ่มกดจะมีปุ่มสำหรับใช้งาน WPS ปุ่มเปิด/ปิดเครื่องและปุ่ม Reset

image 1443
image 1444

พื้นที่สำหรับการระบายความร้อนต่าง ๆ ภายในจะอยู่ที่บริเวณด้านบนของตัวเครื่อง

สำหรับการใช้งานครั้งแรกไม่ถือว่ายุ่งยากมากนักสำหรับการเชื่อมต่อเพื่อใช้งาน โดยจะขอไล่ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

image 1445

• ให้เรานำสาย LAN เสียบเข้าไปที่พอร์ต LAN ของเราเตอร์หลักที่เราใช้งาน จากนั้นนำอีกด้านไปเสียบเข้าพอร์ต WAN (Internet) ของ Linksys E9450 AX5400 จากนั้นเปิดเครื่อง

• รอสักพักให้เรานำสาย LAN มาเสียบเข้าที่พอร์ต LAN เครื่องของเรา (พีซีหรือโน้ตบุ๊ค)

• เข้าไปที่ 192.168.79.1 พบหน้าจอให้ใส่ Username และ Password สามารถใส่ admin ได้เลย (แต่ที่ควรจะทำคือใส่ที่อยู่ด้านใต้ของเครื่องจะมีบอกเอาไว้)

• ทำการกดตั้งค่าโดยเลือกเป็น Parent Node จากนั้นกดตั้งค่าตามลำดับเป็นอันเสร็จสิ้น (ส่วนที่ไม่กล่าวถึงแทบไม่มีอะไรนอกจากใส่ชื่อ WiFi ที่ต้องการและรหัสผ่าน)

นี่คือขั้นตอนเบื้องต้นสำหรับการใช้งานครั้งแรก แต่ถ้าเกิดว่าใครต้องการที่จะทำ EasyMesh เพื่มอีกตัวในกรณีที่เรามี Linksys E9450 AX5400 อีกรุ่นก็สามารถที่จะทำตามได้ดังนี้ด้วยสิ่งที่ง่ายกว่า ขั้นตอนนี้อาจจะเรียกว่าเป็นการเพิ่ม Child Node เพื่อนำไปใช้งานบริเวณอื่นนั่นเอง

image 1446

• ทำการเปิดเครื่องที่ต้องการนำมาร่วมเครือข่ายหลักเพิ่ม

• จากนั้นที่เครื่องหลัก (Parent Node) ให้ทำการกดปุ่ม WPS ค้างไว้ประมาณ 3 วิแล้วปล่อยสังเกตว่าไฟสีน้ำเงินจะกระพริบ

• ที่เครื่องลูก (Child Node) ให้ทำการกดปุ่ม WPS ค้างไว้ 3 วิเช่นเดียวกันแล้วปล่อย ไฟสีน้ำเงินจะกระพริบเช่นกัน

• เมื่อไฟสีน้ำเงินหยุดกระพริบบนทั้งสองเครื่องแปลว่าพร้อมใช้งานแล้ว เราสามารถที่จะนำเครื่องลูกไปวางบริเวณใดก็ได้แล้วในตอนนี้

อ้าว ! แล้วเราจะมั่นใจได้ยังไงว่าเราเพิ่มเครื่องลูกสำเร็จ ขั้นตอนในส่วนนี้ก็ไม่ได้ยากนักสามารถทำได้ดังนี้

image 1447

• เข้าไปที่ 192.168.79.1 จากนั้นเลือกไปที่แถบ General > Mesh Setup

• ด้านล่างจะมีส่วนของ Connected child node information และจะขึ้นชื่อของเครื่องลูกของเราขึ้น และเราสามารถที่จะกดตรง IP ที่ขึ้นมาเพื่อเข้าไปดูสถานะต่าง ๆ ของเครื่องลูกได้

• IP ดังกล่าว 192.168.73.234 จะถูกจองเอาไว้ทันทีเมื่อเราทำการเพิ่มเครื่องลูกเข้าไป เพื่อใช้สำหรับการตั้งค่าต่าง ๆ นั่นเอง

ซึ่งหลังจากที่เราได้ทำการเชื่อมต่อเข้ากับ Parent Node เรียบร้อยแล้วเราสามารถที่จะนำไปใช้งานที่ใดก็ได้ภายในระยะที่สามารถจับกับตัวเครื่องหลักได้ อีกทั้งเรายังสามารถที่จะใช้งานเชื่อมต่อเข้ากับสาย LAN เพื่อใช้งานกับอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น TV Box, PS5 หรือโน้ตบุ๊คได้เลย

ก่อนที่เราจะไปทดสอบกันต้องมาพูดถึงสเปคและความสามารถของ Linksys E9450 AX5400 รุ่นนี้กันก่อนแน่นอนว่าจุดเด่นแรกคือเรื่องของการเป็น EasyMesh ที่ช่วยให้การเชื่อมต่อครอบคลุมทั่วพื้นที่ ชิปเซ็ตที่ใช้งานภายในเป็นแบบ Tri-core ความเร็ว 1.5GHz พร้อมแรม 512MB มั่นใจได้ในเรื่องของการรับโหลดหนัก ๆ จากอุปกรณ์หลากหลายตัวที่เชื่อมต่อเข้ามา

image 1448

อีกทั้งยังรองรับการใช้งาน Wi-Fi 6 ที่เป็นมาตรฐานใหม่ซึ่งใช้งานกันภายในอุปกรณ์ที่ออกมาในปัจจุบัน ช่วยให้การรับส่งข้อมูลรวดเร็วทันใจพร้อม bandwidth 160Hz ที่จะทำให้มีช่วงในการรับส่งที่กว้างมากขึ้นในอุปกรณ์ที่รองรับอีกด้วย

ในการทดสอบเรามาเริ่มกันที่การทดสอบความเร็วของ Linksys E9450 AX5400 ในการเชื่อมต่อ Wi-Fi โดยเรามีเครื่องมาทดสอบด้วยกันสองรุ่นที่รองรับ Wi-Fi 5GHz และ เครื่องที่รองรับเฉพาะ Wi-Fi 2.4GHz ในการทดสอบครั้งนี้เราจะเริ่มจากสัญญาณที่ได้จากเครื่องหลักกันก่อน

image 1449

ทดสอบภายในห้องเดียวกับเราเตอร์

image 1450

ทดสอบบริเวณชั้นล่างจากห้องที่วางเราเตอร์

image 1451

ทดสอบภายนอกบ้าน

ถัดมาเรามาดูการทดสอบโดยที่จะเพิ่มตัว Linksys E9450 AX5400 เครื่องลูกไปในการทดสอบครั้งนี้ โดยที่เราจะมาดูว่าเมื่อนำตัวเครื่องมาไว้ที่ชั้นล่างของบ้านความเร็วที่ได้จะเป็นอย่างไร

image 1452

ทดสอบชั้นล่างโดยที่ติดตั้งเครื่องลูกไว้ที่ชั้นล่าง

image 1453

ทดสอบภายนอกบ้านโดยที่มีเครื่องลูกติดตั้งที่ชั้นล่าง

ลองมาดูการทดสอบผ่านสาย LAN กันบ้างว่าจะออกมาในรูปแบบใด เช่นเคยจะเป็นการเทียบกับเราเตอร์เดิมของผู้ให้บริการเครือข่ายนั่นเอง

image 1454

เกือบลืมบอกไปว่าในหน้าการตั้งค่าของ Linksys E9450 AX5400 หากใครที่กำลังมองหาการตั้งค่าแยกส่วนกันระหว่าง Wi-Fi 2.4GHz และ Wi-Fi 5GHz ไม่ต้องตกใจว่าทำไมมันแก้ไขไม่ได้ เพราะตัวเครื่องมีการปล่อยสัญญาณออกมาแบบขนานกันไปเลย ทำให้ทุก ๆ อุปกรณ์สามารถที่จะเข้าไปเชื่อมต่อสัญญาณเพื่อใช้งานได้ทันที โดยตัวอุปกรณ์ที่รับสัญญาณจะมีการเลือกให้เหมาะสมกับตัวอุปกรณ์อยู่แล้ว ซึ่งจุดนี้จะทำให้ส่งผลต่อความเร็วที่เราจะได้รับตามไปด้วยเช่นกัน

image 1455

นอกจากนี้ตัวเราเตอร์ยังมาพร้อมกับความสามารถในการอัปเดตเฟิร๋มแวร์ได้โดยตรงทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปหาไฟล์มาเพื่อที่จะทำการอัปเดตอีกต่อไป

image 1456

บทสรุปของ Linksys E9450 AX5400 คงต้องบอกว่าเป็นอุปกรณ์ที่ทำออกมาเอาใจคนที่กำลังมีปัญหาเรื่องของสัญญาณไม่ครอบคลุม มีปัญหาสัญญาณดับหรือขาดหายเพราะเชื่อมต่อหรือรับโหลดหนักไม่ได้ EasyMesh ตัวนี้จะช่วยทำให้ชีวิตของเราง่ายยิ่งขึ้น ด้วยราคา 3,990 บาท ถือว่าคุ้มค่าไม่น้อย 

ข้อดี

• การออกแบบที่ดูไม่น่าเบื่อเหมือนเราเตอร์ปกติ

• เทคโนโลยี EasyMesh ที่ช่วยให้การเชื่อมต่อหมดปัญหาเรื่องความครอบคลุม

• รองรับ bandwidth ถึง 160MHz

• ระบบระบายความร้อนภายในที่เอาอยู่ตลอด 24/7

• หน้าการตั้งค่าที่เข้าใจง่าย มีภาษาไทยให้เลือก

• อัปเดตเฟิร์มแวร์ไม่ต้องใช้ไฟล์เสริม

• รับโหลดหนัก ๆ จากหลายอุปกรณ์ได้

• พอร์ตการใช้งานที่ครบครัน

• รับประกัน 3 ปี

ข้อสังเกต

• ใช้เวลานานกว่าที่สัญญาณจะเข้าที่หากทำการปิดและเปิดใหม่ในแต่ละครั้ง ราว 2-3 นาที

• หน้าตา UI หลังบ้านสำหรับการตั้งค่าที่ดูค่อนข้างจะไม่ค่อยร่วมสมัยนัก

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทาง Linksys แห่งประเทศไทยที่ได้ทำการส่ง Linksys E9450 AX5400 มาให้เราได้ทดสอบ ใครที่สนใจสามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ตามร้านค้าไอทีชั้นนำทั่วไปและทางช่องทางออนไลน์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : [คลิก]

Artherlus

แค่คนทั่วไปที่หลงใหลในวงการไอที
Back to top button