สกู๊ปพิเศษเกมมือถือ

8 เหตุผลที่ผู้เล่นยอมรับ “เกมมือถือจีน” มากกว่า “เกมมือถือญี่ปุ่น” ในยุคนี้

จากผู้ที่โดนมองว่าทำแต่เกมก๊อป กลายมาเป็นผู้นำตลาดเกมมือถือที่แข็งแกร่ง

สวัสดีครับเพื่อน ๆ ชาวเกมเมอร์ทุกท่าน หากย้อนเวลากลับไปในวงการเกมมือถือนั้นก็ต้องบอกว่าประเทศที่มีจุดเด่นในด้านนี้ยังไงก็ต้องพูดถึงญี่ปุ่นครับ เพราะญี่ปุ่นเป็นสังคมที่เล่นเกมมือถือค่อนข้างมาก และมีการออกแบบเกมใหม่ ๆ น่าสนใจอยู่หลายเกม จนคนไทยก็อยากจะมุด IP ไปเล่นบ้าง หรือยอมทนอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกเพื่อเล่นบ้าง แต่ทุกวันนี้อะไร ๆ มันก็เปลี่ยนไปครับ เพราะเกมมือถือจากจีนนั้นทำออกมาได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะกับทางฝั่ง miHoYo และ Yostar ที่กำลังมาแรงอย่างมาก ในขณะที่เกมมือถือฝั่งญี่ปุ่นกำลังทยอยตายไปทีละเกม เกิดใหม่ก็ปิดเร็ว ไม่ว่าค่ายที่เปิดจะเป็นค่ายใหญ่ก็ตาม ผู้เล่นเลยลดความศรัทธาลงอย่างมาก แล้วทำไมคนถึงยอมรับเกมมือถือจีนมากกว่าเกมมือถือญี่ปุ่น ไปดูกันครับ

1. คุณภาพกราฟิกและโปรดักชันที่เหนือกว่า

8 เหตุผลที่ผู้เล่นยอมรับ "เกมมือถือจีน" มากกว่า "เกมมือถือญี่ปุ่น" ในยุคนี้


หนึ่งในจุดเด่นที่ทำให้เกมมือถือจากจีนได้รับการยอมรับจากผู้เล่นทั่วโลก คือ “งานภาพและโปรดักชันระดับ AAA” ที่ไม่แพ้เกมคอนโซล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Genshin Impact และ Honkai: Star Rail ของค่าย HoYoverse ที่ใช้เอนจินคุณภาพสูง สร้างโลก 3D ขนาดใหญ่พร้อมฉากอนิเมชั่นสุดอลังการ นอกจากนี้ยังมีคัทซีนระดับอนิเมะ เพลงประกอบและเสียงพากย์ที่จัดเต็มราวกับดูซีรีส์ญี่ปุ่นคุณภาพดี ขณะที่เกมมือถือญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงยึดรูปแบบ 2D card-based, ภาพนิ่ง, UI แนวเก่า และเอฟเฟกต์ที่ดูเหมือนหยุดอยู่ในยุค PS2 หรือ PSP ทำให้ผู้เล่นยุคใหม่ที่เคยผ่านเกมกราฟิกสูงมาแล้วมองว่าเกมญี่ปุ่นล้าสมัย และไม่น่าสนใจเท่ากับเกมจีนที่เน้นความลื่นไหลสวยงามครับ

2. การเล่าเรื่องและระบบเกมที่ร่วมสมัย

8 เหตุผลที่ผู้เล่นยอมรับ "เกมมือถือจีน" มากกว่า "เกมมือถือญี่ปุ่น" ในยุคนี้


เกมมือถือจีนมักเล่าเรื่องราวอย่างจริงจัง ซับซ้อน มีบทพูดลึกซึ้งและธีมที่หลากหลาย เช่น ปรัชญา สงคราม หรือจิตวิทยา ทำให้ผู้เล่นรู้สึกมีอารมณ์ร่วมและอยากติดตามต่อ เหมือนเกม Console/PC ดี ๆ สักเกม อีกทั้งระบบเกมก็มีความทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นระบบต่อสู้แบบผสมผสาน ระบบกาชาที่โปร่งใส หรือโหมดการเล่นที่อัปเดตสม่ำเสมอ ในขณะที่เกมมือถือญี่ปุ่นหลายเกมยังคงวนอยู่กับระบบเดิม ๆ เช่น Turn-based แบบซ้ำ ๆ และการเล่าเรื่องแบบ Event สั้น ๆ ที่ไม่ได้สร้างความผูกพันกับผู้เล่นเท่าที่ควรครับ

3. เล็งตลาดโลกเป็นเป้าหมายหลัก

8 เหตุผลที่ผู้เล่นยอมรับ "เกมมือถือจีน" มากกว่า "เกมมือถือญี่ปุ่น" ในยุคนี้


เกมมือถือจีนยุคใหม่มอง “ตลาดโลก” เป็นเป้าหมายหลัก ไม่ใช่แค่ขายในจีนเท่านั้น ผู้พัฒนาใส่ใจการแปลภาษา การเลือกเสียงพากย์ การออกแบบคาแรกเตอร์ และการตลาดให้เข้าถึงผู้เล่นนานาชาติ เช่น ตัวเลือกเสียงพากย์ทั้งจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ และเกาหลีในเกมเดียว ขณะเดียวกันเกมญี่ปุ่นจำนวนมากยังเน้นขายในประเทศตัวเองก่อน ทำให้เวอร์ชันสากลมักตามหลัง มีปัญหาแปลผิด หรือไม่มีเสียงพากย์ภาษาอื่นเลย ส่งผลให้ผู้เล่นต่างชาติรู้สึกถูกมองข้าม บางคนรอ Global จนเซิร์ฟญี่ปุ่นปิดไปแล้ว สุดท้ายก็อดเล่นครับ

4. โมเดลธุรกิจที่ “เอาใจผู้เล่น” มากกว่า

8 เหตุผลที่ผู้เล่นยอมรับ "เกมมือถือจีน" มากกว่า "เกมมือถือญี่ปุ่น" ในยุคนี้


เกมมือถือจีนมักใช้โมเดลที่ให้มากกว่าที่ผู้เล่นคิด เช่น แจกของฟรีรายวัน กาชาที่มีระบบ Pity การันตีตัวละคร การคืนทรัพยากรเมื่อตัวละครถูกเนิร์ฟ หรือมีกิจกรรมที่ให้ของจำนวนมากโดยไม่ต้องเติมเงิน ทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าได้รับการใส่ใจ และกล้าที่จะสนับสนุน ขณะที่เกมญี่ปุ่นหลายเกมยังยึดติดกับระบบกาชาแบบเก่า แจกน้อย กดแล้วไม่การันตี หรือมีการล็อกคอนเทนต์ไว้หลัง Paywall ทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าถูกบีบบังคับให้เติม มากกว่าจะอยากเติมด้วยความพอใจ สุดท้ายคนก็จะทนไม่ไหวแล้วเลิกเล่นไปครับ

5. มีการอัปเดตและ Community Management ที่ดีกว่า

8 เหตุผลที่ผู้เล่นยอมรับ "เกมมือถือจีน" มากกว่า "เกมมือถือญี่ปุ่น" ในยุคนี้


ผู้พัฒนาเกมมือถือจีนให้ความสำคัญกับการอัปเดตคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งกิจกรรมใหม่ ตัวละครใหม่ และโหมดการเล่นที่หมุนเวียนไม่ให้เกมเงียบ พร้อมทั้งมีการสื่อสารกับผู้เล่นอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดไลฟ์อัปเดตล่วงหน้า การเปิด Survey แล้วให้ผู้เล่นไปตอบแบบสอบถามเพื่อแลกกับรางวัล รับฟังฟีดแบ็กและปรับปรุงเกมตามคำเรียกร้อง ตรงข้ามกับเกมญี่ปุ่นหลายเกมที่อัปเดตช้าหรือเนื้อหาน้อย และขาดการสื่อสารโดยตรงกับผู้เล่น ทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร

6. เกมจีนทำให้ผู้เล่น Hype ได้มากกว่า

8 เหตุผลที่ผู้เล่นยอมรับ "เกมมือถือจีน" มากกว่า "เกมมือถือญี่ปุ่น" ในยุคนี้


เกมมือถือจีนมักเปิดตัวด้วยการโปรโมตแบบจัดเต็ม ทั้งเทรลเลอร์คุณภาพระดับภาพยนตร์ แอนิเมชันเปิดตัวอลังการ ดนตรีประกอบบิ๊วอารมณ์ และงานออกแบบตัวละครที่โดนใจผู้เล่น ทำให้เกิดกระแสตั้งตารอของผู้เล่นตั้งแต่ยังไม่เปิดให้เล่นจริง แถมยังมีการจ้าง Influencer ชื่อดังของแต่ละภูมิภาคในการ PR เกมได้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ต่างจากเกมญี่ปุ่นที่มักเปิดตัวแบบเงียบ ๆ หรือโปรโมตในวงแคบ ทำให้กระแสความตื่นเต้นไม่พุ่งเท่าเกมจีน ยิ่งเมื่อเกมจีนมีการปล่อยคอนเทนต์ต่อเนื่อง ความ Hype ก็ยิ่งต่อเนื่องตามไปด้วย

7. การออกแบบตัวละครและแฟนอาร์ตเป็นสากล

8 เหตุผลที่ผู้เล่นยอมรับ "เกมมือถือจีน" มากกว่า "เกมมือถือญี่ปุ่น" ในยุคนี้


ตัวละครจากเกมมือถือจีนมักถูกออกแบบให้มีความ “อินเตอร์” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ใบหน้า ทรงผม เสื้อผ้า หรือโทนสี ทำให้เข้าถึงผู้เล่นจากหลากหลายประเทศได้ง่าย คาแร็กเตอร์มีเอกลักษณ์แต่ไม่เฉพาะกลุ่มเกินไป ส่งผลให้เกิดกระแสแฟนอาร์ตจำนวนมากทั่วโลก รวมถึงกลุ่ม Cosplay ก็ยังเปิดกว้างมากอีกด้วย บางเกมถึงกับมีครีเอเตอร์จากหลากประเทศช่วยออกแบบเสื้อผ้าหรือจัดประกวดแฟนอาร์ตอย่างเป็นทางการ ต่างจากเกมญี่ปุ่นที่ยังคงโทน “โมเอะ” หรือเน้นตลาดภายใน ทำให้เข้าถึงได้ยากในสายตาผู้เล่นต่างชาติ

8. ความสามารถในการ “อัปแพทช์” อย่างต่อเนื่อง

8 เหตุผลที่ผู้เล่นยอมรับ "เกมมือถือจีน" มากกว่า "เกมมือถือญี่ปุ่น" ในยุคนี้


เกมมือถือจีนมีระบบและทีมงานที่พร้อมสำหรับการอัปแพทช์บ่อยครั้ง ถ้าอ้างอิงจาก miHoYo ก็ทุก ๆ 2-3 สัปดาห์อย่างน้อยต้องมีตัวละครใหม่และกิจกรรมใหม่เข้ามาแล้ว 1 ครั้ง รวมถึงการแก้ไขบัค ปรับสมดุล เพิ่มเนื้อหาใหม่ หรือจัดกิจกรรมพิเศษตามเทศกาลในโลกจริง ซึ่งช่วยให้เกมสดใหม่และตอบสนองความต้องการของผู้เล่นได้รวดเร็ว แตกต่างจากเกมญี่ปุ่นที่บางครั้งใช้เวลานานกว่าจะออกแพทช์ใหม่ ทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าเกมหยุดนิ่ง ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว จึงลดความสนใจลงไปตามเวลา

และนี่คือ “8 เหตุผลที่ผู้เล่นยอมรับ “เกมมือถือจีน” มากกว่า “เกมมือถือญี่ปุ่น” ในยุคนี้” เป็นยังไงกันบ้างครับ ตรงกับสิ่งที่เพื่อน ๆ คิดหรือเปล่า ผมเองก็รู้สึกเหมือนกันนะครับว่าตัวเองเคยชอบเกมมือถือญี่ปุ่นมาก ๆ แต่ในปัจจุบันเริ่มรู้สึกว่าจะชอบเกมมือถือจากจีนมากกว่าแล้ว เพราะมันทำออกมาได้ดีกว่าจริง ๆ ในหลาย ๆ แง่ เอาแค่ภาษาไม่ต้องทนอ่านญี่ปุ่นกับ UI ที่ไม่โหลดนานผมก็แฮปปี้แล้วครับ เพื่อน ๆ มีความเห็นอย่างไรก็คอมเมนต์พูดคุยกันได้นะครับผม 🙂

Jou Thunder

Content Creator สายเกมที่อยากทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ โปรดติดตามช่อง youtube.com/@JouThunder
Back to top button