นายอาร์มจัดหนัก! ชำแหละ ‘เบื้องหลัง การป้องกันบอทโปร ของ Electronics Extreme’
เมื่อความจริงทุกอย่างมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
การใช้โปรแกรมโกงเป็นสิ่งที่หลายคนต้องเคยเจออย่างแน่นอนในการเล่นเกมออนไลน์ โดยผลกระทบของการใช้บอทหรือโปรแกรมโกงกับเกมออนไลน์นั้นสร้างผลกระทบให้กับผู้ให้บริการเกมเป็นอย่างมาก โดยล่าสุดทางนายอาร์มได้ออกมาพูดถึงประเด็นโปรแกรมโกงในเกมออนไลน์ในแง่มุมของผลกระทบที่เกิดขึ้น และแนวทางการรับมือและมาตรการป้องกันบอทหรือโปรแกรมโกงเหล่านี้ให้เราได้ติดตามกัน
“โปรแกรมโกงส่งผลกระทบในการเล่นเกมออนไลน์อย่างมาก” นายอาร์มระบุ “สาเหตุที่ทุกคนทราบอยู่แล้วก็คือ เกมที่มีบอทหรือโปรแกรมโกงมาก ๆ จะทำให้ผู้เล่นทั่วไปเกิดอาการเบื่อกับความพังของเกมที่เล่นไปก็โดนผู้ใช้โปรแกรมเหล่านี้เอาเปรียบจนสุดท้ายผู้เล่นเหล่านี้ก็ถอดใจเลิกเล่นเกมไป ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่ซื้อเกมเข้ามาเปิดก็สูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้สร้างโปรแกรมโกงนั้นกินเงินสบาย ๆ เดือนละหลายแสนหลายล้านจากการขายโปรแกรมโกง”
สำหรับวิธีการป้องกันการโกงที่เกิดขึ้นมาในช่วงแรกนั้นก็คือ การสร้างโปรแกรมป้องกันโปรแกรมโกงขึ้นมาอีกที ซึ่งหลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เช่น Game Guard, NProtect, EAC, Vanguard, GameSpy, Battle Eye เป็นต้น โดยโปรแกรมเหล่านี้จะทำการตรวจสอบข้อมูลที่มีการส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของเกม
อย่างไรก็ตาม หลายคนก็คงสงสัยว่า “เกมก็มีโปรแกรมป้องกันโปรแกรมโกงแล้ว ยังมีบอทหรือโปรแกรมโกงให้ได้เห็นอยู่ไม่หายไป” นายอาร์มก็ได้อธิบายว่าแท้จริงแล้วโปรแกรมโกงป้องกันได้เพียง 60-80% เพราะกระบวนการของโปรแกรมป้องกันการโกงนี้จะมีการส่งข้อมูลระหว่างเกมกับข้อมูลของผู้เล่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าจะทำให้โปรแกรมนั้นป้องกันทั้งหมด 100% จะส่งผลกับการให้บริการเกมโดยตรง เพราะจะทำให้เซิร์ฟเวอร์ทำงานหนักจนเกินไปจากการส่งข้อมูลระหว่างเกมกับข้อมูลมากเกินไป จนสุดท้ายทำให้คนธรรมดาเล่นเกมไม่ได้เพราะอาการ Lag จากการส่งข้อมูลดังกล่าวนี้เอง
นายอาร์มได้ยกตัวอย่างการป้องกันบอทหรือโปรแกรมโกงให้เราได้ฟังกันคร่าว ๆ ว่าทาง Electronics Extreme ได้มีการใช้โปรแกรมเพื่อป้องกันการโกงแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าก็ทำได้เพียง 60-80% เท่านั้น ตามที่ได้ระบุไว้ข้างต้น แต่ในส่วนที่เหลือนั้น ทาง Electronics Extreme ตัดสินใจใช้วิธีการแบนแบบ Manual เพื่อสนับสนุนการใช้โปรแกรมโกงเพื่อทำให้การแบนนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น “Electronics Extreme ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) เพื่อจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในตัวละครเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการแบน ตัวอย่างเช่น สังเกตข้อมูลของตัวละครหนึ่งที่ทำการออนไลน์อยู่ 48 ชั่วโมงในแมปเดียวไม่ไปไหนเลย (แถมเป็นแมปยอดนิยมด้วย) ทาง Electronics Extreme ก็ส่งทีมงานไปเช็คตัวละครนี้อีกที”
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือนโยบายของ Electronics Extreme ที่เลือกแบนตัวละครภายในเกม Ragnarok Online ก็คือพวกเขาไม่เลือกแบนทุกตัวละคร เพราะจะใช้เวลามากเกินไป ทางบริษัทเลยตั้งนโยบายว่าจะเลือกแบนตัวละครที่มีเลเวลสูงขึ้นมาสักพัก (ประมาณ 40-60 เป็นต้นไป) ทำให้ผู้เล่นที่โดนแบนนั้นหัวร้อนไม่น้อย เพราะพวกเขาเหล่านี้คิดว่าปลอดภัยจากการโดนตรวจสอบแล้ว แต่แท้จริงคือโดนทีมงานรอดักแบนอยู่นั่นเอง
สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้นกับ Zone4 Extreme ที่มีการใช้โปรแกรมโกงตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการในช่วง Close Beta นั้น ทางนายอาร์มได้อธิบายไว้ว่า “Zone4 Extreme เป็นเกมเก่า ฉะนั้นโปรแกรมโกงเก่า ๆ ที่เคยมีมาในอดีตนั้นมันยังคงใช้ได้อยู่ เลยทำให้เกิดประเด็นการใช้โปรแกรมโกงตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้ทดสอบเกม CBT ตั้งแต่วันแรก”
ในตอนสุดท้ายนายอาร์มก็ได้บอกว่าทาง Electronics Extreme ได้พยายามให้บริการลูกค้าอย่างเต็มที่แล้ว โดยทางเจ้าของบริษัทเองก็เป็นโปรแกรมเมอร์ ฉะนั้นทางบริษัทเข้าใจถึงการใช้โปรแกรมโกงเหล่านี้เป็นอย่างดี “อย่างไรก็ตามหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นนั้นทาง Electronics Extreme ก็พูดในที่สาธารณะไม่ได้จริง ๆ ทำให้บางครั้ง Electronics Extreme ต้องยอมทำใจให้ผู้เล่นตำหนิ” นายอาร์มอธิบาย “เมื่อก่อนผมก็เคยว่า Electronics Extreme นะ… แต่ตอนนี้ผมก็เข้าใจเขาจริง ๆ หลังจากได้รับทราบข้อมูลภายในมากขึ้น”
สุดท้ายนี้แล้วทาง This Is Game Thailand ยังคงยืนยันว่าทางเราไม่เห็นด้วยกับการใช้โปรแกรมโกงเพื่อเอาเปรียบผู้เล่นคนอื่น ๆ ในทุกเกมและทุกกรณี และทีมงานก็ขอส่งกำลังใจให้ทางผู้ให้บริการเกมและผู้พัฒนาเกมทุกท่านในการต่อสู้กับสงครามโปรแกรมโกงที่เกิดขึ้นอยู่ ณ เวลานี้ และหวังว่าผู้ที่ใช้โปรแกรมโกงจะคิดได้และเลิกเอาเปรียบผู้เล่นคนอื่น ๆ เสียทีครับ